เด็กดอยกินดีกายดี หนุนพัฒนาการร่างกายและสมอง
ที่มา : เว็บไซต์สยามรัฐ
แฟ้มภาพ
การออกกำลังกายเป็นสิ่งสำคัญ ในการพัฒนาร่างกายของเด็กให้แข็งแรง อย่างไรก็ตามเด็กๆ ตามดอยสูงต่างจังหวัด ยังขาดโอกาสทั้งด้านโภชนาการและกิจกรรมทางกาย จึงมีการจัดโครงการเด็กดอยกินดีกายดี เพื่อส่งเสริมสุขภาวะของเด็ก
พลันที่เสียงเพลง “เด็กดอยกายดี” ดังขึ้นเด็กๆ ที่ยินเรียงแถวต่างพากันขยับร่างกายด้วยท่าเต้นสอดคล้องกันอย่างคล่องแคล่วสนุกสนาน “ออกกำลังกาย รับเช้าวันใหม่ รอยยิ้มสดใส ร่างกายแข็งแรง ห่างไกลโรคภัยแทรกแซง ร่างกายแข็งแรง ชวนกันมา ขยับ ขยับ ขยับ ขยับ ขยับ ขยับ ขยับ ขยับ..” จังหวะเร้าใจของบทเพลงทำให้บรรยากาศยามเช้าของเด็กๆ ก่อนเข้าชั้นเรียนในโรงเรียนบ้านแจมป๋อง อำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย ชวนให้คึกคักเป็นอย่างยิ่ง
เพลงเด็กดอยกายดีนี้ มูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา (พชภ.) จัดทำขึ้นเพื่อส่งเสริมให้เด็กนักเรียนทั้ง 33 โรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการเด็กดอยกายดีหรือที่มีชื่อเต็มๆ ว่า “โครงการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย เพื่อสังคมสุขภาวะพื้นที่จังหวัดเชียงราย” ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ขยับร่างกายด้วยท่วงท่าต่างๆ แล้วแต่ความชอบของเด็กๆ
นางจุฑามาศ ราชประสิทธิ์ ผู้จัดการโครงการฯ กล่าวว่า ได้มีการสำรวจพฤติกรรมการบริโภคของเด็กๆพบว่า 48% นิยมกินขนมกรุบกรอบและน้ำอัดก๊าซ ขณะที่การเคลื่อนไหวทางร่างกายก็น้อยลงอย่างมากเนื่องจากบริบทของชุมชนที่แตกต่างจากในอดีต ในอดีตเด็กๆ เดิน วิ่ง หรือปั่นจักรยานไปโรงเรียน แต่ปัจจุบันผู้ปกครองต่างขับรถยนต์หรือมอเตอร์ไซไปส่ง การเคลื่อนไหวทางกายลดลงมาก และเด็กๆ จำนวนไม่น้อยตกอยู่ในสภาพเนือยนิ่ง ดังนั้น พชภ.จึงต้องการส่งเสริมให้เด็กๆ เหล่านี้ได้ขยับร่างกายมากขึ้น
“การใช้โทรศัพท์มือถือก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่น่าเป็นห่วง เพราะเด็กๆ จำนวนไม่น้อยใช้เวลานานอยู่กับการเล่นเกมออนไลน์ พวกเขาต้องนั่งนิ่งๆ อยู่เป็นเวลานานเพราะใจจดจ่ออยู่กับการใช้โทรศัพท์ สิ่งเหล่านี้ไม่เป็นผลดีต่อการพัฒนาร่างกายของเด็กๆ เลย เราจึงต้องการรณรงค์ให้มีการขยับร่างกายมากขึ้น”
โรงเรียนบ้านแจมป๋อมมีนักเรียนราว 50 คน ตั้งแต่ชั้นอนุบาลจนถึง ป.6 โดยคำขวัญของโรงเรียนระบุว่า “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” ทำให้เห็นรอยยิ้มและเสียงหัวเราะของเด็กๆ อยู่ตลอดเวลา เพราะไม่ต้องคร่ำเคร่งอยู่กับการเรียน
“เด็กๆ เขาได้เลี้ยงไก่กันเอง ไก่ออกไข่ทุกวันและกลายเป็นอาหารกลางวันของพวกเขา บางช่วงก็มีผักที่เด็กๆช่วยกันปลูก เด็กนักเรียนที่นี่ชอบกินผักเพราะเราปรับปรุงเมนูดัดแปลงผักมาทำอาหารในรูปแบบต่างๆ เสมอ” นายอุดม ผลดี ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านแจมป๋อง อธิบายวิธีการส่งเสริมให้เด็กๆ มีกายดีทั้งในเรื่องอาหารการกินและการออกกำลังกาย
เช่นเดียวกับเด็กนักเรียนโรงเรียนทุ่งคำและโรงเรียนปางหัดสหศาสตร์ ที่ต่างช่วยกันออกแบบท่าเต้นประกอบเพลงเด็กดอยกายดีกันอย่างสนุกสนาน
เด็กนักเรียนของอำเภอเวียงแก่นประกอบด้วยหลายชาติพันธุ์ ทั้งม้ง อิวเมี่ยน ขมุ เย้าและคนท้องถิ่น กลายเป็นสังคมพหุวัฒนธรรมที่น่าสนใจ เด็กๆ หลายคนนำเอาท่วงท่ารำของชนเผ่ามาประยุกต์ใช้ในการออกแบบท่าเคลื่อนไหว เพิ่มสีสันและความสนุกยิ่งๆ ขึ้นไป
“พวกเราอยู่ชมรมเดียวกัน เราช่วยกันคิดท่าเต้นขึ้นมา และซ้อมด้วยกัน บางวันก็กลับไปซ้อมที่หมู่บ้าน เพราะเราอยู่หมู่บ้านเดียวกัน ทุกๆ เช้าจะมีการเต้นขยับร่างกายก่อนเข้าชั้นเรียน สนุกดี แถมยังทำให้เรามีความมั่นใจในตัวเองมากขึ้น บางครั้งเราก็เอาท่ารำของชาติพันธุ์มาผสมผสาน” สาวน้อยเชื้อสายเย้าของโรงเรียนทุ่งคำอธิบายกิจวัตรในทุกเช้าอันคึกคัก
“การเข้าร่วมโครงการของ พชภ.ช่วยกระตุ้นให้ทั้งครูและเด็กนักเรียนได้เห็นคุณค่าของการออกกำลังกาย โรงเรียนของเรามีนโยบาย 1 ดนตรี 1 กีฬา คือให้ทุกๆ คนเล่นเครื่องดนตรี 1 ชิ้น และเล่นกีฬา 1 อย่าง เราอยากให้ทุกคนมีสุขภาพแข็งแรง” ครูไมตรี ยาละ ผู้อำนวยการโรงเรียนปางหัดสหศาสตร์ กล่าว
สภาพแวดล้อมและเงื่อนไขต่างๆ ในวิถีชีวิตของชาวบ้านในชนบทปัจจุบันแตกต่างจากอดีตมาก โทรศัพท์มือถือเข้ามามีบทบาทสำคัญ กลายเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับเด็กและเยาวชน เช่นเดียวกับอาหารการกินที่พึ่งพาร้านสะดวกซื้อกันมากขึ้นโดยไม่รู้ที่มาที่ไปของอาหารชิ้นนั้น ทำให้สถานการณ์ของเด็กและเยาวชนไทยน่าเป็นห่วงยิ่ง โดยเฉพาะด้านพัฒนาการของร่างกายและสมอง
วันนี้เด็กกลุ่มเล็กๆ ในเขตชายแดนของจังหวัดเชียงราย ได้ร่วมกันลุกยืนสู้กระแสเชี่ยวกราดของสังคมสมัยใหม่ เพื่อปกป้องตนเองและชุมชนให้หลุดพ้นจากลัทธิบริโภคนิยม เชื่อว่าอีกไม่นานพวกเขาจะสามารถก้าวเดินทวนกระแสนี้เพื่อสู่ทิศทาง “เด็กดอยกินดีกายดี”