เด็กเป็นเบาหวานได้จริงหรือ ?

เรื่องโดย พัฒน์รพี กมลานนท์ Team content www.thaihealth.or.th

ให้สัมภาษณ์โดย    ศ.เกียรติคุณ พญ.วรรณี นิธิยานันท์ นายกสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย

ภาพโดย นัฐพร ชุ่มลือ Team Content www.thaihealth.or.th และแฟ้มภาพ


เด็กเป็นเบาหวานได้จริงหรือ ? thaihealth


“ทำไมลูกเธอผอมจัง ทำไมไม่เห็นอ้วนเลย”

                    “ระวังขาดสารอาหารนะ เด็กเล็กต้องอ้วน ๆ สิถึงจะน่ารัก”


คำพูดเหล่านี้เชื่อว่าพ่อแม่หลาย ๆ คน ที่มีลูก แล้วลูกไม่อ้วน เคยได้ยินประโยคนี้กันทั้งนั้น ด้วยความเชื่อของคนสูงอายุสมัยก่อน บางครอบครัวที่เชื่อว่า ถ้าเลี้ยงลูกหลานแล้วไม่อ้วนจะแสดงถึงความอดอยากของครอบครัว แต่หารู้ไม่ว่าการที่เด็กอ้วนตั้งแต่เล็ก ๆ จะทำให้เกิดโรคเบาหวานในเด็กได้

                     คนส่วนใหญ่อาจจะไม่คุ้นเคยกับโรคเบาหวานในเด็ก จนสงสัยได้ว่าเด็กเป็นโรคเบาหวานได้จริงหรือ โรคเบาหวานเป็นโรคที่สามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกช่วงวัย ส่วนใหญ่เราจะพบโรคเบาหวานในผู้สูงอายุมากกว่าพบในเด็กเล็ก แต่ในเด็กเล็กก็มีโอกาสเป็นโรคเบาหวานได้เช่นเดียวกัน และเด็กสามารถเป็นโรคเบาหวานได้ตั้งแต่ที่อายุยังน้อย


เด็กเป็นเบาหวานได้จริงหรือ ? thaihealth


ศ.เกียรติคุณ พญ.วรรณี นิธิยานันท์ นายกสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย  เล่าให้ฟังว่า เบาหวานแบ่งออกเป็น 2 ประเภท เบาหวานในเด็กมีหลายชนิดเหมือนในผู้ใหญ่ เบาหวานที่เราพบบ่อยในเด็ก จะเป็นเบาหวานชนิดที่ 1 รองลงมาก็จะเป็นชนิดที่ 2 ต่อไปก็จะเป็นจากสาเหตุอื่น ๆ  

เด็กที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 1 เป็นได้ตั้งแต่อายุยังน้อย ตั้งแต่ 1ขวบ 2 ขวบ ก็สามารถเป็นได้แล้ว สาเหตุเกิดจากการที่เซลล์ตับอ่อนที่เรียกว่า เบต้าเซลล์ ถูกทำลาย จึงทำให้ร่างกายของเด็กไม่สามารถผลิตฮอร์โมนที่ชื่อว่า อินซูลิน ที่ทำหน้าที่ในการควบคุมระดับน้ำตาล เพราะฉะนั้นเด็กก็จะมีภาวะน้ำตาลสูง และอาจเกิดภาวะเลือดเป็นกรด

เด็กที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 2 ส่วนใหญ่นั้นจะเจอในผู้ใหญ่ แต่ในปัจจุบันจะเห็นว่าเด็กอ้วนมีมากขึ้น เบาหวานชนิดที่ 2 เป็นกรรมพันธุ์ด้วยส่วนหนึ่ง แต่อีกส่วนหนึ่งก็เกิดจากการดำรงชีวิตประจำวันของเรา ถ้าเด็กบริโภคมากเกินไป กินน้ำตาลเยอะ ก็จะเกิดภาวะอ้วน นี่คือการสร้างความดื้อต่ออินซูลิน ที่เป็นฮอร์โมนควบคุมระดับน้ำตาล

สำหรับภาวะดื้ออินซูลินก็คือ การที่มีฮอร์โมนอินซูลินทำหน้าที่ได้ไม่ดี ดังนั้นก็เหมือนกับการขาดอินซูลิน ที่เป็นตัวควบคุมระดับน้ำตาลในร่างกาย

                    ในเด็ก 10 คน จะมีเด็กที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 1 6-7 คน เป็นเบาหวานชนิดที่ 2 อีกประมาณ 3 คน อีก 1 คนก็จะเป็นชนิดอื่น ๆ เช่น การเป็นจากพันธุกรรมรูปแบบอื่น

อาการของเด็กที่เป็นโรคเบาหวานก็จะพบได้จาก

1.เด็กจะปัสสาวะบ่อย

2.เด็กจะรู้สึกกระหายน้ำ และดื่มน้ำมากกว่าปกติ

3. เด็กจะมีน้ำหนักตัวลดลงอย่างรวดเร็ว

บางคนพอเป็นสัก 2-3 อาทิตย์  จะมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน  หอบ เหนื่อย ซึ่งเป็นผลมาจากภาวะเลือดเป็นกรด


เด็กเป็นเบาหวานได้จริงหรือ ? thaihealth


การป้องกัน

เบาหวานชนิดที่ 1 ในเด็กยังไม่สามารถป้องกันได้ เพราะเป็นโรคที่เกิดจากภูมิคุ้นกันในร่างกายบกพร่อง (Autoimmune) กล่าวคือ ภูมิของตัวเองไปทำลายตับอ่อน ที่เรียกว่า Beta Cells (เบต้าเซล์) ที่ผลิตอินซูลิน คล้ายกับแพ้ภูมิตัวเอง ละในเบาหวานชนิดที่ 2 นั้นไม่สามารถรักษาให้หายได้แต่สามารถป้องกันได้ สาเหตุการเกิดจะไม่เหมือนกับเบาหวานชนิดที่ 1 ดังที่กล่าวไปข้างต้น

เบาหวานชนิดที่  2

1.ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคโดย ควบคุมอาหาร ไม่ทานของหวาน มัน เค็ม

2.การออกกำลังกาย ที่ส่งผลให้น้ำหนักตัวลดลงจะทำให้ ภาวะดื้ออินซูลินลดลง ทั้งนี้เป็นการลดความเสี่ยงที่จะเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ได้


เด็กเป็นเบาหวานได้จริงหรือ ? thaihealth


แนวทางการรักษา

เด็กที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 1  จะต้องฉีดอินซูลินเข้าร่างกาย เนื่องจากเด็กไม่มีอินซูลิน และตอนนี้ยังไม่มีวิธีการทานอินซูลิน ซึ่งทางทีมแพทย์พยายามที่จะผลิตเป็นยาทาน หรือยาพ่น แต่ผลการตอบสนองยังสู้แบบฉีดไม่ได้ เพราะฉะนั้นเด็กที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 1 จะต้องอยู่กับยาฉีดตั้งแต่เริ่มป่วยจนตลอดชีพของเด็ก ซึ่ง ต้องมีการฉีดยาก่อนทานอาหารทุกมื้อ นอกจากนี้ก่อนนอนก็ต้องใช้ฮอร์โมนอินซูลินเพื่อประคับประคองไม่ให้น้ำตาลสูงขึ้น ดังนั้นเด็กจะต้องฉีดยาวันละ 4 ครั้ง

                      อย่างไรก็ตามโรคเบาหวานในเด็กเป็นภาวการณ์เจ็บป่วยที่มีผลกระทบต่อสุขภาพองค์รวมของเด็กและครอบครัว          อย่างยิ่ง ที่สำคัญการดูแลเด็กป่วยเบาหวานมีความแตกต่างจากผู้ใหญ่ เด็กป่วยเบาหวานนอกจากจะต้องการการแก้ไขปัญหาสุขภาพกาย เด็กป่วยเบาหวานยังต้องการการแก้ปัญหาด้านจิตใจ ซึ่งรวมถึงการเจริญเติบโตและพัฒนาการตามวัย การลดความวิตกกังวลทั้งเด็กป่วยและครอบครัว การดูแลทางด้านสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปรับตัวให้เข้ากับเพื่อน การเรียนหนังสือได้ตามปกติของเด็กป่วย และครอบครัวสามารถดำเนินชีวิตได้ในสังคมตามปกติ


เด็กเป็นเบาหวานได้จริงหรือ ? thaihealth


สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) อยากให้ทุกคนมีสุขภาพดี แนะนำให้ทุกคนรับประทานอาหารในสัดส่วน 2 : 1 : 1 ซึ่งประกอบไปด้วย ผัก 2 ส่วน เนื้อสัตว์ 1 ส่วน และ แป้ง 1 ส่วน และปฏิบัติตามหลัก 3 อ 2 ส ได้แก่ อาหาร ออกกำลังกาย อารมณ์  ไม่สูบบุหรี่ และไม่ดื่มสุรา เพียงเท่านี้ก็จะสามารถลดความเสี่ยงจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรังได้อย่างแน่นอน


 

Shares:
QR Code :
QR Code