เด็กท้องต้องได้เรียน
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์
ภาพประกอบจาก สสส.
รู้ยัง? Rights & Needs วัยรุ่นมีสิทธิ์ตัดสินใจด้วยตัวเอง ไม่ถูกเลือกปฏิบัติ ปฏิบัติอย่างเสมอภาค บริการอนามัยเจริญพันธุ์ รักษาความลับ เข้าถึงข้อมูลข่าวสารสวัสดิการทางสังคม
กฎหมายวัยรุ่นออกมาแล้วนะ วัยรุ่นอายุเกิน 10 ปี แต่ไม่ถึง 20 ปี มีสิทธิ์ตาม พ.ร.บ.การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ.2559 ทุกคนได้เรียนเพศวิถีศึกษาที่เหมาะสมกับวัยนำไปใช้ได้จริง เมื่อตั้งท้องสามารถเรียนต่อได้โดยไม่ถูกบังคับให้หยุดพักการเรียน ขอคำปรึกษาในเรื่องสุขภาพได้อย่างมั่นใจว่าความลับจะไม่ถูกเปิดเผย ไม่ต้องอาย มีสิทธิ์ได้รับความช่วยเหลือเมื่อมีปัญหาการตั้งครรภ์ วัยรุ่นที่เป็นพ่อแม่ได้รับการสนับสนุนให้เลี้ยงดูลูกอย่างมีคุณภาพ หากมีคำถามข้อสงสัย ปรึกษาสายด่วน 1300 หรือ 1663 ทุกวัน 09.00-21.00 น. บริการให้คำปรึกษาออนไลน์ที่ lovecarestation.com
การประชุมระดับชาติ สุขภาวะทางเพศครั้งที่ 3 การตั้งครรภ์ในวัยรุ่น จากยุทธศาสตร์สู่การปฏิบัติที่ยั่งยืน Symposium 1.5:เด็กท้องต้องได้เรียน วิทยากร ดร.เศรษฐวิทย์ ภูฉายา ผู้ช่วยอธิการบดีด้านศิษย์เก่าสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จิตโสมนัส ชัยวงศ์ ผู้อำนวยการวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีนครราชสีมา อ.ภิญโญ ภูศรี ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดสังเวช สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 1 วิบูลผล พร้อมมูล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยจังหวัดนครปฐม คนิษฐ์ มีรักษ์ ผู้อำนวยการสถานศึกษาโรงเรียนวัดอุดมรังสี อินศร อุ่นใจ ตัวแทนจากกระทรวงมหาดไทย ดำเนินรายการโดย นพ.วิวัฒน์ โรจนพิทยากร คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี
นพ.วิวัฒน์ โรจนพิทยากร คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี เปิดประเด็นถึงหัวข้อเด็กท้องต้องได้เรียน แม้ไม่ได้เรียนใน รร.เดิม ขณะนี้มี รร.กศน.ให้เลือกเรียนได้ ชีวิตเหมือนเดิมทุกอย่าง เพียงแต่มีคนคอยดูแล พร้อมกับเล่าประสบการณ์ตัวเองว่า "บ้านผมยากจน ผมถูกบังคับออกจาก รร.โดยแม่บอกว่าที่บ้านไม่มีอะไรจะกิน ให้ออกมาช่วยแม่ค้าขาย 4 ปี ผมขอกลับเข้าไปเรียนหนังสือใหม่ แม่ไม่ยอม บอกว่าเสียรายได้ ต่อรองว่าขอเรียนหนังสือ กศน. แล้วเสาร์-อาทิตย์มาช่วยแม่ค้าขายเหมือนเดิม ผมถึงได้กลับมาเรียนใหม่ การเรียนเป็นการสร้างอนาคตของคนหนึ่งๆ หัวข้อเรื่องเด็กท้องต้องได้เรียน เด็กต้องอยู่ใน รร. ยกเว้นแต่มีการย้ายตามความประสงค์ของนักเรียน ไม่ใช่ความประสงค์ของครูแต่อย่างใด ครูต้องช่วยเหลือเด็กท้องให้ได้เรียน ไม่ใช่ถูกกำจัดออกไปจาก รร. ต้องไม่มองว่าเด็กเป็นผู้สร้างปัญหาให้กับ รร. ระบบจะต้องช่วยเหลือเด็กท้องเหล่านี้ด้วย"
ดร.เศรษฐวิทย์ ภูฉายา ผู้ช่วยอธิการบดีด้านศิษย์เก่าสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี กล่าวเริ่มต้นว่า "หน้าผมเหมือนแพทย์ แต่ผมจบวิศวะ วัยรุ่นจะบอกเล่าถึงปัญหาเมื่อได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจ เขาสารภาพว่าผมทำผู้หญิงท้อง เราในฐานะผู้ใหญ่ต้องสร้างความเชื่อใจให้กับเด็กจนเขาเรียนสำเร็จเป็นบัณฑิต เราต้องสร้างสุขภาวะทางการศึกษา ดูแลเด็กทั้งกายและใจ ถ้ากายดี ใจดี ก็เรียนจบ ที่นี่มีหอพัก 17 แห่ง มีนักศึกษา 7,900 คน และมีนักศึกษาอีก 5,100 คนอยู่หอนอก ทุกหอพักจะต้องมีตาสับปะรด สร้างทีมดูแลเด็กเหล่านี้ หอในจะแยกผู้ชายและผู้หญิงชัดเจน ไม่พบปัญหาเด็กท้อง แต่หอนอกทางมหาวิทยาลัยไม่สามารถเข้าไปควบคุมได้"
ที่มหาวิทยาลัยมีคลินิกวัยรุ่นส่งเสริมสุขภาพพร้อมทีม สิ่งที่เราขาดไม่ได้คือพ่อแม่ผู้ปกครองที่จะต้องเข้าใจพร้อมรับฟังปัญหาของเด็ก การให้คำปรึกษา รักษาความลับเป็นสิ่งสำคัญมากที่สุด มีการประชุมกันทุกเดือน เมื่อเจอปัญหาของเด็กท้องในวัยเรียน เด็กจะซึมเศร้า เครียดว่าจะเอาเด็กไว้หรือจะเอาเด็กออก มีการตั้งทีมเน้นการสร้างช่องทางให้เด็กกล้าที่จะเข้ามาปรึกษาเราด้วย ต้องมีการประเมินด้วยว่าเด็กมีความพร้อมที่จะเรียนหนังสือต่อหรือไม่ เท่าที่สังเกตเด็กชอบจะปรึกษาผ่าน facebook มีแพทย์หญิง 2 ท่านให้คำแนะนำ ต้องสร้างช่องทางติดต่อเพื่อให้เด็กมีความไว้เนื้อเชื่อใจ กล้าที่จะเข้าไปปรึกษา ส่วนใหญ่แล้วเด็กท้องในวัยใส ไม่ค่อยมีใครสังเกตเห็น เข้าใจว่าเด็กอ้วน เข้ามานั่งเรียนได้เป็นปกติ ผู้ใหญ่ต้องใจเย็น พูดคุยกับเด็ก มิฉะนั้นปัญหาจะหนักยิ่งไปกว่าเดิม บางครั้งผมต้องลงไปพูดคุยถึง 2 ชั่วโมงกว่าจะให้ทุกฝ่ายเข้าใจกันได้ เมื่อเข้าใจปัญหาแล้วสามารถแก้ไขปัญหาแบบองค์รวมได้
นพ.วิวัฒน์ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยสุรนารีมีบุคลากร มีคลินิกส่งต่อภายใน ถ้าไม่มีส่งต่อภายนอก มีโรงพยาบาล โรงเรียนอยู่ใกล้กันด้วย รพ.ในระดับอำเภอ รพ.ส่งเสริมสุขภาพตำบล ไม่จำเป็นต้องเป็นแพทย์เท่านั้น ทุกคนต้องได้เรียน แม้แต่เด็กท้องก็ต้องได้เรียนจนจบปริญญาด้วย รวมทั้งความต้องการของนักศึกษา สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ต้องร่วมมือกันด้วย
อ.ภิญโญ ภูศรี ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดสังเวช สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 1 กล่าวว่า เมื่อเหลียวซ้ายแลขวา วันนี้เป็นตัวแทน รร.ในสังกัดกระทรวงศึกษาขั้นพื้นฐาน ในนาม รร.มัธยมศึกษาชั้น ม.1-ม.6 ในฐานะที่มีประสบการณ์อยู่ รร.มัธยมขนาดเล็ก-ขนาดใหญ่พิเศษมาแล้ว 8 รร. อยู่กับนักเรียน 4,000 คน เรื่องการตั้งครรภ์ในวัยเรียนไม่ใช่เรื่องแปลก เราเผชิญกับเหตุการณ์นี้เรื่อยๆ สังคมให้ความสนใจ ในอดีตที่ผ่านมายอมรับอย่างตรงไปตรงมา เด็กท้องจะถูกย้ายออกจากสถานศึกษา เราได้ยินกันอยู่เนืองๆ เด็กท้องต้องได้เรียนถูกขมวดปมว่าสังคมต้องดูแลเขาด้วย
เป็นเรื่องที่น่ายินดีเมื่อ พ.ร.บ.แก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์วัยรุ่นบังคับใช้ ทำให้ รร. และสถานศึกษามีแนวปฏิบัติอย่างชัดเจน สังคมสบายใจมากยิ่งขึ้น การเฝ้าระวังป้องกัน ทุก รร.ย้ำให้นักเรียนเห็นความสำคัญเรื่องเพศ มีความเข้าใจเรื่องเพศอย่างถูกต้องและเหมาะสม สอนให้เด็กรู้จักการรักนวลสงวนตัว สอนเรื่องเพศศึกษา เพศวิถีศึกษาครอบคลุม การปรับปรุงสภาพแวดล้อมให้มีความปลอดภัย สื่อลามกอนาจาร สารเสพติด การใช้ความรุนแรง ลดปัจจัยเสี่ยงต่างๆ รร.ต้องดูแลเฝ้าระวังป้องกัน หลายครอบครัวพ่อแม่ไม่มีเวลาดูแลลูกอย่างใกล้ชิด เกิดเป็นปัญหาช่องว่าง
เด็กเดินทางไปเข้าค่ายที่ประเทศเกาหลี กลับมาเรียนต่อที่ รร. เปิดภาคเรียนเด็กท้องกับเพื่อนนักเรียนที่ไปเรียนที่เกาหลีด้วยกัน เป็น Issue ร้อนแรงมาก ผู้ปกครองร้องเรียน รร.ขีดเส้นตายจะเอาเด็กออกจาก รร. เด็กท้องต้องได้เรียนเป็นประเด็นร้อน รร.มีการแข่งขันกันสูง โดยเฉพาะคอนเซ็ปต์การบริหารจัดการกฎระเบียบของ รร. ชื่อเสียงของ รร.อยู่เหนืออื่นใด กลายเป็นข้ออ้างให้นักเรียนออกจาก รร.
ผมทำงานอยู่กับเด็กตลอดชีวิต อีก 3 ปีผมก็จะเกษียณอายุแล้ว เราพูดคุยกับครูทุก รร. ครูต้องตระหนักแต่เรื่องวิชาชีพเป็นเรื่องใหญ่ เราเป็นครู เรื่องจรรยาบรรณวิชาชีพที่เราตระหนักตลอดเวลา แต่ในขณะเดียวกันครูก็ต้องมีความรัก ความเมตตา เอาใจใส่ ช่วยเหลือ ให้กำลังใจศิษย์ อย่าได้ทำตัวเป็นปฏิปักษ์ความเจริญก้าวหน้าของศิษย์ อย่าไปตัดสินบีบคั้นให้เขาต้องออกจาก รร. เป็นการทำร้ายจิตใจอย่างรุนแรง ถามว่าจรรยาบรรณอยู่ที่ไหน? เราต้องทำด้วยใจแห่งความเป็นครู มีเมตตา สงสาร
บทบาทหน้าที่ของสถานศึกษาใน พ.ร.บ. ม.6 มีการเรียนการสอนเพศวิถีศึกษา ช่วยเหลือ คุ้มครองนักเรียนที่ตั้งครรภ์ด้วยรูปแบบที่เหมาะสม ไม่ให้ออกจากสถานศึกษา ให้รร.โอบอุ้มดูแลอย่างดี แต่ส่วนใหญ่เป็นปัญหาจากครอบครัวเด็กไม่ประสงค์ให้เด็กได้เรียนต่อ ดังนั้นจึงต้องมีการกำหนดหลักปฏิบัติ ดูแลคุ้มครองสิทธิ์เด็กตั้งครรภ์ รักษาความลับความเป็นส่วนตัว แก้ไขปัญหาอย่างละมุนละม่อม รักษาสิทธิ์ของนักเรียน ต้องไม่แยกนักเรียนออกจากเพื่อนฝูงและสถานศึกษา อย่าคิดว่าเรื่องนี้ใครเป็นคนสร้างปัญหา แต่คิดให้ไกลออกไป คิดให้ยาวว่าเกิดจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เราช่วยกันรักษาชีวิตเด็กที่ผิดพลาดได้ หาทางให้เด็กได้รับการศึกษาอย่างต่อเนื่อง อย่าให้มีการซ้ำเติมเด็กให้มีปัญหามากยิ่งขึ้นไปอีก บางคนแก้ไขปัญหาด้วยการแยกเด็กทั้งสองคนออกจากกัน ให้อยู่ต่าง รร.ด้วยการสร้างบรรยากาศสิ่งแวดล้อมใหม่ เพื่อนใหม่ เป็นการสร้างความกังวลให้อีกฝ่ายหนึ่ง
จิตโสมนัส ชัยวงศ์ ผู้อำนวยการวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีนครราชสีมา กล่าวว่า อยู่ที่ รร.แห่งนี้เป็นเวลา 15 ปี มีปัญหาเรื่องยาเสพติด เด็กท้องต้องได้เรียน ในช่วงปีแรกที่ทำงานก็เจอปัญหาเด็กตั้งครรภ์ ปีที่ 2 ก็เจอ ปีที่ 3 ก็เจออีก ปีที่ 3 กำหนดเป็นมาตรการทำงานร่วมกับสาธารณสุขจังหวัด ทำความเข้าใจเยาวชน สร้างความเข้าใจกับผู้ปกครอง "พวกเรารักลูกของท่านเหมือนลูกของเรา พร้อมที่จะช่วยดูแลเขาให้ดีที่สุด ในการประชุมครูทุกครั้งเราต้องรักลูกศิษย์ให้เหมือนลูกของเรา ยิ่งกว่าความเป็นครู"
เด็กอาชีวะติดกลุ่มเพื่อน เด็กเข้ามาอยู่ในระบบ รร.ส่วนใหญ่อยู่ที่ รร.เกือบ 24 ชั่วโมง เรียนฟรีในวิทยาลัย เชิญวิทยากรเข้ามาอบรมความรู้และคุณธรรม จะช่วยลดปัญหาการตั้งครรภ์ได้ เราต้องแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุ ครูทำหน้าที่ครูที่ปรึกษา ให้รู้ถึงที่มาของเด็กตั้งครรภ์มาจากปัญหาภายในหรือปัญหาภายนอก เด็กไปอยู่กันเองโดยที่พ่อแม่ทั้งสองฝ่ายไม่รู้ บางครั้งใช้ระบบบริหารจัดการให้เด็กได้เรียนและฝึกงาน 320 ชั่วโมง เป็นเวลา 1 เทอม เมื่อเด็กเรียนจบแล้วครอบครัวจะดูแลอย่างไร ใช้ระบบทวิภาคีทำให้เด็กมีรายได้ เพื่อจะดูแลลูกของตัวเองในวันข้างหน้าด้วย ทำให้เด็กมีคุณภาพชีวิตที่ดีด้วย เพราะบางครอบครัวพ่อแม่เป็นชาวไร่ชาวนา มีรายได้ไม่มากนัก
นพ.วิวัฒน์ กล่าวสรุปว่า ขอให้เป็นครูที่ดี ช่วยเหลือลูกศิษย์ได้แล้ว 50% ถ้าครูมองศิษย์เหมือนลูกจะช่วยลูกศิษย์ได้ 100% หวังว่าปัญหาเด็กตั้งครรภ์หากเป็นลูกเราจะได้รับการแก้ไขปัญหาอย่างไร ถ้าเป็นลูกของคนอื่นก็ควรได้รับการแก้ไขปัญหาที่คล้ายคลึงกันด้วย
อินศร อุ่นใจ ตัวแทนจากกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทยจัดการศึกษาสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกระจาย 7,851 แห่ง ไม่รวม กทม. รร.ในสังกัด อบจ. เทศบาล อบต. ปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นเป็นเรื่องสำคัญ เด็กดีก็เป็นอนาคตของชาติ ทุกองคาพยพต้องช่วยกันดูแล การจัดการศึกษา ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กกระจายอยู่ทั่วทุกหัวระแหงใน 76 จังหวัด เด็กอายุเกินกว่า 10 ปีเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของชีวิต เรามีสภาเด็กและเยาวชน มีเครือข่ายทำงานเชื่อมโยงในการดูแลให้กับท้องถิ่น กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นจัดทำแผนพัฒนาเยาวชน หาทางป้องกันมิให้มีการตั้งครรภ์ในวัยเรียน ในระบบโรงเรียน มีกองการศึกษา กองสาธารณสุข มีการถ่ายโอนการศึกษาสังกัดเทศบาล สังกัด อบจ. สังกัด อบต.
คนิษฐ์ มีรักษ์ ผู้อำนวยการสถานศึกษาโรงเรียนวัดอุดมรังสี กล่าวว่า รร.สังกัด กทม.437 รร. สอนระดับปฐมวัย-ม.6 ขณะนี้ สสส.เพิ่มข้อมูลเกี่ยวกับเพศวิถี ปัญหาเด็กท้องไม่พร้อม เนื่องจากความประมาทคิดว่าไม่เป็นไร บางครั้งก็มีปัญหาถูกทำร้ายด้วยวิธีใดก็ตาม เมื่อเกิดปัญหาขึ้นมาเด็กเกิดวิตกจริตว่าจะได้เรียนต่อหรือไม่ มีการวัดผลการเรียน "ไม่มีใครอยากให้เด็กท้องใน รร. เราเป็นครูบาอาจารย์รู้สึกเจ็บปวดในหัวใจ เด็กบอกแม่ว่าหนูหมดสิทธิ์เรียน ผู้บริหาร รร.ต้องใจกว้างพอ ไม่ขับไล่ไสส่งเด็กออกจากระบบ รร. เด็กท้องไม่ต้องมาเรียน แต่ไม่หยุดเรียนด้วยการ Take Home ทำไมนักกีฬาทีมชาติเรียนจบได้โดยไม่ต้องเข้าห้องเรียน เด็กท้องเพื่อเตรียมตัวรอคลอดก็ควรได้รับสิทธิ์เพื่อเรียนจบได้ เด็กเหล่านี้มีอนาคต คนที่ทำให้เด็กท้องเป็นเพื่อนนักเรียนด้วยกัน บางคนเป็น Messenger เด็กบางคนเป็นเด็กที่อพยพตามพ่อแม่มาอยู่ด้วย มีปัญหาหนี้นอกระบบ"
อ.วิบูลผล พร้อมมูล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยจังหวัดนครปฐม กล่าวว่า รร.กศน.รอรับเด็กที่อยู่ในวัยที่มาเรียนได้ เป็นเส้นทางสุดท้ายที่เด็กจะเลือกได้ เรามีครูเป็นจำนวนน้อย สำนักงาน กศน.เป็นผู้ให้นโยบายทุกพื้นที่ เรารับเด็กที่ท้องเข้ามาเรียนเยอะมาก ผู้บริหาร กศน.อ.เมื่อ 13 ปีก่อนเป็นผู้บริหาร กศน.จว. ทำเรื่องเพศวิถีปี 2546 ช่วยเหลือด้านการศึกษา เป็นการทำงานโดยตลอด เมื่อซักประวัติเด็กท้องส่วนใหญ่ไม่ใช่เป็นเด็กเกเร ส่วนใหญ่เป็นเด็กเรียนเก่งเรียนดีกันมาก่อน แต่ก็เป็นที่สงสัยว่าทำไมเด็กถึงท้อง เด็กบางคนยังไม่รู้ว่าตัวเองท้อง ปิดกลอนประตูขังตัวเองอยู่ข้างในห้อง เด็กร้องไห้ตลอด ถ้ามาหาหมอช้าอีกนิดทั้งแม่และเด็กไม่รอดชีวิต เด็กคนนี้เรียนเก่งที่สุดในห้องเรียน ในช่วงที่เด็กท้อง หลายคนเข้ามาเรียน กศน. ครูก็ช่วยเลี้ยงลูกให้ด้วย เมื่อคลอดแล้วก็เอาลูกมาเลี้ยงใน รร. เด็กๆ ด้วยกันเห็นความยากลำบากของคนเป็นแม่ เป็นบทเรียนที่เด็กในวัยเรียนด้วยกันรู้สึกได้ว่าไม่ควรท้องในวัยเรียน เพราะชีวิตลำบากมาก
ขณะนี้สำนักงาน กศน.ได้จัดทำหลักสูตรต่างๆ เกี่ยวกับเพศศึกษาเพื่อขยายผล หลักสูตรครอบครัวอบอุ่น เราไม่อยากให้เด็กวัยรุ่นท้อง เมื่อเกิดปัญหา พ่อแม่ให้อภัย แต่ลูกก็ต้องเดินต่อได้ด้วยตัวเอง จากหลักสูตรนี้พ่อแม่ที่มาเรียนก็มีบทบาทช่วยเลี้ยงหลานเป็นอย่างดี เป็นการแบ่งเบาภาระได้อย่างดี การที่พ่อแม่ไม่เปิดใจต่อปัญหานี้ย่อมส่งผลให้เด็กท้องต้องออกจาก รร.ไปอย่างน่าเสียดาย
ศาสตราจารย์แพทย์หญิงสุวรรณา เรืองกาญจนเศรษฐ์ คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะรองประธานอนุกรรมการที่ปรึกษาทำงานร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวแสดงความคิดเห็นว่า เมื่อครั้งที่ ดร.คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา เป็นปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ด้วยคีย์เวิร์ดที่ว่า "เด็กคืออนาคตของชาติ เราจะให้เด็กได้เรียน การที่เด็กท้อง ลูกของเขาจะเป็นอย่างไร พ่อแม่แก่เฒ่าใครจะเลี้ยงดู ขอให้ครูและผู้บริหารสถานศึกษาคิดว่าเด็กเหล่านี้เป็นลูกของเรา เด็กท้องต้องได้เรียน คนเราจะมีความสุขได้ก็เพราะรู้จักเห็นอกเห็นใจคนอื่น การที่เด็กท้องไม่ได้เป็นตัวอย่างที่ดีให้กับคนอื่นทำตาม มีงานวิจัยรวบรวมไว้อย่างชัดเจนว่า รร.ในประเทศแคนาดา สหรัฐ อนุญาตให้เด็กท้องเข้าเรียน ปรากฏว่า รร.เหล่านั้นมีเด็กท้องน้อยกว่า รร.อื่นๆ เพราะเห็นตัวอย่างแล้ว"
ทุกวันนี้หมอที่ รพ.รามาธิบดี หมอ 1 คนดูแลเด็ก 40 คน ดังนั้นต้องสร้างเครือข่ายให้กับเยาวชนด้วย เด็ก 1 คนจะถูกดูแลโดยพ่อแม่ ครู เพื่อน หมอ การทำงานเป็นเครือข่าย เปิดมุมมองกว้างขวาง อย่าทำงานตามลำพัง อย่าหวังว่าคนอื่นจะทำงานแทนเราด้วย สนับสนุนให้มีคลินิกใน ร.ร. 1 รร. 1 รพ. คลินิกวัยรุ่นใน รร.ดูแลเด็กทุกคนได้อย่างประทับใจ สอนให้เด็กที่ยังไม่มีเพศสัมพันธ์รู้จักใช้คำปฏิเสธ No ในการมีเพศสัมพันธ์
ตัวเลขเด็กเริ่มมีเซ็กซ์ตั้งแต่ชั้น ม.2 บาง รร.เด็กมีเซ็กซ์ชั้น ม.5 จำนวน 50% เราต้องทำให้เด็กมีเซ็กซ์แล้วสอน Safe Sex มีแฟนต้องรู้จักการป้องกันการท้อง ถ้าท้องแล้วทำอย่างไรจะยุติการตั้งครรภ์หรือเลือกที่จะท้องต่อ ครูก็ต้องรู้จักเครือข่ายที่จะช่วยเหลือเด็กเหล่านี้ด้วย ถ้าท้องเด็กต้องได้เรียน และต้องขยายทัศนคติเหล่านี้ต่อไปด้วย มีสถิติเด็กท้องอายุต่ำกว่า 15 ปี จำนวน 3,700 คน เด็กอายุ 15-19 ปี จำนวน 7 หมื่นคน ยังมีตัวเลขที่ไม่ได้เปิดเผยอีก 7-8 หมื่นคน
เด็กท้องต้องได้เรียนท่ามกลางสังคมที่กดดัน เด็กเรียนได้ดี แต่ถ้าเด็กไม่พร้อมที่จะเรียนก็สามารถดัดแปลงได้ด้วยการให้ครูสั่งการบ้านไปทำที่บ้าน ครูจัดเวลาไปคุมสอนที่บ้านด้วย เป็นระบบที่ดีมาก ปัญหาทุกวันนี้อยู่ที่ทัศนคติของครู การศึกษาจะช่วยให้เด็กมีอนาคตได้ แต่ยังมีเด็กอีกจำนวนหนึ่งที่ถูกบีบให้ออกจากระบบ รร.เมื่อท้อง ส่วนหนึ่งอยู่บ้านเลี้ยงลูก
นพ.วิวัฒน์ กล่าวสรุปว่า ในปีหนึ่งๆ เด็กท้องจำนวนกว่า 7 หมื่นคน จำนวนครึ่งหนึ่งเป็นเด็กที่ยังเรียนหนังสืออยู่ใน รร.ที่สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ (จำนวน 3-4 หมื่นคน) จำนวนเด็กท้องลดลง 1.2 แสนคน เด็ก 70% เลือกท้องต่อและคลอดลูก เด็กส่วนหนึ่งออกจาก รร.ไม่ทราบสาเหตุ อีก 30% เลือกยุติการตั้งครรภ์ เด็กที่อายุเกิน 15 ปี ส่วนใหญ่จบ ม.3 ไปเรียนในระดับ ปวช.
ทำอย่างไรให้เด็กตั้งครรภ์เรียนต่อจนจบการศึกษา ครูบางคนเห็นเด็กท้องทำเนียนๆ ทำอย่างไรให้เด็กลาออก ถ้าอยู่ต่อจะมีปัญหา ถ้าเด็กลาออกเองไม่ผิด บางครั้งมีวิธีการพูดจาบางอย่างที่ทำให้เด็กตกใจและอับอายไม่กล้ามาเรียน ตามระบบถ้าเด็กไม่มาเรียน 14 วันก็คัดชื่อออก เด็กกลุ่มหนึ่งเลือกที่จะปรึกษาอาจารย์ บางกลุ่มปรึกษาเพื่อนแนะนำให้ไปทำแท้ง บางกลุ่มเลือกไปเรียนหลักสูตร กศน. เราอยากเห็นรูปแบบที่เหมาะสมเป็นรายบุคคลด้วย