เด็กพิการเรียนไหนดี? สร้างโอกาสสู่อาชีพในฝัน
เรื่องโดย จุติพร วรรณศิริ Team Content www.thaihealth.or.th
ข้อมูลจาก งาน “เด็กพิการเรียนไหนดี ปี 66”
ภาพโดย ปารมี ขันธ์แก้ว Team Content www.thaihealth.or.th และแฟ้มภาพ
แม้ว่าคนพิการนั้น จะพิการเพียงแค่ร่างกาย แต่หัวใจของพวกเขาเหล่านี้ก็ปกติเหมือนคนทั่วไป ที่อยากเรียน และอยากมีอาชีพเช่นเดียวกับคนอื่น ๆ พ่อแม่ที่มีลูกเป็นเด็กพิเศษ หรือพิการทางด้านต่าง ๆ มักจะกังวลกับการหาที่เรียนให้ลูกเมื่อจบแต่ละช่วงชั้นว่าจะไปศึกษาต่อที่ไหนได้บ้าง หากให้ลูกเรียนต่อไปศักยภาพก็คงไม่ถึง เด็กเหล่านี้ส่วนมากจึงจบแค่ ม.3 หรือ ม. 6 แล้วไปต่อไม่ได้ ต้องหลุดออกไปจากระบบการศึกษา แต่อย่างไรก็ตาม พ่อแม่หลายคนอดเป็นห่วงลูกไม่ได้ เมื่อต้องเข้าไปอยู่ในสังคมจะใช้ชีวิตให้มีความสุขได้อย่างไร
ปัจจุบันแม้ปัญหาเหล่านี้จะเบาบางลงไป พร้อมกับความหวังที่จะได้เห็นลูกที่ “บางคนมองว่าเป็นภาระ” กำลังจะมีอาชีพหาเลี้ยงตัวเองได้ ไม่ต่างจากคนธรรมดาทั่วไป หากได้รับโอกาสการศึกษาอย่างมีทางเลือกหลากหลายที่ชอบและมีความถนัด ด้วยเหตุนี้ สสส. จึงสานพลัง ร่วมกับ กทม. – มูลนิธิด้วยกันเพื่อคนพิการและสังคม และภาคีเครือข่าย จัดมหกรรม “เด็กพิการเรียนไหนดี’66” แนะแนวเรียนต่อ ปั้นพอร์ตสมัครเรียน เพิ่มโอกาสการเรียนรู้เด็กพิการทั่วประเทศค้นหาเส้นทางอาชีพที่ใช่ เรียนในสิ่งที่ชอบ เพื่อเป็นแนวทางให้เด็กพิการที่ต้องการศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาให้มีความมั่นใจมากขึ้น และสามารถต่อยอดไปสู่อาชีพได้อย่างมีสุขภาวะ
โดยงานนี้จัดขึ้นเมื่อวันที่ 1 พ.ย. 2565 ที่ รอยัลพารากอนฮอลล์ 1 ชั้น 5 ศูนย์การค้าสยามพารากอน กรุงเทพฯ ภายในงานได้จัด Workshop ที่ถูกออกแบบโดยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน อาทิ กิจกรรมปั้นฝัน การค้นหาเส้นทางอาชีพที่ใช่, ปั้นพอร์ต แนะแนวการทำแฟ้มสะสมผลงาน, ปั้นคำ เทคนิคการเตรียมตัวสอบข้อเขียนและสอบสัมภาษณ์เข้าเรียนต่อ ที่ร่วมกันสร้างสรรค์กิจกรรมให้ตอบโจทย์ความต้องการของคนพิการที่ต้องการเรียนต่อในระดับอุดมศึกษา และปีนี้มีความพิเศษเพิ่มเข้ามา คือ วงดนตรี ซึ่งเป็นการรวมตัวของคนพิการและคนไม่พิการ ที่ชื่นชอบการเล่นดนตรี สามารถผสมผสานเสียงเพลงร่วมกันได้อย่างลงตัวเข้ามาขับกล่อมสร้างสุขให้ทุกคนได้เป็นอย่างดี
นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. ให้ข้อมูลว่า สสส. สนับสนุนการจัดงาน “เด็กพิการเรียนไหนดี” ต่อเนื่องมา 5 ปีแล้ว โดยในปีนี้ มีมหาวิทยาลัยและหน่วยงานต่าง ๆ เข้าร่วมมากขึ้น นอกจากการเตรียมความพร้อมของเด็กพิการ ที่เข้ามาหาโอกาสในการเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัยแล้ว สสส. ยังสนับสนุนช่องทางออนไลน์ต่าง ๆ ให้กับเด็กพิการด้วยเช่นกัน เด็ก ๆ สามารถเสริชหาข้อมูลว่า มหาวิทยาลัยไหนมีความพร้อมที่จะให้โอกาสพวกเขาเหล่านี้เข้าศึกษาต่อได้บ้าง
นางภรณี กล่าวต่อไปว่า ความจริงแล้วเด็กพิการที่ต้องการเข้าเรียนต่อและมีโอกาสเข้าเรียนในระดับมหาวิทยาลัยมีมิใช่น้อย เนื่องจากอาจารย์จะสามารถสอนโดยเทคนิคเครื่องมืออุปกรณ์ต่าง ๆ และสถาบันการศึกษาพร้อมที่จะอำนวยความสะดวกในการรองรับคนพิการ เดินทางไปตามจุดต่าง ๆ เพื่อช่วยได้เรียนรู้ทัดเทียมกับเด็กทั่วไปได้ เท่ากับเป็นตอกย้ำว่าความพิการไม่ใช่ข้อจำกัดของการศึกษา และเพราะการศึกษาคือกุญแจสำคัญที่จะเปลี่ยนแปลงเพื่อสร้างอนาคตของคนพิการ
“นอกจากนี้ยังมีเพจ ชวนครุย – Let’s Grad เป็นเพจที่รุ่นพี่คนพิการที่สู้ กระทั่งสามารถเข้าเรียนในระดับอุดมศึกษาได้แล้วจะคอยให้คำแนะนำ ชี้แนะ และให้คำปรึกษาตลอดข้อมูลกับน้อง ๆ เด็กพิการที่สนใจเข้าเรียนต่อในระดับอุดมศึกษาต่อไปได้อีกด้วย จึงขอเป็นกำลังใจให้น้อง ๆ คนพิการได้ทำตามความฝันของตัวเอง ปั้นฝันให้เป็นจริงตามที่ตั้งใจ เพื่อจุดประกายให้เกิดสังคมแห่งความสุขและสังคมที่เท่าเทียมต่อไป” นางภรณี กล่าว
ดร.ดนุช ตันเทิดทิตย์ เลขานุการรัฐมนตรีว่ากระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ให้ข้อมูลว่า… ในมหาวิทยาลัยทั่วประเทศตอนนี้ ได้เปิดรับผู้พิการทุกประเภทเข้าเรียนอยู่แล้ว โดยไม่ต้องกังวลว่า จะต้องจบภายในระยะเวลาที่จำกัดของแต่ละช่วงปี เนื่องจากขณะนี้มหาวิทยาลัยมีระบบสะสมเป็นหน่วยกิต ที่เรียกว่า “ธนาคารหน่วยกิต” สามารถเรียนเป็นคอร์สสั้น ๆ 2 ปี , 6 เดือน หรือ 3 เดือน และเรียนได้ตลอดเวลา
จากการสอบถามเด็กพิการหลายคน ได้ทำอาชีพที่ใฝ่ฝันเช่นเดียวกับบุคคลทั่วไป และส่วนใหญ่ต้องการทำงานได้เท่าเทียมไม่ต่างจากเด็กปกติอื่น ๆ ซึ่งมหาวิทยาลัยจะทำให้พวกเขาเหล่านี้สามารถนำไปประกอบอาชีพได้ดังที่ฝัน ซึ่งมหาวิทยาลัยมีบทบาทสำคัญในการให้โอกาสเพื่อคนพิการจะได้เข้าศึกษา เพื่อนำความรู้ไปประกอบอาชีพ และเป็นการตอบโจทย์โลกยุคใหม่ ไม่จำเป็นต้องมีใบปริญญาตรี ก็สามารถมีอาชีพและสร้างรายได้เลี้ยงตัวเองและครอบครัวได้
เมื่อสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้สานพลังร่วมกับ กทม. – มูลนิธิด้วยกันเพื่อคนพิการและสังคม และภาคีเครือข่าย จัดมหกรรม “เด็กพิการเรียนไหนดี’66” แล้ว อยากให้ ผู้พิการทุกประเภทเข้ามา ปั้นฝัน ทดสอบให้รู้จักตนเอง พบกับคณะ และสาขาวิชาที่ใช่สำหรับตนเอง ปั้นพอร์ต นำเสนอความเป็นตัวเองในรูปแบบแฟ้มสะสมงาน (Portfolio) และ ปั้นคำ เรียนรู้เทคนิคการตอบสัมภาษณ์ การเตรียมตัว บุคลิกภาพ และการตอบคำถามอย่างมั่นใจ เชื่อว่า จะช่วยให้สามารถก้าวเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัยได้อย่างมั่นใจ ดร.ดนุช ตันเทิดทิตย์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการ อว. กล่าวแนะนำถึง 3 หลักการ ที่เป็นขั้นตอนสำคัญในการเตรียมพร้อม
“…โอกาสที่เด็กพิการจะเรียนจบถึงระดับอุดมศึกษานั้น ยากมากสำหรับพวกเขาเหล่านี้ เพราะเขาต้องต่อสู้ ฝ่าฟันอุปสรรคในการใช้ชีวิตของเขา จนกระทั่งเรียนจบในระดับมหาวิทยาลัย หลังจากเรียนจบแล้ว คนเหล่านี้ก็ต้องการโอกาสที่จะมีงานทำต่อ จึงขอความร่วมมือจากหน่วยงานและสถานประกอบการต่าง ๆ ที่จะเปิดใจต้อนรับนักศึกษาพิการที่เรียนจบแล้วให้มีโอกาสมีงานทำต่อไป…” เลขานุการรัฐมนตรีว่าการ อว. กล่าว
ปิดท้ายกันที่ นายภาณุมาศ สุขอัมพร ที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ให้ข้อมูลว่า… สำหรับ กทม. ปีนี้รับคนพิการมาทำงานตามเขตแล้ว 300 กว่าคน มีทั้งจบปริญญาและไม่จบปริญญา ก่อนหน้านั้นรับไปแล้วประมาณ 200 กว่าคน ซึ่งคนที่เรียนไม่จบสามารถเรียนที่บ้านและสอบที่บ้านได้ จบแล้วก็ขยับเงินเดือนได้เท่ากับคนที่จบปริญญา เงินเดือน 15,000 บาท เป็นต้น โดยนโยบายของผู้ว่าฯ และท่านรองผู้ว่าฯนั้น จะเน้นให้คนพิการได้ทำงานและมีรายได้เท่าเที่ยมกับบุคคลทั่วไป ซึ่งเป็นการตอบโจทย์กับเมืองหน้าอยู่ที่ประชาชน มีกิน มีใช้ มีงานทำ เพราะฉะนั้นปัจจัยนี้ คือสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง
“…ขอขอบคุณ สสส. และมูลนิธิด้วยกันเพื่อคนพิการและสังคม รวมถึงภาคีเครือข่าย ที่ได้จุดประกายสิ่งดี ๆ นี้ขึ้นมา เพื่อมอบให้คนพิการและได้แนะแนวทางการเรียน การทำงาน เพื่อให้พวกเขาสามารถนำไปต่อยอดในอนาคตและใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับสังคมได้อย่างมีความสุข” นายภาณุมาศ กล่าว
เป็นอีกผลงานหนึ่งที่ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่ายฯ มุ่งเน้นการสร้างสรรค์ให้เกิดแนวทางและการแก้ปัญหาด้วยนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาพ เพื่อให้คนพิการได้รับโอกาสทางการศึกษา มีสุขภาวะที่ดีครบทั้ง 4 ด้าน กาย จิต ปัญญา สังคม และมีงานทำ มีรายได้เลี้ยงชีพ สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างภาคภูมิใจ และเกิดการยอมรับในสังคมมากขึ้น