เด็กไทยกับอินเตอร์เน็ตความภูมิใจที่ผิดความคาดหวัง

ตั้งสายด่วน ป้องกันเยาวชนถูกมอมเมา

 

เด็กไทยกับอินเตอร์เน็ตความภูมิใจที่ผิดความคาดหวัง

          บอกออกมาจากใจจริงของ ผู้เขียนว่า ดีใจและ ภาคภูมิใจ ที่ได้เห็นร้านอินเตอร์เน็ต เปิดขึ้นอย่างมากมายในสังคมของเด็กไทยในเวลานี้ เพราะใครๆก็รู้ว่า อินเตอร์เน็ตนั้น คือ การนำโลกที่กว้างใหญ่ไพศาลมาไว้ตรงหน้าของเยาวชน เพื่อให้เยาวชนได้เรียนรู้ และ เก็บเกี่ยววิสัยทัศน์จากทุกมุมโลกมาใส่ไว้ในตัวเอง

 

          แม้จะมีความกังวลเล็กๆ อยู่บ้างว่า เยาวชนที่เข้าเน็ตอาจจะแอบดูภาพโป๊ที่ไม่เหมาะสม แต่ก็มั่นใจว่า คงมีอยู่ไม่มากนัก และ อาจจะไม่ทำให้เกิดสิ่งที่ไม่ดี (อย่างรุนแรง) ขึ้นกับเยาวชนเหล่านั้น เพราะเชื่อในความ เอาใจใส่ของพวกผู้ใหญ่ที่จะคอย ป้องกันไม่ให้เกิดสิ่งดังกล่าวได้ง่ายนัก

 

          จนกระทั่ง เมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา ได้ไปร่วมประชุม กับ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ (สวช.) ในฐานะหน่วยงานที่กำกับดูแลการประกอบกิจการร้านเกม ตามพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. 2551 ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือ ในการดำเนินงานตามโครงการร้านเกมสีขาวเพื่อเยาวชน

 

          พร้อมจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการ “สายด่วนร้านเกมและอินเทอร์เน็ต” เพื่อรับแจ้งเหตุ รับเรื่องร้องเรียน ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และสนับสนุนการดำเนินงานโครงการร้านเกมสีขาวเพื่อเยาวชน

 

          อีกทั้งส่งเสริมการสร้างเครือข่ายในการเฝ้าระวังร้านเกมและอินเทอร์เน็ต จากภาคประชาชน ภาครัฐ และภาคเอกชน จึงได้รับรู้ว่าอันตรายที่มีอยู่ในร้านอินเตอร์เน็ตนั้น ไม่ใช่ สิ่งที่ผู้เขียนวิตกกังวล แต่มีสิ่งที่น่า กลัว และ น่ากังวลว่าจะมีผลร้ายกระทบกับเยาวชนมากนั้น มันเกิดจากปัจจัยอื่น ที่มีอยู่ในร้านอินเตอร์เน็ต

 

          ปัจจัยที่ว่านี้คือ ร้านที่เปิดเป็นร้านอินเตอร์เน็ตนั้น แท้จริงไม่มีการเข้าไปดูเว็บไซต์ต่างๆ แต่กลับกลายเป็นร้านเกมที่ สามารถมอมเมาเยาวชนที่เข้ามาเล่นเกมได้อย่างมหันต์ทีเดียว

 

          นางสาวนันทิยา สว่างวุฒิธรรม รองเลขาธิการคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ เปิดเผยว่า ” เด็กและเยาวชน ส่วนใหญ่กว่า 70% เล่นเกมในร้านอินเทอร์เน็ตเป็นประจำทุกสัปดาห์ โดยร้านเกมและอินเทอร์เน็ต ถือเป็นสถานที่ยอดนิยมในการใช้บริการ จากการสำรวจปัจจัยที่ทำให้เด็กใช้บริการร้านอินเทอร์เน็ตมากที่สุด คือ อยู่ใกล้บ้าน โดยใช้เวลาเดินทางไม่ถึง 5 นาที มีเกมที่หลากหลาย และราคาไม่แพง

 

          ขณะที่การใช้งานร้านเกมและอินเทอร์เน็ตส่วนใหญ่ คือ เล่นเกม 73% คุย/แชท 39% และหาข้อมูล 32% ส่วนพฤติกรรมไม่เหมาะสมที่เด็กและเยาวชนพบเห็นในร้าน 5 อันดับแรก คือ 1.ถูกข่มขู่รีดไถ 2.เคยถูกทำร้ายร่างกาย ตบตีชกต่อย 3.เป็นหนี้ร้านอินเทอรเน็ต 4.ถูกลวนลามทางเพศ และ 5.การถูกบังคับ เช่น สูบบุหรี่ บังคับให้ซื้อของ

 

          ดังนั้น เยาวชนที่เดินเข้าร้านอินเตอร์เน็ต แทนที่จะเข้าไปเพื่อเปิดโลกทัศน์ให้กับตัวเองเพื่อมองเห็นการณ์ไปไกลในข้างกน้า กลับกลายเป็นเข้าไปคลุกคลี และมั่วสุมอยู่กับเกมที่หลายเกมมีโทษกับผู้เล่นอย่างนึกไม่ถึง แม้สำนักงานภาพยนตร์และวีดิทัศน์ จะมีการดูแล ควบคุม พร้อมทั้งได้จัดส่งเจ้าหน้าที่ ออกตรวจร้านเกมและอินเทอร์เน็ตเป็นระยะๆ แต่ก็ยังพบร้านที่มีการกระทำผิดหลักเกณฑ์ หรือประกอบกิจการโดยไม่ได้ขออนุญาตอยู่เสมอ และเมื่อเจ้าหน้าที่เข้มงวดกวดขันก็เกิดปัญหาร้องเรียนตามมาอีกมากมาย

 

          ดังนั้น จึงเห็นว่าการควบคุมร้านเกมนั้น ถึงจะได้รับผลระดับหนึ่งแต่ก็เป็นแนวทางด้านลบที่ก่อให้เกิดปัญหาและการต่อต้านจากผู้ประกอบการ หากทำในแนวทางส่งเสริมด้านบวกน่าจะให้ผลดีมากกว่าการควบคุมเพียงอย่างเดียว

 

          ในการนี้ สวช. จึงได้มีการคิดทำโครงการศูนย์ปฏิบัติการ “สายด่วนร้านเกมและอินเทอร์เน็ต” เพื่อชี้แจงข้อมูลเกี่ยวกับการประกอบการและการประกอบการที่มุ่งเน้นการคุ้มครองเด็กและเยาวชน และเป็นศูนย์กลางในการรับเรื่องร้องเรียนและประสานข้อมูลไปยังพื้นที่ที่รับผิดชอบให้ตรวจสอบข้อเท็จจริง

 

          รวมไปถึงการสร้างเครือข่ายในการเฝ้าระวังร้านเกมและอินเทอร์เน็ต ซึ่งก็ได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย อาทิ สสส. กลุ่มเครือข่ายครอบครัว และกลุ่มผู้ประกอบการร้านเกมและอินเทอร์เน็ต ฯลฯ

 

          ทันตแพทย์กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ รองผู้จัดการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ กล่าวว่า “จากการสำรวจของสถาบันวิจัย CMR Market Research เกี่ยวกับพฤติกรรมการใช้ร้านอินเทอร์เน็ตใน 4 ประเทศ คือ ไทย รัสเซีย ฟิลิปปินส์ และยูเครน พบว่า เด็กไทยใช้บริการร้านอินเทอร์เน็ตเพื่อเล่นเกมเป็นอันดับหนึ่งถึง 86% อันดับ 2 ฟิลิปปินส์ 66% อันดับ 3 ยูเครน 56% และอันดับ 4 รัสเซีย 51% ส่วนเรื่องการใช้บริการเพื่อการสนทนาออนไลน์ อันดับหนึ่งฟิลิปปินส์ 71% ยูเครน 59% ไทย 49% และรัสเซีย 42%

 

          มีเด็กและวัยรุ่นจำนวนไม่น้อย อยากให้ร้านอินเทอร์เน็ตมีโปรแกรมเพื่อการศึกษา เกมสร้างสรรค์จินตนาการ สสส.จึงได้เข้ามาร่วมมือกับ สวช. จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการ “สายด่วนร้านเกมและอินเตอร์เน็ต” และให้การสนับสนุนในหลายด้าน เช่น การขยายผลการดำเนินงาน และผลักดันให้เกิดสิทธิประโยชน์ในเชิงสร้างสรรค์สำหรับผู้ประกอบการร้านเกมและอินเตอร์เน็ตที่เข้าร่วมโครงการฯ

 

          การสนับสนุนร้านเกมและอินเตอร์เน็ตให้เป็นแหล่งเรียนรู้ตามอัธยาศัย และการสนับสนุนการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการประกอบการร้านเกมและอินเตอร์เน็ตที่ดีผ่านโครงการฝึกอบรมและเผยแพร่ความรู้ทางกฎหมายให้แก่ผู้ประกอบการร้านเกมและอินเตอร์เน็ต รวมถึงผู้ปกครอง และเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้โดยให้สวช.เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินงาน”

 

          ส่วนนางสาวเพชรศิริ เหลืองไพโรจน์ ผู้จัดการสายพัฒนาผลิตภัณฑ์ บริษัท ไมโครซอฟท์(ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “ทางบริษัทไมโครซอฟท์ ยินดีร่วมสนับสนุนโครงการฯนี้ และเห็นว่าข้อจำกัดหนึ่งของผู้ประกอบการ คือ การจัดซื้อโปรแกรมลิขสิทธิ์ทำให้ต้นทุนในการประกอบการสูงขึ้น บริษัทจึงขอสนับสนุนผู้ประกอบการที่ร่วมดูแลสังคมด้วยการจัดหาโปรแกรมลิขสิทธิ์ เช่น Billing ฯลฯ และสนับสนุนซอฟแวร์ด้านการศึกษาฟรี โดยติดต่อขอรับได้ที่ 0-2642-7800″

 

          สำหรับนางอัญญาอร พานิชพึ่งรัถ หัวหน้าเครือข่ายครอบครัวเฝ้าระวังและสร้างสรรค์สื่อ มูลนิธิเครือข่ายครอบครัว กล่าวว่า “ยินดีเป็นอย่างยิ่งที่มีการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการฯ ดังกล่าว เพราะจะมีส่วนสำคัญในการช่วยรับเรื่องร้องเรียนต่างๆ เมื่อผู้ปกครองพบเห็นพฤติกรรมทีไม่เหมาะสม ทั้งนี้เครือข่ายฯ ก็จะคอยเฝ้าระวังและให้การสนับสนุนให้เกิดร้านเกมสีขาวรอบรั้วสถานศึกษามากยิ่งขึ้น”

 

          ขณะนี้มีร้านเกมและอินเตอร์เน็ตที่เข้ายื่นจดทะเบียนขอมีใบอนุญาตทั้งสิ้น ๒๓,๒๗๐ แห่ง ผ่านมาตรฐานเป็นร้านเกมสีขาว 705 แห่ง และตั้งเป้าว่าในปี 2552 นี้ จะมีร้านเกมสีขาวถึง 2,000 แห่ง

 

          เพื่อเป็นการคุ้มครอง ป้องกันไม่ให้เยาวชนไทยของเรา ถูกมอมเมาด้วยสิ่งที่ไม่ดีในสังคม ผู้ประกอบการสามารถสอบถามรายละเอียด ข่าวสาร แจ้งเหตุ หรือร้องเรียนผ่านช่องทางต่างๆ ดังนี้ www.safetycyber.org หรือ ตู้ ปณ.4 ปณฝ.สุทธิสาร กรุงเทพ 10321 หรือ หมายเลขโทรศัพท์ 0-2247-0028 ต่อ 5051 หรือ 0-2245-9646 หรือ 0-2246-6149

 

          ขณะเดียวกันผู้ปกครองสามารถมีส่วนร่วมในการดูแลร้านผ่านทางศูนย์ฯ และอาจชักชวนให้ผู้ประกอบการเข้ามาเป็นสมาชิกร้านเกมสีขาว โดยมีมาตรการส่งเสริมหรือให้สิทธิประโยชน์สำหรับร้านที่เข้าร่วมโครงการอีกด้วย

 

 

 

 

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์แนวหน้า

 

 

Update 17-12-51

Shares:
QR Code :
QR Code