เด็กเฮ้วโชว์ผลงานนักสื่อสารสุขภาวะรุ่นใหม่ “ทาส”
เมื่อพูดถึงความสูญเสียจากการสูบบุหรี่ พบว่า ทั่วโลกเสียชีวิตจากยาสูบ ปีละ 6 ล้านคน วันละ 16,438 คน ส่วนคนไทยเสียชีวิตจากการสูบบุหรี่ ปีละ 50,700 คน วันละ 139 คน ชั่วโมงละ 5.8 คน หรือ 1 คนในทุกๆ 10 นาที และเมื่อพูดถึงโรคที่คนไทยเสียชีวิตจากการสูบบุหรี่ จะพบว่า โรคหัวใจและหลอดเลือด 11,666 คนต่อปี โรคมะเร็งปอด 11,740 คนต่อปี โรคมะเร็งที่คอ 7,244 คนต่อปี โรคถุงลมปอดโป่งพอง 11,896 คนต่อปี โรคอื่นๆ 8,164 คนต่อปี
บุหรี่ ติด แล้วเลิกยาก
“บุหรี่และการบริโภคยาสูบในรูปแบบอื่นๆ เป็นการเสพติด คือใช้เป็นประจำและไม่สามารถเลิกได้การหยุดสูบมักจะตามมาด้วยอาการถอนยา กระบวนการทางยาและพฤติกรรมก็จะเหมือนๆ กับการติดยาเสพติดอื่นๆ เช่น เฮโรอีน โคเคน”
บุหรี่ : ไม่ได้สูบ ทรมาน
เมื่อเลิกสูบบุหรี่ ระดับนิโคตินในกระแสเลือดจะลดลง ก่อให้เกิดอาการขาดสารนิโคติน คือ วิตกกังวล โกรธง่าย หงุดหงิด อารมณ์ฉุนเฉียวง่าย และกระสับกระส่าย อาการจะมากใน 2-3 วันแรก จากนั้นอาการจะบรรเทาลงและเป็นปกติในที่สุด
“เป็นที่ทราบกันอยู่แล้วว่า บุหรี่เป็นสิ่งเสพติด ผู้สูบบุหรี่จำนวนมากยังคงสูบต่อไป เพราะไม่สามารถเลิกได้ ถ้าเลิกได้ก็คงเลิกไปแล้ว แต่ที่ผู้คนยังสูบบุหรี่ เพื่อผ่อนคลาย เพื่อรสชาติ เพื่อฆ่าเวลา เพื่อให้มือไม่ว่าง และที่สำคัญที่สุดที่ยังคงสูบบุหรี่กันต่อไปก็เพราะว่า จะไม่มีความสุข หากหยุดสูบ”
อย่างในผลงานที่ชื่อว่า “ทาส” ซึ่งเป็นผลงานที่ได้รับทุนการผลิตในโครงการนักผลิตและสื่อสารสุขภาวะรุ่นใหม่ “dek health (เด็กเฮ้ว)” ตอน เยาวชนสร้างแรงบันดาลใจสุขภาวะ ในรูปแบบสื่อใหม่ (new media) ประเภท installation ambience (อินสตอลเรชั่น แอมเบี้ยน) ซึ่งเป็นประเภทที่สามารถเข้าถึงผู้คนได้ง่าย เข้าใจง่าย และสามารถจับต้องได้ โดยมี นางสาวฐปนัท เรืองมณี หรือน้องออมสิน นักศึกษาจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สาขาออกแบบนิเทศศิลป์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เป็นเจ้าของผลงาน
ผลงานชิ้นนี้ต้องการสื่อสารว่า บุหรี่คือยาเสพติดชนิดหนึ่ง ที่ทำให้ผู้สูบกลายเป็นเหมือนทาสของมัน โดยแนวคิดของผลงานชิ้นนี้น้องออมสิน บอกว่า ต้องการตอบโจทย์ที่ได้มาว่า “บุหรี่คือยาเสพติด” เพราะฉะนั้นจึงใช้วิธีการจัดแสดงหุ่นเสมือนจริง เพื่อสื่อให้ผู้ที่เห็นเข้าใจได้ง่ายขึ้น ว่านี่คือสิ่งเสพติดที่ถึงแม้เราจะสลัดมันหลุด แต่เราก็ตกเป็นทาสของมันไปเสียแล้ว
“การสร้างสรรค์ผลงานเริ่มจากการสเก็ตภาพและเข้าสู่กระบวนการถ่ายภาพจากขนาดจริงและมาตกแต่งด้วยคอมพิวเตอร์เพื่อดูว่าคนที่ดูงานเข้าใจว่าบุหรี่มันเป็นโทษ ซึ่งผู้ที่สูบเปรียบเหมือนตกเป็นทาสของบุหรี่เพราะพวกเขาเหล่านั้นจะเสพติดบุหรี่กระทั่งกลายเป็นความเคยชินและทำให้บุหรี่กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตในที่สุด โดยมีความคิดอยากให้ผู้เสพที่เห็นผลงานได้กลับมาคิดเพื่อที่เขาจะได้เลือกวิถีชีวิตใหม่ที่ดีกว่าเดิม” น้องออมสินบอก
น้องออมสินเล่าถึงรูปแบบและความหมายของผลงานว่า “บุหรี่คือระเบิดเวลา” ผู้สูบไม่รู้ว่าผลจากการสูบบุหรี่นั้นจะมีผลกระทบกับตนเองและคนรอบข้างเมื่อไร ทุกครั้งที่บุหรี่ถูกจุดก็เหมือนการทำให้ระเบิดเวลาทำงานเร็วขึ้นและวันหนึ่งก็จะระเบิดและทำลายคนๆนั้นรวมถึงคนรอบข้างของเขาด้วย
“บุหรี่เป็นที่คุมขัง” ผู้สูบที่สูบบุหรี่ย่อมเหมือนผู้ที่ถูกขังหรือบังคับให้ต้องติดกับ ซึ่งบางครั้งแม้เขาต้องการหลุดออกมาจากมันก็ไม่สามารถทำได้ งานชิ้นนี้ต้องการจะสื่อถึงทั้งผู้สูบและผู้ที่ไม่สูบว่าผู้สูบบุหรี่ไม่ใช่บุคคลน่ารังเกียจ เขาก็ต้องการที่จะอยู่ร่วมกับคนในสังคมเช่นกันและบางครั้งก็ต้องการให้คนอื่นๆ เข้าใจและช่วยเขาออกมา
นี่เป็นเพียงแค่หนึ่งในผลงานที่เยาวชนได้สร้างสรรค์ขึ้นมาเพื่อใช้สื่อสารให้คนในสังคมรู้ว่า “บุหรี่คือยาเสพติด” นอกจากนี้แล้วยังมีผลงานอีกหลากหลายชิ้นที่เป็นผลงานใน โครงการ “เด็กเฮ้ว” ที่มีทั้งหนังสารคดีสั้น, เรื่องสั้น, นิวมีเดีย ประเภท art installation (อาร์ต อินสตอลเรชั่น), installation ambience (อินสตอลเรชั่น แอมเบี้ยน, t-shirt แบบกราฟิกและแบบสโลแกน, infographic animation (อินโฟกราฟิก แอนนิเมชั่น), jingle music (จิงเกิ้ล มิวสิค) สามารถติดตามผลงานน้องๆ ได้ที่ www.artculture4health.com
ที่มา : แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สสส.