เด็กไทยน่าห่วง! เผชิญปัญหาทุพโภชนาการ
เด็กไทยน่าห่วง! เผชิญปัญหาอ้วน เตี้ย ผอม ส่งผลโง่ เรียนรู้ช้า ภูมิต้าน ทานต่ำ เสี่ยงเกิดโรคเรื้อรัง เหตุมาจากพฤติกรรมโภชนาการไม่ถูกต้อง ขาดการออกกำลังกาย ชูสื่อสร้างเสริมสุขภาพ เน้น 5 เรื่องที่เป็นปัญหา บูรณาการร่วมหลักสูตรแกนกลางแก้ปัญหา
นพ.ณรงค์ สายวงศ์ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการ “การพัฒนาชุดเรียนรู้สร้างเสริมสุขภาพ เพื่อนักเรียนไทยมีโภชนาการสมวัย” ว่า จากข้อมูลการเฝ้าระวังติดตามการเจริญเติบโตในนักเรียนอายุ 6-12 ปี จำนวน 1,492,089 คน จาก 76 จังหวัด ของกรมอนามัย ปี 2555 พบว่า นักเรียนมีภาวะอ้วน จำนวน 187,000 คน เตี้ย จำนวน 254,620 คน และผอม จำนวน 99,112 คน ซึ่งปัญหาดังกล่าวส่งผลกระทบต่อสุขภาพ นักเรียนที่เตี้ยและผอม จะมีสติปัญญาด้อย เรียนรู้ช้า ภูมิต้านทานโรคต่ำ ติดเชื้อได้ง่าย นักเรียนที่มีภาวะอ้วน เสี่ยงต่อการเกิดโรคเรื้อรังต่างๆ เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หัวใจและหลอดเลือด เป็นต้น
สาเหตุสำคัญส่วนใหญ่เกิดจากพฤติกรรมโภชนาการที่ไม่ถูกต้อง รวมทั้งขาดการออกกำลังกายอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจากการสำรวจโภชนาการเด็กไทยพบว่า เด็กกินผักเพียงวันละ 1.5 ช้อนโต๊ะ ทั้งที่ควรกินไม่ต่ำกว่าวันละ 12 ช้อนโต๊ะ กินขนมกรุบกรอบและเครื่องดื่ม รสหวานจัดเกือบทุกวันหรือทุกวันสูงถึงร้อยละ 67.4 ส่งผลให้เด็กไทยมีปัญหาภาวะทุพโภชนาการทั้งขาดและเกิน โดยคาดว่าในปี 2558 เด็กปฐมวัย 1 คน ใน 5 คน และนักเรียน 1 คน ใน 10 คน จะมีภาวะอ้วน
นพ.ณรงค์ กล่าวด้วยว่า การพัฒนาสื่อนวัตกรรมด้านการสร้างเสริมสุขภาพ เพื่อพัฒนาทักษะและการเรียนรู้ของนักเรียน โดยเน้น 5 เรื่อง ที่ยังเป็นปัญหาพฤติกรรมสุขภาพของนักเรียน ได้แก่ 1.ธงโภชนาการ 2.ผัก ผลไม้ 3.ลดหวาน มัน เค็ม 4.โรคอ้วนและการออกกำลังกาย และ 5.สุขอนามัยส่วนบุคคล (สุขภาพช่องปากและสุขภาพทั่วไป) ซึ่งสามารถประยุกต์ใช้กับบริบทของแต่ละโรงเรียนได้ทั้ง 4 สังกัด คือ สพฐ. กทม. เอกชน และเทศบาล
“การพัฒนาชุดเรียนรู้สร้างเสริมสุขภาพนั้น สามารถใช้เป็นคู่มือ/แนวทางสำหรับครูใช้ในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนเชิงบูรณาการด้านพฤติกรรมสุขภาพทั้งในและนอกห้องเรียนครอบคลุม 8 กลุ่มสาระ ตั้งแต่ ป.1-6 ซึ่งเป็นสื่อการเรียนการสอนที่มุ่งเน้นให้นักเรียนมีความรู้ ความเข้าใจ และมีทักษะชีวิตด้านอาหาร โภชนาการ การออกกำลังกาย ทันตสุขภาพ และการดูแลสุขภาพทั่วไปที่เหมาะสมตามวัย และยังเป็นการเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างครู นักเรียน และผู้ปกครองในการเรียนรู้ร่วมกัน ให้เกิดความร่วมมือในการพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพที่พึงประสงค์ของนักเรียน และครอบครัว” นพ.ณรงค์ กล่าว
ที่มา : astvผู้จัดการรายวัน