“เด็กจมน้ำ” ปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไข

ที่มา : เดลินิวส์


ภาพโดย สสส.



หลังปี 59 พบทั่วโลกจมน้ำเสียชีวิต 322,000 คน เอเชียนำลิ่วร้อยละ 60 เป็นเด็กมากสุด ขณะที่ไทยพร้อมชูความสำเร็จยุทธศาสตร์ชาติลดเด็กจมน้ำเหลือร้อยละ 50 ในปี 61


สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) องค์การอนามัยโลก กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข และสถาบันเรือชูชีพแห่งชาติ (RNLI) โดยมีผู้แทนจากประเทศสมาชิก WHO South-East Asia และองค์กรนานาชาติร่วมกันจัดการประชุมภูมิภาคเอเชียใต้-ตะวันออก ว่าด้วยเรื่อง "การป้องกันการจมน้ำ" (SEA Regional Meeting on Drowning Prevention)


สำหรับการประชุมครั้งนี้เพื่อเพิ่มความตระหนักและสร้างเสริมการดำเนินงานที่สอดประสานกันเรื่องการป้องกัน "การจมน้ำ" ในภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก รวมทั้งเสริมสร้างความเข้มแข็งของการดำเนินงานเพื่อป้องกันโศกนาฏกรรมทางสังคม



ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุน สสส. เปิดเผยว่า เด็กกลุ่มอายุ 5-9 ปี ถือเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการจมน้ำเสียชีวิตมากที่สุด เพราะธรรมชาติวัยนี้ชอบเรียนรู้สิ่งรอบตัว สสส. จึงดำเนินโครงการเพื่อป้องกันและลดอัตราการเสียชีวิตจากการจมน้ำ การทำงานได้เชื่อมประสานระหว่างโรงเรียน ภาคีที่เกี่ยวข้องทั้งชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานรัฐในพื้นที่ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ การแก้ปัญหาให้ได้ผล ทุกภาคส่วนของสังคมต้องร่วมมือกันขับเคลื่อนนโยบายอย่างเป็นรูปธรรม


"สสส.สนับสนุนให้ศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก โรงพยาบาลรามาธิบดี พัฒนากล่องชุดความรู้ 5 ทักษะ ความปลอดภัยทางน้ำ เป็นเครื่องมือสนับสนุนให้ ครูช่วยเรื่องการเรียนการสอน 5 ทักษะ ความปลอดภัยทางน้ำที่สามารถสอนผ่านกิจกรรมเกมที่ทุกฝ่ายสามารถนำไปต่อยอดได้" ดร.สุปรีดา กล่าว


จากสถิติพบว่า "การจมน้ำ" เป็นสาเหตุการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรเป็นอันดับ 1 ในเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ถือเป็นปัญหาสาธารณสุขที่กระทบต่อคุณภาพชีวิต ทางกระทรวงสาธารณสุขจึงกำหนดมาตรการ ป้องกันอย่างจริงจังในช่วงกว่า 10 ปีที่ผ่านมา กระทั่งลดเด็กจมน้ำเสียชีวิตจากปีละ 1,500 คน เหลือ 681 คน ในปี 2561 ผลการลดอัตราการตายลงได้ร้อยละ 50 นี้



การดำเนินการที่มีประสิทธิภาพจนสามารถลดตัวเลขเด็กจมน้ำได้นั้น มาจากการกำหนดแผนป้องกันการจมน้ำอย่างบูรณาการในแต่ละกระทรวง เช่น แผนฉุกเฉินอุบัติเหตุทางน้ำ แผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ แผนนโยบายโลกที่เหมาะสมสำหรับเด็ก แผนยุทธศาสตร์ชาติ (ด้านสาธารณสุข) ระยะ 20 ปี และทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามแผนอย่างจริงจังและต่อเนื่อง


อย่างไรก็ตามที่ประชุมต่างเห็นพ้องกันว่าปัญหาการจมน้ำเสียชีวิตทำให้เกิดความสูญเสียทั้งสุขภาพ เศรษฐกิจและสังคม แต่ประชาชนยังตระหนักต่อปัญหาน้อยเมื่อเทียบกับผลกระทบ จากสถิติพบว่า ในปี 2559 มีผู้เสียชีวิตเพราะการจมน้ำทั่วโลกถึง 322,000 คน โดยเฉพาะการเสียชีวิตเกิดในเด็กซึ่งเป็นอนาคตของสังคม ดังนั้นการป้องกันการจมน้ำ จึงต้องร่วมกันทุกฝ่าย ที่ต้องร่วมกันปันองค์ความรู้และความชำนาญด้านการช่วยชีวิตคน เพื่อสนับสนุนให้การป้องกันการจมน้ำถูกยกระดับเป็นวาระสำคัญของโลก เพื่อลดหนึ่งในสาเหตุหลักการสูญเสียชีวิตของประชากร

Shares:
QR Code :
QR Code