เด็กไทยรู้รอดปลอดภัย

ที่มา : หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์


ภาพประกอบจากเว็บไซต์แนวหน้า


เด็กไทยรู้รอดปลอดภัย thaihealth


ค่ายกิจกรรมฝึกทักษะ "รู้รอดปลอดภัย" ด้วยการนำเด็กอายุ 9-12 ปี รวม 45 คน เข้าร่วมกิจกรรม เพื่อเสริมทักษะการดูแลตนเอง ให้ปลอดภัยจากภาวการณ์ฉุกเฉินต่างๆ ให้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ แข็งแรง รู้วิธีร้องขอเมื่อเกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน รวมถึงทำให้ตนเองและคนรอบข้างปลอดภัย นับเป็นอีกกิจกรรมที่สร้างสรรค์ให้กับเยาวชนเป็นอย่างมาก


สมาคมเวชศาสตร์ฉุกเฉินแห่งประเทศไทย ที่จับมือกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ TK park ในฐานะเจ้าของพื้นที่จัดกิจกรรม หน่วยงานทั้งหมดริเริ่มกิจกรรมดังกล่าวขึ้นมา พร้อมดึงบุคลากรที่เข้าใจการช่วยเหลือตนเองในสถานการณ์ฉุกเฉิน ทั้งจากโรงพยาบาลราชวิถี กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย มูลนิธิร่วมกตัญญู มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ศูนย์ความปลอดภัย โรงพยาบาลรามาธิบดี และสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ เข้าอบรมกับเยาวชนให้ได้รับความรู้ความเข้าใจ


ศ.เกียรติคุณ นพ.สันต์ หัตถีรัตน์ นายกสมาคมเวชศาสตร์ฉุกเฉินแห่งประเทศไทย บอกเล่าว่า กิจกรรมเข้าค่ายรู้รอดปลอดภัยถือเป็นครั้งที่ 4 ที่จัดขึ้น โดยมุ่งเน้นฝึกทักษะให้ความรู้ ภายใต้โครงการส่งเสริมและป้องกันคนไทยไม่ให้เจ็บป่วยฉุกเฉิน และเปิดโอกาสให้เยาวชนไทยได้เรียนรู้วิธีป้องกันตนเองได้ พร้อมสามารถนำไปปฏิบัติได้จริง เน้นกระตุ้นให้เด็ก เยาวชน ผู้ปกครอง และประชาชนทั่วไปให้ใส่ใจดูแลสุขภาพของตนเองและคนรอบข้างไม่ให้เจ็บป่วย หรือหากเจ็บป่วยแล้วสามารถควบคุมโรคและไม่กระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน หรือหากมีอาการเจ็บป่วยฉุกเฉินก็สามารถดูแลตนเองในเบื้องต้นได้ เพื่อไม่ให้เกิดความรุนแรงของโรค หรือเมื่อมีเหตุฉุกเฉินสามารถเรียกหน่วยกู้ชีพฉุกเฉิน 1669 ได้


สิ่งที่ยืนยันผ่านตัวเลขได้ชัดเจนว่าเด็กมีความสำคัญอย่างมากต่อสถานการณ์ฉุกเฉิน เพราะเนื่องด้วยจากข้อมูลสถิติของศูนย์วิจัยเพื่อสร้างความปลอดภัยในเด็ก โรงพยาบาลรามาธิบดี ที่พบว่า เด็กอายุตั้งแต่ 1-14 ปี เสียชีวิตจากอุบัติเหตุจำนวน 2,200 คน/ปี เป็นการเสียชีวิตจากการจมน้ำและอุบัติเหตุจราจร แต่ในมุมกลับกัน หากทักษะการดูแลตนเองและช่วยเหลือผู้อื่นในภาวะฉุกเฉินได้บรรจุเข้าเป็นหลักสูตรหรือในวิชาทักษะชีวิตจะเป็นเรื่องที่น่ายินดี เพราะเป็นสิ่งจำเป็นที่ผู้เรียนจะได้เรียนรู้วิธีป้องกันตนเองหรือคนรอบข้างไม่ให้เจ็บป่วยได้ แม้ในอดีตจะเคยมีการเรียนการสอนในวิชาลูกเสือ แต่ปัจจุบันเด็กต้องเรียนและมีเนื้อหาการศึกษาต่างๆ เป็นจำนวนมาก จึงทำให้การเสริมทักษะในด้านนี้ลดลง


เด็กไทยรู้รอดปลอดภัย thaihealth


ในส่วน พญ.ณธิดา สุเมธโชติเมธา กลุ่มงานเวชศาสตร์ฉุกเฉิน โรงพยาบาลราชวิถี เสริมถึงกิจกรรมนี้ไว้อย่างน่าสนใจว่า เป็นการ นำเอาเยาวชนที่สนใจที่อยู่ในระดับประถมศึกษาตอนปลายเข้ามา เรียนรู้เรื่องการดูแลตนเองไม่ให้เจ็บป่วย และการปฐมพยาบาล ซึ่งเด็กในวัยนี้เราไม่คาดหวังที่เขาจะไปช่วยเหลือผู้อื่นได้ แต่เราคาดหวังให้เขารู้จักดูแลตนเอง และสามารถร้องขอความช่วยเหลือจากบุคคลหรือหน่วยงานอื่นเมื่อเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินขึ้นมาได้ การปลูกฝังทัศนคติในเรื่องดังกล่าวเป็นสิ่งที่จำเป็น ซึ่งเมื่อเยาวชนโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ก็จะเป็นผู้ใหญ่ที่สามารถดูแลตนเองได้เป็นโรคน้อยลง เติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพแข็งแรง ไม่เจ็บป่วยเหมือนปัจจุบันที่คนไข้ล้นห้องฉุกเฉิน ล้นโรงพยาบาล ซึ่งในอนาคตประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ


"เมื่อเทียบกับเด็กต่างประเทศในวัยเดียวกัน เด็กไทยมีองค์ความรู้เรื่องการดูแลตนเอง การปฐมพยาบาลน้อยกว่าประเทศอื่น ระบบการศึกษาไทยไม่เอื้อต่อการเพิ่มองค์ความรู้ อาทิ ในต่างประเทศเด็กอายุ 12-13 ปี สามารถทำ CPR หรือใช้เครื่อง AED ได้ ในขณะที่ประเทศไทยยังคงเน้นเรื่องของการติดตั้งเครื่อง AED ให้มีในที่สาธารณะ แต่ไม่เคยฝึกการใช้เครื่อง" พญ.ณธิดา กล่าว


แต่ที่ไม่อาจลืมได้ พญ.ณธิดา ตั้งความคาดหวังไว้ว่า หน่วยงานที่ใหญ่กว่า เช่น กระทรวงศึกษาธิการ จะนำรูปแบบในการจัดกิจกรรมไปต่อยอดจะเป็นในหลักสูตรการศึกษาหรือกิจกรรมพิเศษ เพื่อให้เด็กไทยในอนาคตและทุกวัยมีความตระหนักรู้ในเรื่องของการดูแลตนเอง และสามารถเอาตัวรอดเมื่อเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินขึ้นมาได้ ซึ่งนับว่าเป็นความสำคัญอย่างมาก


ด้าน ดร.อธิปัตย์ บำรุง ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารและ พัฒนาองค์ความรู้ กำกับดูแลสำนักงานอุทยานการเรียนรู้ TK park ที่เป็นพื้นที่จัดกิจกรรม บอกว่า ที่ผ่านมาการจัดกิจกรรมตลอด 3 ครั้งได้รับผลตอบรับที่ดีอย่างมาก และนำไปสู่การจัดกิจกรรมครั้งที่ 4 ที่มีความเข้มข้นมากขึ้น ทั้งในภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ เพื่อให้เด็กและเยาวชนที่เข้าร่วมกิจกรรมสามารถนำความรู้ไปใช้ใน ชีวิตประจำวันได้


"ภารกิจของ TK park ในการเป็นห้องสมุดมีชีวิต ที่เชื่อมโยงการเรียนรู้หลากหลายมิติ ทั้ง หนังสือ สื่อการเรียนรู้ นิทรรศการและกิจกรรม ที่เปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชนได้ลงมือปฏิบัติจริง ค่ายรู้รอดปลอดภัยนี้เป็นกิจกรรมที่เกิดจากความร่วมมือของหลายภาคส่วน ที่เล็งเห็นถึงความสำคัญของการปลูกฝังให้เด็กและเยาวชนรักในการแสวงหาความรู้อย่างยั่งยืน" ดร.อธิปัตย์ ย้ำทิ้งท้าย

Shares:
QR Code :
QR Code