เดินและปั่นจักรยานปฏิบัติได้ในบริบทไทย
เดินและปั่นจักรยานปฏิบัติได้ในบริบทไทย
เมื่อปลายเดือนที่ผ่านมา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศ ไทย จัดการประชุมวิชาการการส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน ครั้งที่ 2 : การเดินและจักรยาน ปฏิบัติได้ ปฏิบัติจริง ในบริบทไทย (The 2nd Thailand Bike and Walk Forum: Practicality of Walking and Cycling in Thai Context) พร้อมพิธีมอบประกาศเชิดชูเกียรติรางวัลเด็กแห่งปี (Boy of the Year Award) ได้แก่ ด.ช.ณัฐวรรธน์ สุนทรวัฒน์ หรือน้องอิ่ม เด็กน้อยหัวใจจิตอาสา
ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า การส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์สำคัญ ในการกระตุ้นให้เกิดแรงจูงใจ เพิ่มโอกาสและทางเลือกให้คนไทยมีกิจกรรมทางกาย หรือ PA (Physical Activity) มากขึ้น โดยผ่านวิธีการที่จะต้องสามารถปรับใช้ได้กับชีวิตจริง เช่น การใช้จักรยานและเดินไปทำงาน เป็นต้น
“การจัดทำวิจัยวิชาการประเด็นจักรยานในแง่มุมต่างๆ ถือเป็นพลังขับเคลื่อนที่สำคัญ ในการผลักดันให้เกิดการพัฒนาพื้นที่ นโยบาย ที่เอื้อต่อการเดินและจักรยานและชุมชน จักรยาน ซึ่งกระตุ้นให้การเดินและใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน สามารถปฏิบัติได้จริงในสังคมไทย” ทพ.กฤษดา กล่าว
ศ.กิตติคุณ ดร.ธงชัย พรรณสวัสดิ์ ประธานชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การส่งเสริมให้ใช้จักรยานในชีวิตประจำวันต้องเริ่มจากชุมชนก่อน สนับสนุนให้ขี่จักรยานในหมู่บ้าน ระยะทาง 1-3 กม.ถือว่าเป็นระยะทางที่เหมาะสมในฐานะเมืองที่เริ่มต้นสังคมจักรยาน พร้อมกันนี้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นควรหันมาส่งเสริมให้ชาวบ้านใช้จักรยานทำเป็นชุมชนนำร่อง อาทิ ชุมชน ต.โดนกลางใน จ.พิจิตร ที่ อบต.สนับสนุนให้เกิดชุมชนจักรยานเน้นการปั่นในหมู่บ้านเช่นไปวัด ไปบ้านญาติ แทนการใช้ มอเตอร์ไซค์ เชื่อว่าเมื่อเกิดสังคมรูปแบบนี้จะกระตุ้นให้นักการเมืองท้องถิ่นเห็นความสำคัญของการสร้างทางจักรยานได้
ดร.ธงชัย กล่าวว่า ชมรมฯได้ร่วมลงนามกับกระทรวงอุตสาหกรรมเพื่อจัดทำมาตรฐานของจักรยานที่จำหน่ายในประเทศ ต้องมีมาตรฐาน เช่นเดียวกับสินค้าที่ผลิตในโรงงานอุตสาหกรรมอื่น ๆ และมีคำแนะนำว่าขณะนี้มีจักรยานราคาถูกจากประเทศจีนมาจำหน่ายในห้างซูเปอร์สโตร์ ทั่วประเทศสนนราคาคันละ 800-1,000 บาท ไม่ควรซื้อมาใช้ เมื่อใช้ไปสักระยะจะมีปัญหา เรื่องระบบเบรกและโซ่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซม สุดท้ายก็ต้องทิ้งเป็นขยะถือเป็นการใช้จักรยานอย่างไม่ยั่งยืน ส่วนจักรยานมือ 2 ที่นำเข้ามาจากประเทศญี่ปุ่นนั้นถือว่าใช้งานได้ดีระดับหนึ่งถือว่ามีมาตรฐานเพราะจักรยานเหล่านี้บางคันถูกยึดถูกต้องตามกฎหมายเมื่อผู้ขี่ไม่จอดใน ที่จอดจักรยาน นอกจากนี้ชมรมจักรยานได้หารือกับกรมโยธาธิการในการแก้ไขพ.ร.บ.ควบคุมอาคารให้ออกข้อกำหนดให้อาคารต่าง ๆ เช่น ห้างสรรพสินค้า ศาลากลาง โรงเรียนจัดพื้นที่จอดจักรยานพื้นที่ของอาคารด้วยซึ่งกรมโยธาธิการเห็นด้วยในหลักการแล้ว
สำหรับงานวิจัยที่น่าสนใจ อาทิ ผลดีของการเพิ่มกิจกรรมการเดินหรือการใช้จักรยานต่อตัวชี้วัดสุขภาพต่าง ๆ ในผู้สูงอายุ, การศึกษาลักษณะโครงสร้างและปัญหาที่เกิดขึ้นกับทางเท้า สำหรับคนเดินและจักรยานในกรุงเทพฯ เปรียบเทียบสมรรถภาพทางกาย และผลการตรวจทางเคมีเลือดของกลุ่มอาชีพที่มีกิจกรรมทางกายต่างกัน เป็นต้น
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์