เด็กอ้วนนอนกรนเสี่ยงทางเดินหายใจอุดกั้น
อาการนอนกรนเป็นอาการหนึ่งของภาวะที่เรียกว่าภาวะทางเดินหายใจอุดกั้นและหยุดหายใจขณะหลับ ซึ่งพบว่าในเด็กอ้วนพ่อแม่มักพามาปรึกษาเรื่องอาการนอนกรนอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งอาการนอนกรนในเด็กจะสามารถพบได้ทั้งเด็กปกติและเด็กอ้วน แต่ในเด็กอ้วนจะพบบ่อยกว่าและมีอาการตั้งแต่ระดับปานกลางถึงรุนแรง
น.พ.สุรณัฐ แก้วณิมีย์ ชมรมโภชนาการเด็กแห่งประเทศไทย กล่าวว่า จากโครงการเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน ในชุดโครงการ “รวมพลัง ขยับกาย สร้างสังคมไทย ไร้พุง” เครือข่ายคนไทยไร้พุง ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เรื่อง “เด็กอ้วนนอนกรน” อาการนอนกรนเป็นอาการหนึ่งของภาวะที่เรียกว่าภาวะทางเดินหายใจอุดกั้นและหยุดหายใจขณะหลับ ซึ่งหมายถึงการไม่มีอากาศไหลผ่านทางเดินหายใจส่วนบน หรือหยุดหายใจ ร่วมกับมีภาวะพร่องของระดับออกซิเจนในเลือด มีการนอนที่ผิดปกติเกิดขึ้นในขณะที่นอนหลับ ในคนที่สุขภาพแข็งแรงทั่วไปจะพบได้ 3-12% ในจำนวนนี้ 1-3% จะมีภาวะทางเดินหายใจอุดกั้นและหยุดหายใจขณะหลับเกิดขึ้น
น.พ.สุรณัฐ กล่าวว่า อาการที่เป็นผลสืบเนื่องจากการนอนหลับไม่เพียงพอ เช่น ตื่นมาปวดศีรษะในตอนเช้า คลื่นไส้หรืออาเจียน ง่วงหลับผิดปกติในเวลากลางวัน อ่อนเพลีย ส่วนเด็กวัยเรียนอาจส่งผลต่อการทำงานของสมองและการเรียนรู้จดจำ เช่น สมาธิสั้น ความจำไม่ดี มีผลการเรียนไม่ดี ในบางรายอาจมีอาการคล้ายโรคซนอยู่ไม่นิ่งร่วมกับสมาธิสั้น มีพฤติกรรมก้าวร้าวและแยกตัวออกจากสังคม เด็กที่ไม่ได้รับการรักษามักมีลักษณะอ้าปากหายใจ เสียงขึ้นจมูก ในรายที่รุนแรงจะส่งผลให้การเจริญเติบโตช้า ซึ่งพบว่าในเด็กอ้วนพ่อแม่มักพามาปรึกษาเรื่องอาการนอนกรนอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งอาการนอนกรนในเด็กจะสามารถพบได้ทั้งเด็กปกติและเด็กอ้วน แต่ในเด็กอ้วนจะพบบ่อยกว่าและมีอาการตั้งแต่ระดับปานกลางถึงรุนแรง
“เมื่อเด็กนอนกรน หรือมีภาวะทางเดินหายใจอุดกั้นระหว่างหลับ จะมีอาการแทรกซ้อนและโรคที่พบร่วมได้คือ การง่วงหลับในเวลากลางวันมากผิดปกติ สมองมีความบกพร่องด้านการเรียนรู้จดจำ ปัญหาพฤติกรรม ส่งผลกระทบต่อการเรียน การทำงาน และคุณภาพชีวิต และยังเพิ่มความเสี่ยงในอนาคตของโรค เช่น ความดันโลหิตสูง การทำงานของหัวใจผิดปกติ กล้ามเนื้อผนังหัวใจหนาตัวผิดปกติ ผนังหลอดเลือดแข็งตัวและความยืดหยุ่นลดลง และสุดท้ายยังทำให้เกิดโรคในกลุ่มอาการเมตาบอลิก ได้แก่ โรคเบาหวาน ไขมันในเลือดผิดปกติ และความดันโลหิตสูง” น.พ.สุรณัฐ กล่าว
น.พ.สุรณัฐ กล่าวต่อว่า การรักษาที่สำคัญที่สุดคือการควบคุมและลดน้ำหนัก ร่วมกับการรักษาภาวะอุดกั้นทางเดินหายใจ หากมีต่อมทอนซิลหรือต่อมอะดีนอยด์โต แพทย์จะเป็นผู้ประเมินว่าจำเป็นต้องรับการรักษาด้วยการผ่าตัดต่อมทอนซิล หรือต่อมอะดีนอยด์ร่วมด้วยหรือไม่ ในบางรายอาจจำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจเวลานอน ทั้งนี้ การควบคุมและลดน้ำหนักที่ปลอดภัยในเด็ก คือ การจัดอาหารและจำกัดพลังงานอย่างเหมาะสม การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ การจำกัดพลังงาน ควรได้รับการดูแลโดยนักโภชนาการหรือกุมารแพทย์ และโรคอ้วนยังปัญหาและมีโรคแทรกซ้อนที่สำคัญและส่งผลกระทบต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตของเด็กอย่างมาก ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้การดูแลรักษาเด็กที่มีโรคอ้วนประสบความสำเร็จคือการให้ความสำคัญและความร่วมมือของผู้เลี้ยงดูเด็กและครอบครัว และต้องเริ่มตั้งแต่การให้โภชนาการที่เหมาะสมในหญิงตั้งครรภ์ จึงจะสามารถลดอุบัติการณ์ของโรคอ้วนลงได้
ที่มา : เว็บไซต์บ้านเมือง
ภาพประกอบจกอินเทอร์เน็ต