เด็กจมน้ำปีละกว่า 1,500 คน
ผู้ปกครองเผลอปิดเทอมพ่นพิษ
ดร.พรรณสิริ กุลนาถศิริ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (รมช.สธ.) ในฐานะประธานคณะกรรมการป้องกันการจมน้ำในเด็ก กล่าวภายหลังการประชุมว่า ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา การจมน้ำเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของเด็กไทย พบปีละประมาณ 1,500 คน โดยเฉพาะฤดูร้อนและช่วงปิดเทอมใหญ่ มีนาคม-พฤษภาคม มีเด็กจมน้ำเสียชีวิตกว่า 500 คน สาเหตุส่วนใหญ่มาจากความเผลอเรอของผู้ปกครอง ความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของเด็ก ที่สำคัญยังพบว่าเด็กไทยว่ายน้ำเป็นน้อยมาก เด็ก 13 ล้านคน ว่ายน้ำเป็นเพียง 2 ล้านคน โดยเฉพาะในช่วงที่มีน้ำท่วมขัง พบว่ามีผู้เสียชีวิตจากน้ำท่วม 156 ราย ในจำนวนนี้เกือบ 1 ใน 4 เป็นเด็กต่ำกว่า 15 ปี จำนวน 35 ราย สาเหตุส่วนใหญ่มักเกิดจากการตามไปเล่นน้ำ ช่วยผู้ใหญ่หาปลา เก็บหอย
“ปี 2554 สธ.ได้กำหนดนโยบายหลักป้องกันเด็กเสียชีวิตจากการจมน้ำ 4 มาตรการ ได้แก่ 1.การจัดสอนเด็กที่อยู่ห่างไกลครอบคลุมทุกจังหวัด ให้มีทักษะการเอาตัวรอดในน้ำและการช่วยเหลือที่ถูกต้อง โดยใช้สระว่ายน้ำเคลื่อนที่หรือแหล่งน้ำธรรมชาติที่มีอยู่ในชุมชน 2.สร้างเครือข่ายอาสากู้ชีพช่วยคนจมน้ำทุกชุมชน ร่วมมือกับสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ที่มีจำนวน 83,584 คน ให้มีความรู้และทักษะช่วยเหลือคนตกน้ำ จมน้ำ ให้มีโอกาสรอดชีวิตเพิ่มขึ้น ทั้งนี้สธ.ได้เริ่มดำเนินการแก้ไขปัญหาเด็กจมน้ำตั้งแต่ปลายปี 2549 ผลการดำเนินงานพบว่า การเสียชีวิตลดลงจาก 1,482 คน ในปี 2549 ลดเหลือ 1,207 คน ในปี 2552” ดร.พรรณสิริกล่าว
นพ.มานิต ธีระตันติกานนท์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า คนไทยยังมีความเข้าใจการช่วยเหลือเด็กที่จมน้ำผิดๆ ส่วนใหญ่นิยมอุ้มพาดบ่าเพื่อให้น้ำที่ปอดออก เป็นวิธีที่ทำให้เด็กเสียชีวิตเร็วขึ้น วิธีช่วยที่ถูกต้องคือให้วางเด็กที่จมน้ำนอนราบ ตะแคงหน้าเอาน้ำออกจากปากและช่วยผายปอดด้วยการเป่าลมเข้าทางปากติดต่อกันหลายๆ ครั้งตามจังหวะการหายใจ และรีบแจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่อยู่ใกล้บ้าน หรือโทร.แจ้ง 1669 โดยเร็วที่สุด
ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน
update : 09-11-53
อัพเดทเนื้อหาโดย : สุนันทา สุขสุมิตร