“เด็กไทยเจ๋ง” สร้างนวัตกรรมเปลี่ยนประเทศ
ที่มา : เว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
สสส. ชวนสร้างนวัตกรรมเปลี่ยนประเทศ ชิงรางวัลพระราชทานจากสมเด็จพระเทพฯ พร้อมทุนการศึกษากว่า 2 แสนบาท กับ "โครงการทูตความดีแห่งประเทศไทย (GenA)"
เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม ดร.นพ. ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. เปิดเผยว่า โครงการ Active Citizen เป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนสร้างพลเมืองเพื่อประเทศไทยที่น่าอยู่ โดยมีพันธมิตรร่วมงานกว่า 15 องค์กร สถาบันการศึกษากว่า 55 สถาบัน และมีเยาวชนเข้าร่วมโครงการกว่า 5,000 คนจากทั่วประเทศ โดยเป็นโครงการที่หลากหลาย ทั้งยังเชื่อว่าพลังของเยาวชนสามารถเปลี่ยนแปลงสังคมได้ถ้าได้รับการส่งเสริมอย่างสร้างสรรค์ เป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยเปลี่ยนแปลงประเทศไทยสู่การเป็นสังคม Active Citizen อย่างแท้จริง
ทั้งนี้จากความเชื่อในพลังของเยาวชนยุคใหม่ก่อให้เกิดโครงการทูตความดีแห่งประเทศไทย (GenA) จัดขึ้นภายใต้แนวคิด Empower Active Citizen ภายใต้โจทย์หลัก “พลังพลเมืองจิตอาสาเปลี่ยนประเทศ” ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และมูลนิธิธรรมดี ร่วมกับบริษัท โสสุโก้ แอนด์ กรุ๊ป (2008) จำกัด และบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตเลียม จำกัด (มหาชน)เดินหน้าโครงการทูตความดีแห่งประเทศไทย 2559ซึ่งจัดขึ้นเป็นปีที่ 5ซึ่งในปีที่ผ่านมาเยาวชนสามารถใช้ความรู้พัฒนานวัตกรรมเพื่อช่วยเหลือและส่งเสริมชุมชนได้อย่างเป็นรูปธรรม
คุณสโรบล แสงคำ ผู้ดูแลเด็กในโครงการ Gen A กล่าวว่า สืบเนื่องจนถึงโครงการทูตความดีแห่งประเทศไทย2559 (Gen A2016) เปิดโอกาสให้เยาวชนที่อยากช่วยเหลือสังคมพร้อมทั้งมีจิตใจอาสาเปลี่ยนแปลงประเทศส่งโครงการเข้าประกวด สามารถสมัครเข้าร่วมโครงการทีมละไม่เกิน 5 คน ทีมที่ผ่านการคัดเลือก 28 ทีมจากทั่วประเทศจะได้เข้าร่วมเวิร์คช็อปหลักสูตร “พลังพลเมืองจิตอาสาเปลี่ยนประเทศ” ในบ้านความดี Gen A ณ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และจะได้มีส่วนร่วมในการนำโครงการของตนเองมาเปลี่ยนแปลงชุมชน
“โครงการปีนี้เรามุ่งเน้นให้ควบคู่กับนโยบาย 4.0 ของรัฐบาลซึ่งเน้นการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีเป็นตัวขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศให้เติบโตอย่างยั่งยืน โดยเราเปิดรับโครงการจากเด็กทั่วประเทศเขาคิดเราจะช่วยต่อยอดไม่อยากให้มองว่าเป็นโครงการของเด็กต้องช่วยแค่ชุมชน แต่อยากให้มองว่าโครงการแต่ละทีมสามารถพัฒนาจากหน่วยงานในเครือข่ายกลายเป็นนวัตกรรมระดับประเทศ ส่งผลประโยชน์ไปสู่คนจำนวนมากสามารถเคียงคู่กับนโยบายไทแลนด์ 4.0 ได้อย่างยั่งยืน ทาง GenA คาดหวังให้โครงการที่เข้าประกวดแต่ละทีมสามารถนำงานของตนมาพัฒนาระหว่างที่เข้าร่วมโครงการทูตความดีแห่งประเทศไทย 2559 และต่อยอดผลงานจากการช่วยเหลือชุมชนไปเป็นการพัฒนาเพื่อช่วยประเทศในภายภาคหน้า” คุณสโรบลกล่าว
นายธนโชติ สรีกุตา ตัวแทนทีม Eco Students จากโรงเรียนมัธยมสุวิทย์เสรีอนุสรณ์ สามารถพาทีมเป็นที่หนึ่งของภาคกลางและเป็นที่สองของประเทศเมื่อปี 2558 กล่าวว่า ทีมของพวกเราเน้นงานด้านสิ่งแวดล้อม มุ่งช่วยเหลือคนในชุมชนคิดงานกันเป็นวงจร ตัวอย่างเช่นชุมชนมีน้ำเสียทางทีมก็มองว่ามันเกิดมาจากอะไรหลักใหญ่ที่มองคือการล้างจานในชุมชนที่มักจะเทน้ำเสียทิ้งลงคลองจึงคิดทำน้ำยาล้างจานช่วยแยกชั้นน้ำมันกับน้ำออกจากกันเมื่อแยกได้ก็มาถึงขั้นตอนดักจับไขมันสามารถดักไขมันเอาไว้แล้วปล่อยเพียงน้ำทิ้งไปและมาถึงขั้นตอนสุดท้ายคือการประดิษฐ์เรือถีบเพื่อเอาไว้ใช้ถีบสร้างออกซิเจนให้กับน้ำลดปัญหาน้ำเสียและช่วยชุมชนบำบัดต่อไปซึ่งโครงการของทีม Eco Students ถูกพัฒนามาอย่างต่อเนื่องจากผู้ร่วมเครือข่ายของGen A เพื่อนำเอานวัตกรรมมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดควบคู่ไปกับคำว่าจิตอาสา
หากเยาวชนสนใจสามารถร่วมเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการสตาร์ทอัพจิตอาสา Gen A 2016 ได้โดยส่งรายละเอียดโครงการจิตอาสามาที่ www.facebook/dodclub สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่โทร. 02-610-2375