เด็กไทยเกิดต่ำกว่า7แสนคนต่อปี
ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์
แฟ้มภาพ
นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวในการแถลงข่าวรณรงค์ส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ และสัปดาห์นมแม่โลก ภายใต้แนวคิด "นม แม่รากฐานแห่งชีวิต" ว่า ปัจจุบันเรามีนโยบายส่งเสริมการเกิดและเติบโตอย่างมีคุณภาพ เพราะประเทศไทยมีอัตราการเกิดน้อยลงเรื่อย ๆ
ซึ่งตอนนี้ที่เราเข้าใจกันว่าอัตราการเกิดอยู่ที่ปีละประมาณ 7 แสนคน หรือคิดเป็นอัตราการเจริญพันธุ์รวม (Total Fertility Rates-TFR) อยู่ที่ 1.6 และคิดว่าต้องตรึงตัวเลขนี้เอาไว้ให้ได้ แต่จากข้อมูลล่าสุดอัตราการเกิดลดลงต่ำกว่า 7 แสน มาอยู่ที่ 1.5 ในขณะที่ประเทศกำลังเข้าสู่การเป็นผู้สูงอายุ ดังนั้นสิ่งที่จำเป็นต้องเน้นคือ ต้องเริ่มตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์คือการส่งเสริมให้แม่เข้าถึงบริการ พอตั้งครรภ์ในช่วง 270 วัน ต้องได้รับสารอาหารเพียงพอจากแม่สู่ลูกผ่านทางรก หลังคลอด 6 เดือน หรือ 180 วัน ต้องให้เด็กได้รับนมแม่อย่างเดียว และอีก 550 วันหลังจากนั้นคือการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ บวกกับอาหารเสริมตามวัย
นพ.วชิระ กล่าวว่า จากตัวเลขของสำนัก งานสถิติแห่งชาติ ที่ทำร่วมกับองค์การยูนิเซฟ และกระทรวงสาธารณสุข พบว่า คนไทยเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวจนถึง 6 เดือน เพียง 5 เปอร์เซ็นต์ ต่อมาเมื่อ 5 ปีที่แล้ว อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวจนถึง 6 เดือน เพิ่มขึ้นเป็น 12 เปอร์เซ็นต์ และเมื่อ 2 ปีที่แล้วเพิ่มขึ้นเป็น 23 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่ต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับต่างประเทศทั่วโลก ตั้งเป้าต้องเพิ่มอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว 6 เดือน ให้ได้ 50 เปอร์เซ็นต์ภายในปี 2568 โดยการทำเรื่องการ "ปกป้อง สนับสนุน ส่งเสริม" ขณะนี้กฎหมายลูก 10 ฉบับก็ออกมาเรียบร้อยแล้ว ภายในวันที่ 20 ส.ค. จะทำความเข้าใจกับผู้ประกอบการอีกครั้ง เพราะตั้งแต่เดือน ก.ย.นี้ทุกอย่างต้องเป็นไปตามกฎหมาย รวมทั้งจะมีการจัดสภาพแวดล้อมเอื้ออำนวยให้แม่ได้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เช่น จัดมุมนมแม่ และมาตรการส่งเสริมคือการเข้าถึงบริการฝากครรภ์เร็ว ไม่เกิน 12 สัปดาห์ ส่งเสริมให้หญิงไทยได้วิตามินโฟเลต ธาตุเหล็ก ให้คุณพ่อเข้าไปในห้องคลอด ให้นำเด็กมากินนมแม่ภายใน 1 ชั่วโมงหลังคลอด เป็นต้น
ด้าน ดร.เรนู การ์ก (Dr.Renu Garg) ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย กล่าวว่า ขอชื่นชมรัฐบาลไทยที่ให้ความสำคัญกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ โดยออก พ.ร.บ.โค้ด มิลค์ขึ้นมากำกับ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้เกิดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว 6 เดือนเพิ่มขึ้นได้ เพราะปัจจุบันถือว่าประเทศไทยยังมีอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ต่ำ.