เดินไปปั่นไป ไลฟ์สไตล์ชีวิตไม่เนือยนิ่ง
เรื่องโดย ฉัตร์ชัย นกดี Team Content www.thaihealth.or.th
ข้อมูลบางส่วนจาก ศูนย์บริการข้อมูล สสส.
ภาพโดย นัฐพร ชุ่มลือ Team Content www.thaihealth.or.th และแฟ้มภาพ
“กริ๊งๆ จะแซงไปทางขวานะครับ” เสียงกริ่งจักรยานพร้อมคำขอทาง จากผู้ขี่จักรยานบนท้องถนนเพื่อความปลอดภัย
ในช่วงหลายปีมานี้เกิดกระแสการใช้จักรยานเพิ่มขึ้น แต่ยังคงเป็นการใช้จักรยานเพื่อการท่องเที่ยว ชมธรรมชาติและออกกำลังกาย มากกว่าจะใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน ขี่ไปทำงาน ขี่ไปเรียน ขี่ไปจับจ่ายซื้อของ หรือทำกิจกรรมต่างๆ เพื่อช่วยลดปัญหาการจราจร มลพิษ ตลอดจนลดการใช้พลังงานน้ำมัน
การใช้จักรยานให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมนั้น ต้องมีการสร้างความเข้าใจ ขณะที่สภาพแวดล้อมก็ต้องเอื้อให้เกิดการทำได้จริงในชีวิตประจำวัน ไม่ใช่เพียงการทำเลนจักรยานลงไปในถนน
จากการประชุมวิชาการส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยานในชีวิตประจำวันครั้งที่ 7 : ในหัวข้อ “Think Globally, Bike – Walk Locally” ส่งเสริมเดิน ปั่น เพิ่มกิจกรรมทางกาย ระดับท้องถิ่น สร้างสุขภาพดีให้เมืองให้โลก ของมูลนิธิสถาบันการเดินและการจักรยานไทย ซึ่งสนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
“ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม” ผอ.สำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. อธิบายว่า การส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยานในวิถีชีวิตประจำวัน เป็นหนึ่งในเป้าหมายในการดำเนินงาน เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนคนไทยมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอ ลดพฤติกรรมเนือยนิ่ง ข้อมูลจาก WHO หรือองค์การอนามัยโลก แนะนำว่าประชาชนที่มีอายุ 18-59 ปี ควรมีกิจกรรมทางกาย (ระดับปานกลาง) อย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์ ในขณะที่หากเป็นวัยสูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ควรมีกิจกรรมทางกาย (ระดับปานกลาง 3 วันต่อสัปดาห์) กลุ่มเด็กและวัยรุ่น 6-17 ปี ควรมีกิจกรรมทางกายสะสมอย่างน้อย 60 นาทีต่อวัน
ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าวต่อว่า การเดินและการปั่นจักรยานเพื่อการเดินทาง เป็นกิจกรรมทางกายที่ควรส่งเสริมสนับสนุน เพราะนอกจากเป็นประโยชน์ด้านสุขภาพแล้ว ยังเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เนื่องจากการเดินทางระยะสั้น โดยทั่วไปแล้ว หากเป็นการเดินเท้า คนทั่วไปใช้เวลาประมาณ 15 นาทีขึ้นไป จะได้ระยะทางประมาณ 1 กิโลเมตร และถ้าปั่นจักรยาน (จักรยานแม่บ้าน) เวลา 15 นาทีขึ้นไป จะได้ระยะทางประมาณ 3 กิโลเมตร ดังนั้น หากคนวัยทำงานเลือกเดินทางด้วยการเดินเท้า หรือ ปั่นจักรยาน ไปต่อรถสาธารณะหรือสถานีรถไฟฟ้า ในหนึ่งสัปดาห์ก็มีกิจกรรมทางกายมากเพียงพอ ตามที่ WHO กำหนด
ด้าน “นายจำรูญ ตั้งไพศาลกิจ” ประธานมูลนิธิสถาบันการเดินและการจักรยานไทย กล่าวว่า “Share The Road” หรือ การแบ่งปันบนท้องถนน เป็นหนึ่งในแนวคิดที่อยากจะรณรงค์ให้คนในสังคมตระหนักถึงการอยู่ร่วมกันได้ ระหว่าง จักรยาน รถยนต์ คน และต้นไม้อย่างสมดุล ซึ่งคนขับรถต้องเข้าใจบริบทของคนขี่จักรยาน ขณะที่คนขี่จักรยานก็ต้องเข้าใจบริบทของคนขับรถยนต์เช่นกัน ดังนั้นเราจะทำอย่างไรให้ทุกคนเข้าใจและให้ความเอื้ออาทรต่อกัน
สำหรับเรื่องเลนจักรยานนั้น ต้องมีปริมาณจักรยานที่มากพอจึงจะทำได้ ขณะเดียวกันถนนก็ต้องออกแบบเพื่อรองรับการสร้างเลนจักรยานด้วย นอกจากนี้ต้องมีการศึกษาสำรวจว่า คนออกจากบ้านเพื่อไปต่อรถสาธารณะตรงไหน และต้องมีการประเมินความคุ้มค่าการลงทุน ดังนั้นการทำเมืองจักรยานให้ประสบความสำเร็จ จะต้องมาจากการ “คิดร่วมกัน ทำร่วมกันและได้ประโยชน์ร่วมกัน”
ขณะที่ “รองศาสตราจารย์ ดร.ประพัทธ์พงษ์ อุปลา” ผอ.สำนักวิจัยนวัตกรรมเมืองอัจฉริยะ (SCiRA) แสดงทัศนะว่า เมืองหลวงหลายเมืองในโลก เช่น เมืองอัมสเตอร์ดัม ของเนเธอร์แลนด์ เมืองโคเปนเฮเกน ของเดนมาร์ก เมืองนิวยอร์ก ของอเมริกา เมืองปักกิ่ง ของจีน เมืองโตเกียว ของญี่ปุ่น เมืองไทเป ที่ไต้หวัน หรือแม้แต่ที่สิงคโปร์ ทั้งหมดล้วนส่งเสริมให้พลเมืองใช้จักรยานเดินทางไปทำงาน ด้วยเหตุผลหลักคือ “ประหยัด สะดวก เร็ว และทำให้สุขภาพดี”
สำหรับการพัฒนาระบบจักรยานที่ดี เพื่อรองรับความต้องการของผู้ใช้จักรยานผ่าน 3 ขั้นตอน ดังนี้ 1) การศึกษาปัญหา และความต้องการของผู้ใช้จักรยานอย่างแท้จริง โดยเฉพาะในเขตชุมชนที่อยู่อาศัย ซึ่งมีคนใช้จักรยานในชีวิตประจำวันเป็นจำนวนมาก 2) การจัดทำแผนแม่บทในการพัฒนาระบบจักรยาน โดยเน้นความปลอดภัย ความสะดวกและความสบายในการใช้งาน และ3) เน้นกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน เพื่อให้ได้เมืองจักรยานที่ตอบโจทย์ความต้องการ ของคนส่วนใหญ่ให้ได้มากที่สุด
ปิดท้ายกันที่ ประโยชน์ที่ได้จากการเดินและการปั่นจักรยาน ในทุกๆ วัน
1. เพิ่มกำลังการบีบรัดของลำไส้ ช่วยให้ขับถ่ายคล่อง
2. ปั่น 1 ชั่วโมง เผาผลาญ 400 – 500 แคลอรี่
3. ทำให้หัวใจและกล้ามเนื้อหัวใจแข็งแรง
4. ช่วยให้ร่างกายมีภูมิต้านทานที่ดีขึ้น
การใช้จักรยานเป็นทางเลือกในการแก้ปัญหาจราจร มลพิษและลดการใช้พลังงานน้ำมัน สสส.และมูลนิธิสถาบันการเดินและการจักรยานไทย ขอสนับสนุนให้คนไทยหันมาเดินและใช้จักรยานกันอย่างสม่ำเสมอ เพื่อสุขภาพที่ดีห่างไกลโรค