เด็กติดจอ ครอบครัว คือตัวแปรสำคัญ

ที่มา : สยามรัฐ


เด็กติดจอ ครอบครัว คือตัวแปรสำคัญ thaihealth


แฟ้มภาพ


จากการสำรวจสถานะการใช้สื่อของเด็กอังกฤษ เปรียบเทียบปี 2015 กับ 2019 พบว่า อัตราการดูรายการโทรทัศน์ของเด็กไม่ได้น้อยลง เพียงแต่ดูผ่านอุปกรณ์อื่น อย่างแท็บเล็ต สมาร์ทโฟน เมื่อเข้าสู่วัยรุ่นจะดูผ่านสมาร์ทโฟนมากขึ้น ส่วนเด็กไทยพบว่า ไม่แตกต่างเพราะฉะนั้น ครอบครัวควรที่จะมีบทบาทสำคัญในการสร้างสมดุลระหว่างโลกจริงและหน้าจอ


เมื่อเร็วๆ นี้ ศูนย์การเรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) มีการเสวนาสาธารณะ "The Art Screen Time-หน้าจอ-โลกจริง : สมดุลใหม่ของครอบครัวยุคดิจิทัล" ภายใต้โครงการขับเคลื่อนความรู้ด้านการสร้างเสริมสุขภาวะเด็กและครอบครัว และการพัฒนาศักยภาพเยาวชน สสส. ร่วมกับ สำนักพิมพ์ bookscape


น.ส.ณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็กเยาวชน และครอบครัว สสส. กล่าวในโอกาสนี้ว่า โครงการนี้ดำเนินการเป็นปีที่ 2 โดยคัดเลือกหนังสือด้านการพัฒนาเด็กเยาวชน และครอบครัวที่เขียนโดยมีการรวบรวมข้อมูลเชิงวิชาการจากงานวิจัยที่น่าเชื่อถือ เพื่อเป็นองค์ความรู้ที่นำมาตอบโจทย์ชีวิตครอบครัวยุคดิจิทัลที่ต้องเผชิญประเด็นปัญหาใหม่ๆ หลากหลายรูปแบบ ซึ่งในครั้งนี้ หยิบยกประเด็นการใช้หน้าจออย่างสมดุล เพราะหลายครอบครัวมีคำถามว่า ควรให้ลูกใช้หน้าจอเมื่อไหร่ แค่ไหน อย่างไร


ซึ่ง สสส.สนับสนุนโครงการด้านเด็กและครอบครัวในระดับชุมชน ทำให้พบว่าครอบครัวจำนวนมากในทุกพื้นที่มีปัญหาในเรื่องการใช้หน้าจอของลูกหลานและยังหาทางออกที่เหมาะสมไม่ได้ ซึ่งข้อสรุปของการเสวนาในครั้งนี้ จะช่วยให้แต่ละครอบครัวสามารถนำไปประกอบการตัดสินใจเป็นทางเลือก เพื่อให้มีชีวิตที่มีสุขภาวะในสังคมยุคดิจิทัลอย่างรู้รอดปลอดภัยและมีสุขภาวะในครอบครัว


ในวงเสวนา ดร.นำชัย ชีววิวรรธน์ ผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์สื่อและผลิตภัณฑ์ สำนักงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ให้มุมมองต่อหน้าจอที่ทำให้เด็กติดเกมว่า เรื่องเด็กติดเกม มีความเชื่อหรือความจริงบางอย่าง ว่าเด็กติดเกมมากขึ้น ส่วนตัวจึงมีความพยายามหาคำตอบ ด้วยการไปค้นงานวิจัยของมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ของสหรัฐอเมริกา ที่เป็นการทบทวนและรวบรวมงานวิจัยเกี่ยวกับเด็กติดเกมทั่วโลกระหว่าง ปี 1998 -2016 พบว่าอยู่ที่ 4.7%ในช่วง 2 ทศวรรษนี้ตัวเลขไม่เปลี่ยนแปลง ซึ่งงานวิจัยนี้ให้ข้อมูลสิ่งที่น่าจะทำให้เด็กติดมากขึ้น เช่น เทคโนโลยีดีขึ้น เกมสมจริงมากขึ้น มีอุปกรณ์ชวนเข้าไปเล่นมากขึ้น และโอกาสการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตมากขึ้น


ขณะที่ เข็มพร วิรุณราพันธ์ ผู้จัดการสถาบันสื่อเด็กและเยาวชน (สสย.) สะท้อนว่า จากการสำรวจเด็กปฐมวัยพันกว่าคนในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่เป็นชุมชนชนบทห่างไกลนั้นอินเตอร์เน็ตยังเข้าไม่ถึง ไม่เสถียรยังดูโทรทัศน์เป็นส่วนใหญ่ ในส่วนโทรศัพท์จะใช้ดูยูทูบ โดยพ่อแม่ไม่วิตกกังวลว่าโทรศัพม์จะมีผลกระทบทางลบ แต่เชื่อว่าทำให้เด็กฉลาดและเก่งเรื่องเทคโนโลยี ทำให้พ่อแม่ไม่ได้คัดกรองว่าเด็กเข้าถึงรายการไหนในยูทูบ


"ถ้าพ่อแม่ ปู่ย่าตายายไม่เข้าใจคิดว่าการเลี้ยงเด็กด้วยมือถือแล้วฉลาด ก็อาจจะละลายการส่งเสริมให้เด็กใช้ชีวิตสมดุลกับวัยตามธรรมชาติ ซึ่งวัยเด็กเล็กควรได้เล่นกับเพื่อน สัมผัสชีวิตจริง ซึ่งผู้ใหญ่ต้องเข้ามามีส่วนร่วมในเรื่องการใช้สมาร์ทโฟนหรือใช้สื่อกับเด็กด้วยก็จะทำให้การใช้สื่อมีประโยชน์มากขึ้น ขณะเดียวกัน ปัจจุบันคนทุกวัยกำลังอยู่กับสื่อและใช้เวลากับมันมากขึ้น รวมถึงเด็ก ดังนั้น คนทั้งสังคมต้องร่วมกันสร้างเป็นวัฒนธรรมการใช้สื่อแบบใหม่ของสังคมไทย เพราะกลายเป็นชีวิตไปแล้ว" เข็มพรกล่าว


สำหรับคำแนะนำในการใช้สื่อของเด็ก ดร.วิลาสินี พิพิธกุล  ผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) กล่าวว่า พ่อแม่ไม่ควรที่จะปฏิเสธการใช้สื่อของเด็กอย่างสิ้นเชิง รวมถึงไม่ควรปล่อยตามใจ แต่พ่อแม่จะต้องทำหน้าที่เป็นนักจัดการสื่อ ไม่ใช่คนควบคุม กำกับ หรือบังคับให้ลูกเล่นหรือไม่ให้เล่น การคัดเลือกเนื้อหาไม่สำคัญเท่ากับการรู้จักสร้างปฏิสัมพันธ์ในการใช้สื่อ เพราะจะทำให้เกิดความรู้สึกเข้าอกเข้าใจทำให้เด็กไม่ลุกขึ้นมาใช้ความรุนแรง ดังนั้น การสร้างสมดุลในการใช้จะเป็นสิ่งสำคัญมากกว่าการห้ามเด็ดขาด หรือการปล่อยอิสระขณะเดียวกันหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรมีกลไกหนุนเสริมการเป็นนักจัดการสื่อที่ดีให้กับพ่อแม่และครู


เด็กติดจอ ครอบครัว คือตัวแปรสำคัญ thaihealth


เช่นเดียวกับ ผศ.พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร กุมารแพทย์เวชศาสตร์วัยรุ่น โรงพยาบาลรามาธิบดี และเจ้าของเพจ เลี้ยงลูกนอกบ้าน กล่าวว่าต้องยอมรับว่าสื่อมีผลกระทบทั้งเชิงบวกและลบ มีงานวิจัยจำนวนมากที่พูดถึงผลกระทบจากหน้าจอ เช่น ปัญหาวิตกกังวล ซึมเศร้า ภาวะอ้วน  ความสัมพันธ์ในครอบครัว ซึ่งทั้งเด็กและผู้ใหญ่มีโอกาสที่จะได้รับผลกระทบจากการติดจอเกิดขึ้นได้ เพียงแต่เด็กจะมีโอกาสความเสี่ยงมากกว่า หากไม่มีการเข้าไปแก้ปัญหาจะกลายเป็นผู้ใหญ่ที่ติดจอและเลิกยากมากกว่า


"ในโลกปัจจุบันเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงหน้าจอไม่ได้ แต่จะต้องอยู่กับมันอย่างเป็นมิตร ระมัดระวังในเรื่องของเนื้อหา ระยะเวลาที่ใช้งานหน้าจอไม่มากจนเกินไปหรือปิดกั้นมากเกินไป โดยที่ต้องสร้างสัมพันธ์ระหว่างโลกจริงกับโลกในหน้าจอ เพราะโลกจริงสามารถใช้ประโชน์จากหน้าจอได้ เช่น พ่อแม่สามารถใช้หน้าจอเพื่อการเรียนรู้และเข้าใจร่วมไปกับลูกได้มากมาย ไม่อยากให้มีอคติมองการใช้หน้าจอเป็นยาพิษ หรือคิดว่ามีประโยชน์มหาศาลจนขาดการใช้อย่างระมัดระวัง" ผศ.พญ.จิราภรณ์กล่าว


 

Shares:
QR Code :
QR Code