เด็กกรุงป่วยมือเท้าปากเพิ่ม เร่งป้องกัน

เด็กกรุงป่วยมือเท้าปากเพิ่ม  เร่งป้องกัน thaihealth


แฟ้มภาพ


กองควบคุมโรคติดต่อ สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร พบผู้ป่วยโรคมือเท้าปากสะสมจำนวน 1,666 ราย โดยกรุงเทพฯ มีอัตราป่วยเป็นลำดับที่ 26 ของประเทศ หากมีเด็กที่เจ็บป่วยด้วยโรคดังกล่าวก็ต้องรีบแจ้งมาที่สำนักอนามัยทันที เพื่อลงพื้นที่ควบคุมสถานการณ์ 


เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม นพ.วงวัฒน์ ลิ่วลักษณ์ ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคติดต่อ สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวถึงสถานการณ์โรคมือเท้าปากในพื้นที่กรุงเทพฯ ว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-30 มิถุนายน. 2558 พบผู้ป่วยโรคมือเท้าปากสะสมจำนวน 1,666 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 29.30 รายต่อประชากรแสนคน แต่ยังไม่มีผู้เสียชีวิต โดยผู้ป่วยจำแนกตามกลุ่มอายุที่พบสูงสุดคือ 0-4 ปี คิดเป็นร้อยละ 82.83 ของผู้ป่วยทั้งหมด โดยกรุงเทพฯ มีอัตราป่วยเป็นลำดับที่ 26 ของประเทศ


นพ.วงวัฒน์กล่าวว่า สถานการณ์โรคมือเท้าปากในกรุงเทพฯ ตลอดทั้งปี 2556 มีผู้ป่วยจำนวน 4,504 ราย และตลอดทั้งปี 2557 มีผู้ป่วยประมาณ 8,400 ราย โดยในปีนี้ก็ได้เฝ้าระวังอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝน ที่เชื้อไวรัสมือเท้าปากจะแพร่ระบาดได้ง่าย จึงได้แจ้งเตือนไปยังโรงเรียนและศูนย์ดูแลเด็กเล็กทุกแห่ง ให้ติดตามและคัดกรองเด็กทุกระดับชั้นเรียน พร้อมกับล้างทำความสะอาดข้าวของเครื่องใช้และเครื่องเล่นภายในโรงเรียนเป็นประจำ โดยเฉพาะห้องน้ำ ซึ่งเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรค หากมีเด็กที่เจ็บป่วยด้วยโรคดังกล่าวก็ต้องรีบแจ้งมาที่สำนักอนามัยทันที เพื่อลงพื้นที่ควบคุมสถานการณ์ และให้เด็กหยุดเรียนรักษาตัว แต่หากมีเด็กติดเชื้อหลายคน ควรจะงดการเรียนการสอนทั้งห้อง เพื่อป้องกันการระบาด


นพ.วงวัฒน์ กล่าวว่า เด็กที่รับเชื้อจะแสดงอาการเริ่มด้วย มีไข้ อ่อนเพลีย เจ็บปากและเบื่ออาหาร มีแผลอักเสบ ที่ลิ้น เหงือก และกระพุ้งแก้ม อาจเกิดตุ่มผื่นแดง ไม่มีอาการคันที่ฝ่ามือ ฝ่าเท้า ก้น หรือหัวเข่า แต่เวลากดจะเจ็บ ต่อมาจะแตกออกเป็นหลุมตื้นๆ ซึ่งอาการจะดีขึ้นและแผลหายไปใน 7-10 วัน หรือไม่เกิน 2 สัปดาห์ โดยจะมีไข้อยู่เพียง 3-4 วันแรก แต่อาการของโรคจะสามารถแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นได้ ดังนั้น หากผู้ปกครองพบเด็กมีอาการป่วยดังกล่าวจะต้องให้หยุดเรียนอย่างเด็ดขาด และเร่งรักษาเพื่อให้หายขาดจากโรค


 


 


ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน

Shares:
QR Code :
QR Code