เด็กรับควันมือสอง-เสี่ยงสูบในอนาคต
มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ เผยในเวทีเสวนา”บ้านเราปลอดบุหรี่ ลดความเสี่ยงการติดบุหรี่ของลูก” วัยรุ่นที่ได้รับควันบุหรี่มือสองมีโอกาสเสี่ยงที่จะติดบุหรี่มากกว่าวัยรุ่นที่ไม่ได้รับควันบุหรี่
ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวในการเสวนาเรื่อง “บ้านเราปลอดบุหรี่ ลดความเสี่ยงการติดบุหรี่ของลูก” ว่า รายงานการวิจัยตีพิมพ์ในปี 2554 ระบุว่า ทั่วโลกมีผู้ไม่สูบบุหรี่ที่เสียชีวิตจากการได้รับควันบุหรี่ที่ผู้อื่นสูบ 6 แสนคน ในปี 2547 ในจำนวนนี้เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ 165,000 คน ที่เสียชีวิตจากการติดเชื้อในปอด ที่เหลือเป็นผู้ใหญ่ เพศหญิง 281,000 คน เพศชาย 156,000 คน และระบุว่า วัยรุ่นที่ได้รับควันบุหรี่มือสองในบ้านมีความเสี่ยงที่จะติดบุหรี่มากกว่าวัยรุ่นที่ไม่ได้รับควันบุหรี่
รศ.บุปผา ศิริรัศมี สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะหัวหน้าโครงการติดตามผลกระทบจากนโยบายควบคุมการบริโภคยาสูบ (ประเทศไทย) กล่าวว่า จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างวัยรุ่น 1,000 คนทั่วประเทศ ต่อเนื่องระหว่างปี 2548-2554 พบว่า มีกติกาห้ามสูบบุหรี่ในบ้านเพิ่มขึ้น จากร้อยละ 27 ในปี 2548 เป็นร้อยละ 68 ในปี 2554 ซึ่งการวิเคราะห์ข้อมูลในปี 2554 พบว่าบ้านที่มีการห้ามสูบบุหรี่มีสัดส่วนวัยรุ่นไม่สูบบุหรี่สูงกว่าวัยรุ่นที่สูบบุหรี่ ร้อยละ 84 ต่อ ร้อยละ 16 ส่วนบ้านที่ไม่มีข้อห้ามสูบบุหรี่ในบ้าน มีสัดส่วนของวัยรุ่นไม่สูบบุหรี่ต่ำกว่าวัยรุ่นที่สูบบุหรี่เล็กน้อย นอกจากนี้ พบว่าวัยรุ่นจากครอบครัวที่ห้ามสูบบุหรี่ในบ้าน ระบุว่า ในอนาคตจะไม่สูบบุหรี่ ร้อยละ 79 ส่วนวัยรุ่นจากครอบครัวที่บ้านไม่มีข้อห้าม คิดว่าในอนาคตจะไม่สูบบุหรี่เพียงร้อยละ 40
ศ.คลินิก (พิเศษ) พญ.มุกดา หวังวีรวงศ์ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี (รพ.เด็ก) กล่าวว่า จากผลสำรวจความคิดเห็นเรื่องบุหรี่ของพ่อแม่ผู้ปกครอง 658 ตัวอย่าง เมื่อปี 2551 พบว่า พ่อแม่ผู้ปกครองมีอัตราการสูบบุหรี่ ร้อยละ 63.4 โดยร้อยละ 82 มีการสูบหรี่ในบ้าน ขณะที่ร้อยละ 35 เคยเห็นบุตรหลานเลียนแบบท่าสูบบุหรี่ ที่สำคัญมีพ่อแม่ผู้ปกครองไม่ถึงครึ่งหนึ่งที่รู้ว่า โรคต่างๆ ในเด็กเกี่ยวข้องกับการได้รับควันบุหรี่มือสอง เช่น หืดจับบ่อยขึ้น เป็นหวัดบ่อย หูน้ำหนวก ไหลตาย และการที่สมาชิกในบ้านที่สูบบุหรี่อุ้มเด็ก เล่นกับเด็กอย่างใกล้ชิด ทำให้เด็กมีความเสี่ยงต่อการป่วยด้วยโรคหายใจส่วนล่างเพิ่มขึ้น 3.82 เท่า
ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน