“เด็กรักษ์ป่าชายเลน” บ้านบางลา
แนวทางอนุรักษ์ฐานทรัพยากรอาหารชุมชน
“โครงการความมั่นคงทางด้านอาหารชุมชนชายฝั่งอ่าวพังงา” โดย “แผนงานฐานทรัพยากรอาหาร” จึงเกิดขึ้นโดยมียุทธศาสตร์และการทำงานร่วมกับ ชุมชนเพื่อรักษาฐานทรัพยากรป่าชายเลนและชายฝั่ง ในฐานะแหล่งอาหารและแหล่งผลิตอาหารของชุมชน ในพื้นที่ของจังหวัดพังงา และจังหวัดภูเก็ตด้วยการสนับสนุนของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.)
นายอรุณ บำรุงนา ประธานกลุ่มอนุรักษ์ป่าชายเลนบ้านบางลา กล่าวว่าป่าชายเลนผืนนี้เปรียบเสมือนครัวของหมู่บ้านบางลาและหมู่บ้านใกล้เคียง ในเวลาว่างชาวบ้านก็ลงไปทอดแหหากุ้งหาปลา ไม่ต้องไปซื้ออาหารจากตลาด จึงต้องการปกป้องป่าผืนนี้เอาไว้เพราะเป็นฐานทรัพยากรอาหารของชุมชนหลายชนิดๆ ทั้งหอยปากหนา หอยกัน ปูดำ ปูม้า ซึ่งป่าผืนนี้เปรียบเสมือนหม้อข้าวใบใหญ่ที่สามารถใช้ประโยชน์จากทรัพยากรป่าชายเลนมาหล่อเลี้ยงครอบครัว
แต่ถ้าเราไม่ออกมาปกป้องและปล่อยให้เป็นของนายทุนเราก็คงจะหมดสิทธิ์ที่จะใช้ประโยชน์ ที่สำคัญป่าชายเลนผืนนี้ยังเป็นปอดใบใหญ่ของเราด้วย โดยตอนที่เกิดสึนามิ ป่าแห่งนี้ยังช่วยป้องกันคลื่นลมได้เป็นอย่างดี”
ตั้งแต่ปี 2536 ถึงปัจจุบันเป็นเวลากว่า 20 ปีที่พวกเราร่วมแรงกันในการปกป้องป่าชายเลนผืนนี้เอาไว้ และเราก็มาสรุปกันว่า พวกเราทำกันมาตั้งนานจนอายุมากแล้วนะ แล้วก็ยังต้องมาเฝ้าดูอีก ก็เลยเกิดความคิดว่าน่าจะสร้างทายาทขึ้นมาโดยให้ลูกหลานเด็กและเยาวชนในหมู่บ้าน ซึ่งมีการศึกษาเรียนหนังสือสูงกว่ารุ่นพ่อและรุ่นแม่ มาเข้าร่วมโครงการฯ ให้พวกเขาได้มาเรียนรู้ถึงกระบวนการการต่อสู้ กระบวนการการรักษาป่า ว่าประโยชน์ของป่ามันมีอะไรบ้าง และการใช้ประโยชน์จากผืนป่าแห่งนี้ นายอรุณระบุ
“ขบวนการเด็กรักษ์ป่าชายเลน” จึงเกิดขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่สืบสานเจตนารมณ์ของชุมชนในการปกป้องผืนป่าชายเลนบ้านบางลาที่มีเนื้อที่กว่า 1,200 ไร่ ให้ปลอดภัยจากการบุกรุกของนายทุน และเป็นแหล่งทรัพยากรอาหารของชุมชนบ้านบางลาและชุมชนใกล้เคียง
โดยเยาวชนทั้ง 50 คน จะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันเข้ามาดูแลรักษาผืนที่ป่าส่วนหนึ่งที่พวกเขาร่วมกันปรับปรุงพัฒนาขึ้นเป็นเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติเพื่อถ่ายทอดความรู้ไปสู่คนอื่นๆ
นางลำไย สะยาคะ สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลป่าคลอก บอกว่าเรื่องป่าชายเลนมีความสำคัญมากเพราะว่ากำลังจะหมดไปจากการบุกรุก จึงอยากชวนลูกหลานๆ เข้ามาป้องกันอนุรักษ์เอาไว้ เพราะชาวบ้านไม่อยากให้ผืนป่าแห่งนี้ตกไปอยู่ในมือของนายทุนอยากให้เป็นสมบัติของลูกหลานเพื่อใช้ประโยชน์ในอนาคต จึงเข้ามาร่วมกันช่วยปกป้อง ซึ่งทาง อบต.ก็ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้โดยสนับสนุนพันธุ์กล้าไม้ป่าชายเลน และงบประมาณในการใช้ทำกิจกรรมต่างๆ ของชุมชน
“กิจกรรมนี้ไม่ได้แค่เรื่องของการปลูกป่าเพียงอย่างเดียว การที่เด็กๆ ได้มาอยู่ร่วมกันนอกจากจะได้รับความรู้ในเรื่องของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแล้วยังได้เรียนรู้ถึงประเพณีของชุมชน และเกิดความสามัคคีจากการทำกิจกรรมร่วมกัน เช่นค้นหาพันธุ์หอยพื้นบ้าน” นางลำไย กล่าว
นางสาวพัชรินทร์ คาหาปะนะ นักเรียนชั้น ม.5 โรงเรียนวีรสตรีอนุสรณ์แกนนำขบวนการฯ เล่าถึงกิจกรรมในการดูแลรักษาป่าชายเลนว่า จะเข้ามาดูอย่างน้อยอาทิตย์ละครั้ง หรือเวลาที่ปิดเทอมก็จะรวมกลุ่มกันเข้ามาทำกิจกรรมปลูกป่า ปล่อยหอย และทำเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติ
“หอยที่เรานำมาปล่อยคือ หอยกัน เพราะว่าหอยชนิดนี้มันเริ่มที่จะสูญพันธุ์ไปแล้วในพื้นที่ของเรา ก็นำจากที่อื่นมาปล่อยเพื่อให้มันขยายพันธุ์ เมื่อมันโตเราก็สามารถที่จะเก็บหอยในนี้ไปขายได้ เพื่อเพิ่มรายได้ของกลุ่มเด็กและเยาวชน โดยเอาเงินที่ได้ไปทำกิจกรรมด้านการอนุรักษ์ต่อ”แกนนำสาวกล่าว
นายวัชรินทร์ แสงมณี นักเรียนชั้น ม.5 โรงเรียนเมืองถลางกล่าวเสริมว่า สำหรับพื้นที่ป่าที่ไกลๆ ออกไป นานๆ ครั้งผู้ใหญ่ก็จะพานั่งเรือออกไปสำรวจ แต่ในช่วงปิดเทอมก็จะนัดกันเข้ามาทำงานในพื้นที่ ศึกษาต้นไม้แต่ละชนิดในป่าว่าชื่ออะไร มีสรรพคุณอะไร มีการจดบันทึกรวบรวมเก็บไว้
ประโยชน์ของป่าชายเลนก็เหมือนกับแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำมีสารอาหารต่างๆ ให้ปลาเล็กได้เข้ามากินอาหาร และออกไปเติบโตในทะเลนอก ทำให้คนในชุมชนที่มีอาชีพประมงไปจับมาขาย มากินภายในบ้าน โดยไม่ต้องไปพึ่งคนอื่น และป่าชายเลนก็เป็นที่กำบังลมกำบังพายุให้เราด้วย ตอนสึนามิก็โดนไม่มาก เพราะป่าชายเลนช่วยลดขนาดคลื่นให้มีขนาดเล็กลง ความเสียหายก็เลยมี น้อยมากิ แกนนำหนุ่มระบุ
นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้จัดการแผนงานฐานทรัพยากรอาหาร สสส. เปิดเผยว่า ป่าชายเลนที่บ้านบางลา อยู่ในระบบนิเวศน์เดียวกันที่เรียกว่าระบบนิเวศน์อ่าวพังงา พื้นที่แถบนี้เป็นระบบนิเวศน์ที่มีความสำคัญในระดับประเทศ มีพื้นที่ป่าชายเลนประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ป่าชายเลนทั้งหมดของประเทศ ในช่วง 5-10 ปีที่ผ่านมามีนายทุนบุกรุกเข้ามาทำนากุ้ง และกว้านซื้อที่ดินเพื่อเปลี่ยนสภาพป่าชายเลนเป็นรีสอร์ท และสร้างท่าจอดเรือ ทำให้แหล่งอาหารที่ชาวบ้านเคยได้มาโดยธรรมชาติหรือได้มาโดยง่ายก็เปลี่ยนไปจึงต้องมีวิธีการฟื้นฟูระบบเหล่านี้ขึ้นมาใหม่เริ่มตั้งแต่ตัวฐานทรัพยากร ตั้งแต่ ดิน น้ำ ป่าไม้ ป่าชายเลนทั้งหลาย ให้ความหลากหลายทางชีวภาพฟื้นขึ้นมา
“ในช่วง 2-3 ปีที่ได้ทำงานเรื่องนี้ในพื้นที่ของจังหวัดพังงาและภูเก็ตเห็นได้ว่าเรื่องการอนุรักษ์ฐานทรัพยากรอาหารได้ขยายจากชุมชนไปสู่ชุมชน กลายเป็นเครือข่าย ไม่ได้เป็นแค่พื้นที่แค่ 2 ชุมชนเฉพาะที่พังงาและภูเก็ตเท่านั้น แต่ยังเชื่อมโยงไปยังพื้นที่อื่นๆ ชุมชนใกล้เคียงอื่นๆอีก โดยในปี 2553 ทางแผนงานฯ จะพยายามสร้างเครือข่ายให้เกิดขึ้นในพื้นที่โดยใช้ชุมชนตรงนี้ให้เป็นพื้นที่ต้นแบบ เป็นศูนย์เรียนรู้ มีการจัดการความรู้ มีการขยายเครือข่ายจากชาวบ้านไปเชื่อมโยงกับกลุ่มผู้บริโภค กลุ่มคนชั้นกลางที่อยู่ในเมือง องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น เพื่อขยายเครือข่ายไปสู่ในระดับจังหวัดต่อไป” ผู้จัดการแผนงานฐานทรัพยากรอาหาร กล่าวสรุป
ที่มา: หนังสือพิมพ์พิมพ์ไทย
update: 22-10-09
อัพเดทเนื้อหาโดย: ภราดร เดชสาร