เด็กไทยตาบอดเกินเกณฑ์
สปสช.เทงบ 10 ล้านบาท เดินหน้าโครงการคัดกรองเด็กสายตาผิดปกติ นำร่อง 10 จังหวัด หลัง รพ.เด็กสำรวจพบ ภาวะตาบอดในเด็ก สูงกว่าเกณฑ์องค์การอนามัยโลกกำหนดเกือบเท่าตัว
นพ.กิตติ ปรมัตถผล ผอ.แผนงานพัฒนาระบบบริการโรคเรื้อรังและโรคเฉพาะ สปสช. กล่าวว่า เด็กไทยส่วนหนึ่งมีปัญหาภาวะสายตาผิดปกติ แต่ไม่ได้รับการแก้ไข ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตระยะยาว ทั้งที่หากดูแลรักษาแต่แรกเริ่มจะแก้ไขให้เป็นปกติได้ สปสช.จึงจับมือกับสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี (รพ.เด็ก) สธ. และราชวิทยาลัยจักษุแพทย์ ดำเนินโครงการพัฒนาระบบการจัดบริการคัดกรองและแก้ไขภาวะสายตาผิดปกติสำหรับเด็กในประเทศไทย เพื่อค้นหา คัดกรองเด็กที่มีปัญหาสายตาเข้าสู่การรักษา เน้นกลุ่มเด็กเล็ก/อนุบาล และประถมศึกษา โดย สปสช.สนับสนุนงบ 10 ล้านบาท นำร่องใน 10 จังหวัด ได้แก่ สมุทรปราการ สระบุรี ราชบุรี นครพนม หนองบัวลำภู สุราษฎร์ธานี เพชรบุรี ลำพูน นครปฐม และนราธิวาส คัดกรองสายตาเด็กจำนวน 30,000 คน โดยให้ครูประจำชั้นคัดกรอง ทั้งนี้ ปี 2558-2559 จะขยายโครงการเพิ่ม 20 จังหวัด ปี 2559-2560 อีก 30 จังหวัด โดยดึงท้องถิ่นให้เข้ามีบทบาทส่วนร่วม
ด้าน พญ.ขวัญใจ วงศกิตติรักษ์ จักษุแพทย์ รพ.เด็ก กล่าวว่า จากการสำรวจสภาวะตาบอด ตาเลือนราง และโรคตาที่เป็นปัญหาสาธารณสุขในเด็กไทย อายุ 1-14 ปี พบอัตราตาบอดของเด็กไทยอยู่ที่ร้อยละ 0.11 มากกว่าเกณฑ์เฉลี่ยองค์การอนามัยโลกซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 0.07 หรือมากกว่าเกือบเท่าตัว และใกล้เคียงกับอัตราเด็กตาบอดในแอฟริกาซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 0.12 ส่วนอัตราเด็กสายตาเลือนรางอยู่ที่ร้อยละ 0.21 นับเป็นเรื่องน่าตกใจ สาเหตุส่วนใหญ่ 60% เกิดจากความผิดปกติจากการคลอดก่อนกำหนด ส่วน30% เป็นภาวะตาขี้เกียจ ซึ่งทั้ง 2 สาเหตุสามารถป้องกันและรักษาให้หายได้ หากได้รับการดูแลตามระยะเวลา ทั้งนี้ ไทยได้ลงนามลดภาวะตาบอดของเด็กในประเทศให้เหลือ 0.04 ในปี 2563 ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจึงต้องช่วยกัน โดยโครงการดังกล่าวจะช่วยแก้ปัญหาได้ ทั้งนี้ จากการติดตามประเมินเด็กไทยที่ได้รับการแก้ปัญหาสายตาพบว่า ส่วนใหญ่เด็กมีผลการเรียนดีขึ้น ตั้งใจเรียนมากขึ้น สะท้อนว่าปัญหาสายตาเป็นอุปสรรคสำคัญในการเรียน
ที่มา: หนังสือพิมพ์ASTVผู้จัดการรายวัน
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต