เด็กอ้วน น่ารักจริงหรือ?
เรื่องโดย : กิดานัล กังแฮ Team Content www.thaihealth.or.th
ข้อมูลจาก : งานแถลงข่าว “เด็กไทยดูดี 4.0 : ปิดเทอมนี้ อย่าปล่อยให้เด็กอ้วน ชวนพ่อแม่ปฏิวัติตู้เย็น” จัดโดย สสส. ร่วมกับ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษากรุงเทพมหานคร (สพป.กทม.)
เจ้าหนูจ้ำม่ำ ยิ้มทีตาหยี เดินอุ้ยอ้าย ใครเห็นเป็นต้องเกิดอาการ มันเขี้ยว อยากเข้าไปฟัด ไปกอด แต่รู้หรือไม่ว่า ความน่ารักนั้นแฝงไว้ด้วยโรคร้ายที่พร้อมทำลายสุขภาพและเป็นอุปสรรคในการใช้ชีวิตในอนาคตได้
เด็กอ้วน น่ารักจริงหรือ? ประเด็นที่ถูกพูดถึงโดย ผศ. พญ.หทัยกาญจน์ นิมิตพงษ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญต่อมไร้ท่อและเมแทบอลิซึม โรงพยาบาลรามาธิบดี ในงานแถลงข่าว “เด็กไทยดูดี 4.0 : ปิดเทอมนี้ อย่าปล่อยให้เด็กอ้วน ชวนพ่อแม่ปฏิวัติตู้เย็น” จัดโดย สสส. ร่วมกับ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษากรุงเทพมหานคร (สพป.กทม.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันปฏิวัติช่วงปิดเทอมของเด็กไทยให้เจริญเติบโตแข็งแรงสมวัยห่างไกลโรคอ้วน
ผศ. พญ.หทัยกาญจน์ ให้ข้อมูลว่า ไทยเป็นประเทศที่มีอัตราโรคอ้วนในเด็กเพิ่มขึ้นมากที่สุด โดยช่วง 5 ปีที่ผ่านมามีเด็กก่อนวัยเรียนอ้วนเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 35 เด็กอายุระหว่าง 6-13 ปี อ้วนเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.5 พื้นที่กรุงเทพมหานคร มีเด็กอ้วนมากที่สุดและที่สำคัญเด็กเหล่านี้จะเติบโตมาเป็นผู้ใหญ่ที่อ้วนถึงร้อยละ 80
ปัจจัยพื้นฐานที่ทำให้เด็กอ้วนเพิ่มขึ้นในปัจจุบันคือ เรื่องอาหารการกินที่มีมากมาย เข้าถึงได้ง่ายจากร้านสะดวกซื้อ หรือรถเข็นข้างทางที่ล้วนแล้วแต่เป็นอาหารพลังงานสูง และวิถีชีวิตที่ไม่มีกิจกรรมทางกาย บวกกับค่านิยมเป็นต้นว่า ‘เด็กอ้วนคือ เด็กน่ารัก’ หรือมีอันจะกิน รู้ตัวอีกทีก็กลายเป็นการบริโภคที่ร้ายสุขภาพ ขณะที่ข้อมูลจากการประชุม มหกรรมแสดงผลงานวิชาการด้านโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง NCDs Forum 2018 ระบุว่า 3 ใน 4 ของเด็กอ้วนเกิดจากพฤติกรรมการบริโภค และการขาดกิจกรรมทางกาย มีเพียง 1 ใน 4 เท่านั้นที่เกิดจากกรรมพันธุ์
เมื่อเด็กอ้วน นำไปสู่อะไรบ้าง?
ผศ. พญ.หทัยกาญจน์ อธิบายว่า เซลล์ไขมันในคนอ้วนจะแตกต่างกับคนที่ไม่อ้วน เนื่องจากขนาดตัวของคนอ้วนมีการขยายใหญ่กว่าคนปกติส่งผลต่อกระบวนการสร้างสารต้านการอักเสบลดลง ทำให้ร่างกายเกิดการอักเสบได้ง่าย เส้นเลือดมีการตีบตัน เกิดภาวะดื้ออินซูลิน และมีโรคต่าง ๆ ตามมา โดยเฉพาะโรคในกลุ่ม NCDs
10 ผลเสีย ของโรคอ้วนในเด็ก
1. ระบบกระดูกและข้อ เช่น ปวดหลัง ขาโก่ง เดินไม่สวย ปวดข้ออักเสบ .
2. ระบบหัวใจและหลอดเลือด คือ โรคหัวใจ กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ปัจจุบันพบคนเป็นโรคนี้ในคนที่อายุน้อยลงเรื่อย ๆ จากเดิม 50 – 70 ปี เหลือเพียง 30 กว่าปีเท่านั้น
3. ระบบทางเดินหายใจ คือ ภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ
4. ระบบทางเดินอาหารและโรคตับ เช่น ไขมันพอกตับ
5. ระบบต่อมไร้ท่อและเมตาบอลิซึม เช่น การเกิดโรคเบาหวานชนิดที่สอง เกิดไขมันเลวมาก ไขมันดีลดลง
6. กลุ่มอาการเมตาบอลิก เช่น ภาวะอ้วนลงพุง โรคไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง โรคเบาหวานชนิดที่สอง โรคความจำเสื่อม โรคมะเร็ง โรคถุงน้ำในรังไข่ เป็นต้น
7. ความผิดปกติทางผิวหนัง เช่น บริเวณรักแร้ ขาหนีบ เกิดผื่นคันใต้ร่มผ้า เชื้อราได้ง่าย
8. ด้านจิตใจและสังคม เช่น โรคซึมเศร้า เครียด ไม่กล้าแสดงออก
9. ความเสี่ยงต่อการเติบโตเป็นผู้ใหญ่โรคอ้วน
10. มะเร็ง เช่น มะเร็งตับ ไต มะเร็งเต้านม มะเร็งมดลูก มะเร็งตับอ่อน เป็นต้น
ช่วงปิดเทอมเป็นช่วงเวลาที่เด็กมีเวลาว่างมากกว่าปกติ ในขณะที่พ่อแม่ต้องไปทำงาน ดังนั้นการเตรียมอาหารครบ 5 หมู่ให้ลูกอิ่มครบ 3 มื้อจะลดพฤติกรรมกินจุบจิบลงได้ รวมถึงชวนกันปฏิวัติตู้เย็นด้วยการไม่ให้มีน้ำหวาน หรือน้ำอัดลม เปลี่ยนเป็นน้ำผลไม้ หรือนมจืด และน้ำเปล่า เปลี่ยนขนมเป็นผลไม้ หรือขนมธัญพืชแทน ซึ่งการควบคุมอาหารอาจจะมีการควบคุมสลับกับการให้กินขนมปกติได้บ้างเพื่อให้ลูกไม่รู้สึกว่าถูกบังคับมากเกินไป
ส่วนสำคัญที่จะทำให้เด็กมีสุขภาพแข็งแรงห่างไกลโรคอ้วนคือ การมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพออย่างน้อยวันละ 1 ชั่วโมง และพ่อแม่สามารถร่วมทำกิจกรรมกับลูก หรือการชวนมาตั้งเป้าหมายร่วมกัน เมื่อเด็กทำได้ก็ควรมีการชื่นชม สนับสนุนเป็นระยะ ๆ จะทำให้เกิดความภาคภูมิใจ เกิดเป็นการปฏิบัติจนเป็นนิสัยต่อไป เพราะการทำให้เด็กมีภูมิคุ้มกันทางจิตใจ สามารถสู้กับสิ่งเร้ารอบตัวได้
สำหรับพ่อแม่ที่กำลังมองหากิจกรรมช่วงปิดเทอมให้แก่ลูก ปีนี้ทาง สสส. ได้เปิดช่องทางดี ๆ ที่สามารถเข้าไปค้นหาสามารถเลือกเข้าร่วมกิจกรรมสร้างสรรค์ ที่มีอยู่ทั่วประเทศไทย ผ่านทาง www.ปิดเทอมสร้างสรรค์.com Facebook: Happyschoolbreak และ Twitter: pidterm
“ปิดเทอมนี้ช่วยกันปฏิวัติ เพื่อสุขภาพที่แข็งแรงของลูกๆ กันนะคะ!”