เด็กซึมซับ ‘ละครทีวี’ ข่มขืน-โป๊
ระบุการแต่งโป๊ วาบหวิว พบเห็นมากถึง 53.6 เปอร์เซ็นต์
เอแบคโพลล์เปิดผลสำรวจทีวีไทย เจอแต่ภาพหวิว กอดจูบ ข่มขืน ใช้คำหยาบคายแทบทุกวัน เด็กตั้งแต่ 2 ขวบถึง 19 ปีนั่งเฝ้าหน้าจอยันเที่ยงคืน บอกอยากเป็นพระเอกจะได้ข่มขืนคนอื่นได้ ส่วนเด็กหญิงอยากแต่งตัวเซ็กซี่เหมือนพี่อั้ม-หยาด-เป้ย ร้องกรมประชา-นายกฯ แก้ด่วน
ที่โรงแรมเอเชียวันที่ 29 เมษายนนี้ มูลนิธิเครือข่ายครอบครัวแถลง “เฝ้าระวังสื่อร้ายทำลายเด็ก” โดยนายนพดล กรรณิกา หัวหน้าศูนย์เครือข่ายวิชาการเพื่อสังเกตการณ์และวิจัยความสุขชุมชน มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (ศูนย์วิจัยความสุขชุมชน) กล่าวว่า การสำรวจศึกษาอิทธิพลของการชมรายการโทรทัศน์กับพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ในกลุ่มคนดู ศึกษาเด็ก เยาวชน และประชาชนอายุ 2-6 ขวบ, 7-12 ปี, 13-19 ปี และอายุ 20 ปีขึ้นไป ใน กทม.และจังหวัดหัวเมืองใหญ่ของประเทศ จำนวน 2,159 ตัวอย่าง พบการดูโทรทัศน์เป็นกิจกรรมยามว่างที่คนส่วนใหญ่ทำมากที่สุด 55.4% รองลงมา 8.5% ดูซีดี/วิดีโอ โดย 72.4% บอกว่า 30 วันที่ผ่านมา ดูทีวีทุกวันหรือเกือบทุกวันเฉลี่ยตั้งแต่เย็นจนถึงเที่ยงคืน ซึ่งช่อง 3 เป็นช่องที่กลุ่มตัวอย่างดูมากที่สุด ทั้งรายการข่าว ละคร วาไรตี้
นายนพดลกล่าวว่า กลุ่มตัวอย่างระบุว่าการแต่งตัวโป๊ วาบหวิว คือสิ่งที่เห็นมากที่สุด 53.6%, เห็นการกอดจูบถึง 42.8% การทำร้ายร่างกาย 39.2% เห็นพฤติกรรมข่มขืนในละคร และข่าวข่มขืน 34.3% เกือบ 30% เจอการใช้คำหยาบคายด่าว่ากัน และการโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พบภาพสูบบุหรี่-ดื่มเหล้า ประมาณ 27.7% ซึ่ง 1 ใน 4 เจอแต่ภาพโฆษณาที่ใช้ความรุนแรง ช่องที่กลุ่มตัวอย่างเห็นว่ามีรายการสร้างสรรค์มากกว่าไม่สร้างสรรค์คือ ช่อง9
เมื่อถามถึงการจัดระดับรายการทีวี (เรตติ้ง) มีเพียง 23.8% ที่บอกว่าเชื่อถือได้ 67.8% บอกว่าเชื่อได้บางรายการ นอกจากนี้ กลุ่มตัวอย่าง 74.5% ไม่ชอบฉากข่มขืน, 66.9% ไม่ชอบฉากกอดจูบกัน, 69.6% ไม่ชอบการใช้คำด่ากันรุนแรง, 68.9% ไม่ชอบภาพการทำร้ายร่างกายกัน แต่ 3 เดือนที่ผ่านมาได้เห็นภาพที่ไม่ชอบถี่มาก เช่น ตบตี 38.8% ข่มขืน ล่วงเกินทางเพศ 32.7% ซึ่ง 34.7% บอกว่าเห็นทุกวันหรือเกือบทุกวัน
“ที่น่าห่วงคือเด็ก 2-6 ปี 10.3% เด็ก 7-12 ปี 6.4% เด็ก 13-19 ปี 21.1% ชอบฉากข่มขืนมากถึงมากที่สุด เด็ก 2-6 ปี 10.9% เด็ก 7-12 ปี 19.9% เด็ก 13-19 ปี 20.2% รวมถึงคนอายุ 20 ขึ้นไป จึงบอกว่าการข่มขืนเป็นเรื่องธรรมดาของสังคมที่ยอมรับได้ และเด็กๆ บางส่วนบอกว่าอยากเป็นพระเอกจะได้ข่มขืนคนอื่นได้ ซึ่งเด็ก 2-19 ปี เกิน 1 ใน 4 อยากแต่งตัวเซ็กซี่อย่าง พัชราภา ไชยเชื้อ หยาดทิพย์ ราชปาล ปานวาด เหมมณี ทั้งนี้ 36.6% ยอมรับว่าภาพความรุนแรงจะทำให้เยาวชนเลียนแบบ และการโฆษณาขนมกรุบกรอบที่มีของแจกของแถม 75.8% บอกว่าจะทำให้เด็กซื้อขนมมากขึ้น โดย 58.2% คิดว่ามีโฆษณาขนมในรายการเด็กมากไป” นายนพดลกล่าว
ในส่วนของการแก้ไขความไม่เหมาะสมต่างๆ ในจอทีวี 56.7% เห็นควรให้มีหน่วยงานภาครัฐร่วมกับผู้บริหารสถานีมาควบคุมรายการ ซึ่ง 44.8% เห็นว่ากรมประชาสัมพันธ์ควรมาดูแลอย่างเร่งด่วน ตามด้วย 39.4% คือรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องมาจัดการ อีก 38.5% อยากให้นายกฯ มาดูแล โดย 72.5% ยังไม่เห็นผลงานการแก้ปัญหาเด็กและเยาวชนของรัฐบาล 80.3% จึงยังไม่พอใจ
นพ.สุริยเดว ทรีปาตี หัวหน้าคลินิกวัยรุ่น สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กล่าวว่า โทรทัศน์เป็นสื่อสำคัญเข้าถึงคนทุกกลุ่มและมีอิทธิพลสูงต่อเด็ก เด็กอายุน้อยกว่า 2 ปี ไม่ควรดูทีวีหรือคอมพิวเตอร์ เพราะมีผลต่อพัฒนาการทำให้พูดช้า ก้าวร้าว หากเด็กได้รับสื่อไม่เหมาะสมต่อเนื่อง ผลวิจัยจากกุมารแพทย์ทั่วโลกชี้ชัดว่า เด็กจะมีพฤติกรรมดังนี้ 1.ชอบใช้ความรุนแรงโต้ตอบ 2.รู้สึกหวาดกลัวสังคม 3.รู้สึกเคยชินกับความรุนแรง กับสิ่งที่ไม่เหมาะสมที่ได้เห็น 4.ความเมตตาอยากช่วยคนอื่นลดลง 5.เกิดพฤติกรรมเลียนแบบ ทั้งความคิดการกระทำ คำพูด การแต่งกาย
“ผมอยากวอนให้ผู้ผลิต ผู้จัดรายการ ช่วยเหลือสังคมด้วย รายการหรือละครที่มีความรุนแรงควรออกอากาศหลัง 4 ทุ่ม และควรทำละครน้ำเน่าที่มีคุณค่าด้วยการบอกว่าสิ่งใดถูกสิ่งใดผิด ทันทีเมื่อจบละครในตอนนั้นๆ ไม่ใช่รอจนอวสาน แล้วมาบอกว่าสุดท้ายคนไม่ดีต้องรับโทษ เพราะเด็กเลียนแบบความไม่ดีนั้นไปจนหมดแล้ว” นพ.สุริยเดว กล่าว
น.ส.ลัดดา ตั้งสุภาชัย ผอ.ศูนย์เฝ้าระวังทางวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า ประกาศการจัดระดับความเหมาะสมของรายการโทรทัศน์ (เรตติ้ง) กำหนดให้ 16.00 น.-20.30 น. เป็นรายการ ป.สำหรับเด็กปฐมวัย และ ด.สำหรับเด็ก 6-12 ปี ส่วน น.13 ออกได้ช่วง 20.30 น.เป็นต้นไป น.18 ออกได้หลัง 21.00 น. แต่เมื่อ พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 บังคับใช้วันที่ 5 มี.ค.ที่ผ่านมา โดยให้ยกเลิก พ.ร.บ.วิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ พ.ศ.2498 กรมประชาสัมพันธ์จึงทำหนังสือสอบถามไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกาว่า ประกาศฉบับดังกล่าว รวมถึงประกาศอื่นๆ ของกรมประชาสัมพันธ์ ที่เกี่ยวกับทีวี การโฆษณา การจัดเรตติ้ง มีผลบังคับใช้อยู่หรือไม่และยังไม่ได้รับคำตอบ
นางอัญญาอร พานิชพึ่งรัถ เครือข่ายครอบครัวเฝ้าระวังและสร้างสรรค์สื่อ กล่าวว่า เครือข่ายฯ ติดตามการจัดเรตติ้งของโทรทัศน์ พบช่อง 3 และช่อง 7 ไม่ปฏิบัติตามประกาศ ออกอากาศละคร น.18 คือ ก่อน 21.00 น. อาทิ สวรรค์เบี่ยง พริกไทยกับใบข้าว นางทาส ที่น่าห่วงคือเนื้อหาละครแต่ละเรื่องรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ พระเอกข่มขืนนางเอกได้ไม่ผิด มีฉากตบตีรุนแรงในละครแทบทุกเรื่อง บางคนอาจว่าไม่ใช่ปัญหา แต่เคยสังเกตบุตรหลานของตนเองหรือไม่ว่าพวกเขามีพฤติกรรมอย่างไร
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์
update 30-04-51