เด็กเร่ร่อน-เด็กสลัม ภาพสะท้อนปัญหาการศึกษาเมืองไทย

“ตอนนี้เรารังแกเด็กด้วยความไม่เท่าเทียม และความไม่เป็นธรรมในการศึกษา ผมอยากให้เรื่องเด็กไม่ใช่เรื่องการเมือง ไม่ใช่ฝ่ายค้าน หรือรัฐบาล มีแต่ผู้ใหญ่ต้องทำงานเพื่อเด็กอย่างบริสุทธิ์ใจ สุดท้ายคำตอบการศึกษาต้องอยู่ที่ชุมชนท้องถิ่น สสค.จึงมุ่งลงตรงไปยังหน่วยปฏิบัติที่อยู่ใกล้ตัวเด็กมากที่สุด”

เด็กเร่ร่อน-เด็กสลัม ภาพสะท้อนปัญหาการศึกษาเมืองไทย

เด็กเร่ร่อน เด็กสลัม อาจเป็นภาพสะท้อนเพียงเศษเสี้ยวหนึ่งของปัญหาการศึกษา ของเด็กเยาวชนไทยจำนวน 5 ล้านคน รวมไปถึงกลุ่มแรงงานขั้นต่ำจำนวน 8.8 ล้านคน ที่ครั้งหนึ่งเคยหลุดออกจากระบบการศึกษาทำให้เสียโอกาสในการยกระดับคุณภาพการเรียนรู้

ป่วยการจะโยนว่าเป็นหน้าที่ของใครเพราะว่าด้วยเรื่องการศึกษา ทุกคนสามารถมีส่วนช่วยได้ ตามคอนเซ็ปท์ “all for education”

เด็กเร่ร่อน-เด็กสลัม ภาพสะท้อนปัญหาการศึกษาเมืองไทย

ช่วงที่ผ่านมา สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) จัดแคมเปญเด็กไทยคืนห้อง (เรียน) เพื่อตอกย้ำสถานการณ์และปัญหาเด็กด้อยโอกาสทั่วประเทศที่ประกอบด้วยเด็กเยาวชน และประชากรวัยแรงงานที่ต้องการพัฒนาศักยภาพรวม 16 กลุ่มที่มีลักษณะซ้อนเหลื่อมกัน

ภายใต้แผนโครงการสร้างโอกาสทางการศึกษาและพัฒนาทักษะอาชีพ ให้เด็กและเยาวชนด้อยโอกาสให้สามารถพึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืน ซึ่งนับเป็นหนึ่งในแผนปฏิบัติการปฏิรูปประเทศไทยด้านการศึกษาปี 2554 เพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรม

“ครูปู่” ธีระรัตน์ ชูอำนาจ โมเดลกลุ่มครูอาสาสมัคร “ซ.โซ่อาสา” ที่นำโดย “ครูปู่” ธีระรัตน์ ชูอำนาจ ก็เป็นเพียงหนึ่งในแรงของ “ภาคประชาชน” ในการขับเคลื่อนยกระดับคุณภาพการศึกษาเพื่อลูกหลานของคนไทย โดย “ไม่รอ” ที่จะเป็นเพียงฝ่ายตั้งรับ

“ในกรุงเทพฯ มีสลัมทั้งสิ้น 1,900 แห่ง ไม่นับหัวเมืองใหญ่ทั่วประเทศ ผมดูแลอยู่ 3-4 แห่ง แล้วที่เหลือใครดูแล” ครูปู่-ธีระรัตน์ เปิดประเด็นด้วยคำถามหนักใจ และเล่าถึง “ย่านบางซื่อ” ถิ่นเกิดของแกเอง ที่มีสลัมมากถึง 51 แห่ง โดยมีปัญหาหลัก 3 กลุ่มคือ 1.เด็กยากจนพิเศษ 2.เด็กติดยาเสพติด/ยุวอาชญากรรม และ 3.แม่วัยรุ่น

“ผมสอนอยู่ที่ 1.ชุมชนตรอกสาเก ริมคลอดหลอด 2.ชุมชนตึกแดง บางซื่อ 3.ใต้สะพานอรุณอัม รินทร์ และ 4.สวนลุมพินี ขณะเดียวกันก็กำลังทำงานร่วมกับ สสค. เพื่อส่งเสริมให้เกิดการขยายเครือข่ายครูอาสาสมัครหน้าใหม่อย่างเป็นระบบ ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญในการเรียนการสอน เพราะบางครั้งปัญหาไม่ได้อยู่ที่ว่า มีอาสาสมัครไม่เพียงพอ แต่ไม่ได้การจัดสรรอย่างเหมาะสม”

ครูปู่เล่า และว่ากลุ่มเป้าหมายหลักอยู่ 2 กลุ่ม คือ “เด็กในชุมชนแออัด” กับ “เด็กเร่ร่อน” แต่ไม่ได้คาดหวังให้เขาเรียนสูงหรอก แต่เราคาดหวังให้เขาเป็นคนดี เราต้องพยายามดึงให้เขาไปสู่ความรู้ ส่วนการเรียนการสอนจะเน้นการใช้จริยธรรมสอดไส้ความรู้ คือ ไม่ได้มุ่งหวังให้ต้องเรียนเก่ง แค่เป็นเด็กดี รับผิดชอบตัวเองได้

“ผมเชื่อว่า มนุษย์ทุกคนต้องมองตัวเองมีค่า เขาจะเกิดความภูมิใจ เขาจะคิดถึงแต่สิ่งที่ดีครับแค่นี้เอง เราคาดหวังแค่นี้เอง” ครูปู่กล่าว และสรุปด้วยว่า “อย่านึกว่าโซ่ ที่ครูอาสาช่วยกันจะทำจากเหล็ก โซ่นี้คือ ดวงใจของพวกเราที่ร้อยรัดเข้าด้วยกัน และหวังว่า โซ่เส้นนี้จะยาวขึ้นทุกๆ วัน เพื่อขยายกำลังในการช่วยเด็กสลัมทั่วประเทศ ต่อไปไม่ว่าคุณเป็นใครก็มีส่วนช่วยยกระดับการศึกษาได้

น.พ.สุภกร บัวสาย ผู้จัดการ สสค.ด้าน น.พ.สุภกร บัวสาย ผู้จัดการ สสค. กล่าวว่า สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางสังคมในปัจจุบันพบว่า มีกลุ่มเด็ก เยาวชนที่ด้อยโอกาสทางสังคม รวมถึงกลุ่มแรงงานขั้นต่ำ จำแนกได้ 5 กลุ่มหลักคือ กลุ่มเด็กนอกระบบการศึกษา จำนวน 2-3 ล้าน เด็กพิการทางกายและทางการเจริญทางสมอง จำนวน 1.7 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 10 ของเด็กในระบบการศึกษาที่มีอยู่ประมาณ 14-15 ล้านคน เด็กชนบทห่างไกล จำนวน 1.6 แสนคน เด็ก เยาวชนที่ต้องคดี จำนวน 50,000 คน และอีกจำนวน 10,000 คน ที่จะพ้นการควบคุมและต้องการพัฒนาทักษะอาชีพในทุกปี และ กลุ่มแรงงานขั้นต่ำ ซึ่งต้องการพัฒนาศักยภาพเพื่อเพิ่มรายได้ จำนวน 8.8 ล้านคน

ภารกิจสำคัญที่สสค.จะเร่งแก้ไขปัญหาคือ 1.การศึกษาข้อจำกัดของกลไกการทำงานที่มีอยู่ เพื่อนำสู่การปลดล็อค ระบบและแก้ไขปัญหา ด้วยการประสานในทุกหน่วยงานที่มีภารกิจเกี่ยวข้องดำเนินนโยบายอย่างมีเป้าหมายและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น 2.สนับสนุนให้เกิดพื้นที่ต้นแบบเพื่อนำสู่การขยายผลในการทำงานอย่างยั่งยืน และ 3.การพัฒนาระบบฐานข้อมูลเพื่อติดตามดูแล” ผู้จัดการสสค. กล่าวและเสริมว่า

“กรณีกลุ่มซ.โซ่ อาสา ถือเป็นการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบในการดูแลเด็กแร่ร่อนในกทม. ภายใต้การทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและชุมชน ซึ่งพบว่า ยังมีเด็กเร่ร่อนจำนวนมากกระจายอยู่ตามเขตเมืองต่างๆ ถึง 30,000 คน ที่ยังขาดระบบจัดการดูแลอย่างทั่วถึง โดยพบมากที่สุดอยู่ใน กทม. บริเวณสะพานพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ชุมชนคลองเตย ชุมชนรังสิต และชุมชนธัญญบุรี รวมทั้งตามเมืองขนาดใหญ่อย่างด่านแม่สาย จ.เชียงราย บริเวณโรงเกลือ จ.สระแก้ว บริเวณชุมชนข้างทางรถไฟ สวนรัก หอนาฬิกา จ.นครราชสีมา และบริเวณพัทยา จ.ชลบุรี ซึ่งส่วนใหญ่ประสบปัญหาครอบครัวแตกแยก ถูกทารุณกรรม บางส่วนต้องเร่ร่อนเพื่อหารายได้ช่วยเหลือครอบครัว และหนีตามเพื่อนมาเร่ร่อน” นพ.สุภกร กล่าว

ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ ที่ปรึกษาด้านวิชาการสสค.ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ ที่ปรึกษาด้านวิชาการสสค. กล่าววถึงแนวทางการแก้ปัญหาด้อยโอกาสพบว่ามี 7 มาตรการดังนี้ 1.การประกบเร็ว มาตรการนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเข้าประกบเด็กตั้งแต่อยู่ในท้องเพื่อให้เข้าถึงระบบการศึกษาอย่างเท่าเทียม 2.การศึกษาทางเลือกภาครัฐจะต้องจัดระบบการศึกษาให้สอดคล้องกลุ่มเด็กที่มีปัญหา เช่น เด็กที่ถูกไล่ออกจากโรงเรียนหรือกลุ่มแม่วัยรุ่น 3.การดูแลเด็กที่อยู่ในระบบโรงเรียนโดยภาครัฐต้องมีการลงทุนเพิ่มเพื่อให้มีระบบดูแลเป็นรายกรณีเพราะเด็กแต่ละคนจะมีปัญหาแตกต่างกัน 4.การประกันอนาคตสร้างงานให้เด็กทุกปีจะมีเด็กพ้นสถานพินิจร่วมหมื่นคนในจำนวนนี้ 20% ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงจะทำผิดซ้ำรัฐต้องมีมาตรการช่วยเหลือเพื่อลดความเสี่ยง

5.ระบบการดูแลในชุมชน โดยอาศัยอาสาสมัครชุมชนช่วยกันดูแลเด็กกลุ่มเสี่ยง ช่วยให้กำลังใจเพื่อให้เด็กกลุ่มเสี่ยงสามารถมีชีวิตอยู่ในสังคมต่อไปได้ 6.มาตรการฟื้นฟูกลุ่มเด็กที่มีปัญหาเฉพาะกลุ่มเช่น เด็กขายบริการทางเพศเด็กที่ก่ออาชญากรรม และ 7.การเจรจาเชิงนโยบายระดับสูง หรือการปลดล็อคนโยบายภาครัฐต้องเพิ่มการลงทุนต่อหัวเกี่ยวกับเรื่องการศึกษาของเด็กให้มากขึ้นนอกจากนี้ควรสร้างความร่วมมือให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) อย่างองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.)เข้ามามีบทบาทในการดูแลเด็กและเยาวชนเพิ่มขึ้น

“ปัญหาในสลัมมีหลักๆ คือ ปัญหาเด็กเร่ร่อน ติดยา และเด็กในสถานพินิจ เด็กยากจนพิเศษ และแม่วัยรุ่น ตอนนี้เรารังแกเด็กด้วยความไม่เท่าเทียมและความไม่เป็นธรรมในการศึกษา ผมอยากให้เรื่องเด็กไม่ใช่เรื่องการเมือง ไม่ใช่ฝ่ายค้าน หรือรัฐบาล มีแต่ผู้ใหญ่ต้องทำงานเพื่อเด็กอย่างบริสุทธิ์ใจสุดท้ายคำตอบการ ศึกษาต้องอยู่ที่ชุมชนท้องถิ่น สสค. จึงมุ่งลงตรงไปยังหน่วยปฏิบัติที่อยู่ใกล้ตัวเด็กมากที่สุด” ดร.อมรวิชช์ กล่าว

ปัญหา เรื่องเด็กและเยาวชน ที่ด้อยโอกาสทางสังคม ไม่ใช่ปัญหาของใครคนใด คนหนึ่ง หากแต่เป็นปัญหาของคนไทยทุกคนที่ต้องช่วยกันแก้ไข เพราะเด็กในวันนี้คือผู้ใหญ่ในวันหน้า และพวกเขาก็คือกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไทยในอนาคต
 

ที่มา: หนังสือพิมพ์แนวหน้า

Shares:
QR Code :
QR Code