เด็กเมืองกาญจน์เรียนรู้เท่าทันสื่อ เสริมหัวใจสิทธิผู้บริโภค
เมื่อวันที่ 18-19 มิถุนายน 2554 ที่ผ่านมา ณ บ้านสวนจันทร์ รีสอร์ท ท่ามะขาม เมืองกาญจนบุรี ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) ร่วมกับ แผนงานสื่อสร้างสุขภาวะเยาวชน (สสย.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดอบรมเชิงปฏิบัติการหลักสูตรการคุ้มครองผู้บริโภคสื่อภาคประชาชน
การอบรมครั้งนี้ มุ่งหวังเพื่อสร้างองค์ความรู้ให้เยาวชนเท่าทันสื่อ และเฝ้าระวังปัญหาการละเมิดจากสื่อที่กำลังคุกคามเราอยู่ตลอดเวลา จากทุกทิศทาง ทั้งจากสื่อกระแสหลัก และสื่อใหม่ต่างๆ ซึ่งหลังจากการอบรมแล้ว ผู้เข่ารับการอบรมจะสามารถแก้ปัญหาการละเมิดสื่อที่เกิดขึ้นได้
กลุ่มผู้เข้าร่วมอบรมครั้งนี้ ประกอบด้วย กลุ่มนักเรียน นักศึกษา ชมรมพิทักษ์สิทธิจากสถาบันต่างๆ ในเขตพื้นที่ 3 อำเภอ คือ อ.ไทรโยค อ.เมืองกาญจนบุรี และอำเภอสังขละบุรี และศูนย์คุ้มครองผู้บริโภคจังหวัดกาญจนบุรี รวม 49 คน
เริ่มต้นเบาๆ ด้วยการเรียนรู้สิ่งที่ตนได้รับทั้งด้านดี และด้านแย่ๆ ในความคิดเห็นส่วนตัวจากสื่อ 6 ประเภท วิทยุชุมชน เคเบิ้ลทีวี ฟรีทีวี หนังสือพิมพ์ นิตยสาร และอินเตอร์เน็ต
ตามด้วยการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับตัวเอง เรียนรู้ รู้จัก กับ นิยามผู้บริโภค ใครคือผู้ประกอบการ และ องค์ประกอบของความสัมพันธ์ในมิติการบริโภค และเข้าใจให้ลึกกับสิทธิผู้บริโภคด้านสื่อ 8 ประการ
1. สิทธิในด้านการได้รับข้อมูลอย่างเพียงพอ เป็นจริง ไม่ก่อให้เกิดความรำคาญ
2. สิทธิในการได้รับสื่อที่มีเนื้อหาเชิงสร้างสรรค์
3. สิทธิในด้านการคุ้มครองการเข้าถึงสื่อที่ไม่เหมาะสม
4. สิทธิในความเป็นส่วนตัว และ ข้อมูลส่วนตัว
5. สิทธิในด้านความปลอดภัยในอุปกรณ์
6. สิทธิในด้านราคาที่เป็นธรรม
7. สิทธิในการมีส่วนร่วม
8. สิทธิในการได้รับการเยียวยา ชดเชย
อีกหลักสูตรการอบรมกับการสร้างภูมิให้แข็งแกร่ง การเรียนรู้กฎหมายด้านการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพ (อาหาร) ควบคู่กับการเรียนรู้จริยธรรมสื่อ และจรรยาบรรณสื่อ เรียนรู้ผ่านสื่อจริงหนังโฆษณาต่างๆ ที่กำลังออนแอร์ ให้บทบาทสมมติกับผู้เข้าร่วมอบรมเป็นศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคแสดงพลังความคิด และเปิดหัวใจสิทธิผู้บริโภคในการแก้ปัญหาให้กับท้องถิ่น
จากการเรียนรู้กระบวนการต่างๆ ที่ผ่านมาเบื้องต้น เยาวชนผู้เข้าร่วมอบรมสามารถชี้แจงปัญหาการละเมิดสิทธิผู้บริโภคในโฆษณาต่างๆ ได้อย่างชัดเจน อีกทั้งยังเปรียบเทียบกฎหมายด้วยว่า โทษน้อยเกินไป กฏหมายหละหลวม ขอแก้ไขและเพิ่มเติมกฎหมาย และหลักเกณฑ์ทั่วไปในการโฆษณาอาหารที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาเป็นผู้กำหนดไว้ด้วย
เราคงจำกันได้ กับโฆษณา “รสดีความรักคืออะไร”
แม่ทำอาหาร ลูกสาวตัวเล็ก “คุณแม่ขา ความรักคืออะไรคะ”
คุณแม่ “หือ….ความรักก็…เหมือนเวลาที่หนูหิว คุณแม่ก็ทำของอร่อยให้หนูกินไงคะ”
ลูกสาว “ถ้าเกิดหนูไม่หิว คุณแม่ก็จะไม่รักหนูใช่ป่ะ”
คุณแม่คุยไป สอนลูกไปว่า ถ้าหนูหิวทุกๆ วัน คุณแม่ก็จะรักหนูทุกๆ วัน
จากการดูโฆษณาของเยาวชนกลุ่มนี้ เยาวชนสรุปว่า
– รสดีมีส่วนประกอบของผงชูรสในปริมาณที่มาก จะส่งผลกระทบต่อไตเมื่อบริโภคเป็นเวลาที่ติดต่อกันนาน และ
– การเอาประเด็นเรื่องความรัก ความผูกพันในครอบครัวมาใช้ประกอบเป็นจุดเด่นของการโฆษณาชิ้นนี้นั้น เป็นการสอนเด็กที่ผิดอย่างมากที่ว่า ความรักเหมือนเวลาหนูหิว แล้วคุณแม่ก็ทำอาหารให้หนูทานและในอาหารนั้นใส่รสดีทำให้อาหารอร่อยด้วย การนำอาหารที่มีส่วนประกอบของผงชูรสให้ลูกทานเป็นการแสดงความรักหรือ!
– การโฆษณาไม่มีการบอกส่วนประกอบ หรือคำเตือนในการใส่และปรุงอาหารเลย ทำให้ผู้บริโภคไม่ได้รับข่าวสารที่ครบถ้วน นี่เป็นการละเมิดสิทธิผู้บริโภคจะต้องมีการกำหนดบทลงโทษให้มากกว่าเดิม
นี่เป็นเพียงตัวอย่างเล็กๆ น้อยๆ ของพลังเยาวชนหัวใจสิทธิผู้บริโภคที่ กำลังเรียนรู้การรู้เท่าทันสื่อ และการเฝ้าระวังปัญหาการละเมิดจากสื่อ การปลุกพลังผู้บริโภคเช่นนี้ เป็นการป้องกันไม่ให้ผู้บริโภคตกเป็น “เหยื่อ” ของสื่อได้ง่ายเกินไป
ที่มา: มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค