เดินเครื่อง 3 ปี ดันเศรษฐกิจฐานรากกระเตื้อง

ที่มา : หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ 


ภาพประกอบจากเว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ


เดินเครื่อง 3 ปี ดันเศรษฐกิจฐานรากกระเตื้อง thaihealth


'คณะทำงานประชารัฐ E3' เดินเครื่อง 3 ปี ดันเศรษฐกิจฐานรากกระเตื้อง


นับเป็นเวลาเกือบ 3 ปี หรือตั้งแต่ปี 2558 ที่ "คณะทำงานการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐ" (E3) ได้ดำเนินงานตามนโยบายสานพลังประชารัฐ โดยผนึกความร่วมมือภาครัฐบาล เอกชน นักวิชาการ ประชาสังคม และประชาชน ขับเคลื่อนภายใต้ 3 กลุ่มงาน คือ เกษตร แปรรูป และท่องเที่ยวโดยชุมชน เพื่อบรรลุเป้าหมายสร้างรายได้ให้ชุมชน ประชาชนมีความสุขยั่งยืน พร้อมทั้งตั้ง "บริษัท ประชารัฐ รักสามัคคีจังหวัด" 76 แห่ง ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็ง


เมื่อเร็ว ๆ นี้ "พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะหัวหน้าทีมภาครัฐ "ฐาปน สิริวัฒนภักดี" กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ในฐานะหัวหน้าทีมภาคเอกชน พร้อมด้วยภาครัฐและเอกชน เข้าร่วมการประชุมคณะทำงานการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐ ครั้งที่ 2/2561 และสรุปผลการดำเนินงานจากภาคเอกชนต่าง ๆ


"ฐาปน" กล่าวว่า คณะทำงาน E3 ดำเนินการมาแล้ว 33 เดือน ได้ความร่วมมือร่วมใจจากภาครัฐ ภาคเอกชน ซึ่งขณะนี้มีเอกชนกว่า 14 องค์กร โดยมุ่งเน้นเรื่องลดความเหลื่อมล้ำ พัฒนาคุณภาพคน และเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน รวมถึงสร้างรายได้ให้กับชุมชน และประชาชนมีความสุข โดยได้มีการวางโครงสร้าง ซึ่งมีการจัดตั้งบริษัท ประชารัฐรักสามัคคี วิสาหกิจเพื่อสังคมจังหวัดขึ้น มีทุนจดทะเบียนจัดตั้ง 4 ล้านบาท


ด้าน "ต้องใจ ธนะชานันท์" กรรมการผู้จัดการ บริษัท ประชารัฐรักสามัคคี วิสาหกิจเพื่อสังคม (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า การทำงานที่ผ่านมาครอบคลุม 3 กลุ่มงาน คือ 1.กลุ่มเกษตรกร 2.การแปรรูป และ 3.ท่องเที่ยวโดยชุมชน รวมถึงร่วมกับกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นำเทคโนโลยีพร้อมใช้ไปสู่ชุมชน ซึ่งจะทำให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยโฟกัส 20 จังหวัด และกลุ่มโอท็อปเกรด C และ D ซึ่งจะมีการแสดงผลงานปลายพฤศจิกายน 2561


อนึ่ง จากสถิติกลุ่มงานที่สร้างรายได้จากการทำงานของบริษัท ประชารัฐ รักสามัคคีจังหวัดฯ ปี 2559 และ 2560 สะท้อนให้เห็นว่า การดำเนินงานทั้ง 3 กลุ่มงาน สร้างรายได้รวมทั้งหมดกว่า 95 ล้านบาท แบ่งเป็น ปี 2559 มีรายได้รวม 8.49 ล้านบาท มาจากภาคเหนือ 3.99 ล้านบาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 1.38 ล้านบาท ภาคกลาง 2.97 ล้านบาท และภาคใต้ 1.4 แสนบาท ขณะที่ปี 2560 มีรายได้รวมสูงขึ้นถึง 86.59 ล้านบาท แบ่งเป็นภาคมีรายได้ 16.15, 23.59, 39.26 และ 7.57 ล้านบาท ตามลำดับ


ขณะที่ "สุวิทย์ กิ่งแก้ว" รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บมจ.ซีพี ออลล์ ผู้ก่อตั้งร้านเซเว่นอีเลฟเว่นในประเทศไทย กล่าวว่า บริษัทได้พัฒนาสินค้าเกษตรผ่านร้านเซเว่นอีเลฟเว่นที่มีกว่า 10,782 สาขาทั่วประเทศ รวมถึงช่องทางทเวนตี้ โฟร์ช้อปปิ้ง และออนไลน์ โดยทำหน้าที่เสมือนสะพานเชื่อมเกษตรกร โอท็อป เอสเอ็มอี กับผู้บริโภค ทั้งนี้ มีสินค้าที่โดดเด่น คือ กล้วยหอม โดยรับซื้อจากเกษตรกรกว่า 39 จังหวัด เนื้อที่ปลูก 12,970 ไร่ ส่วนใหญ่จะอยู่ในภาคตะวันตกของประเทศ โดยเฉพาะเพชรบุรี ราชบุรี และชุมพร ปัจจุบัน เซเว่นอีเลฟเว่นมียอดขายกว่า 2.5 แสนผล/วัน สร้างรายได้ให้เกษตรกรเฉลี่ย 45,000-50,000 บาท/เดือน


"วรรัตน์ เลิศอนันต์ตระกูล" ผู้อำนวย การฝ่ายบริหารทรัพยากรบุคคล บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทได้เข้าร่วมในเรื่องประชารัฐ รักสามัคคีสมุทรสาคร ในด้านเกษตรกรเข้าไปผลักดันเกษตรอินทรีย์ และประสานงานกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ในการทำวิจัยทำนาเกลือ ขณะที่ด้านการแปรรูปนั้น เข้าไปผลักดันผลิตภัณฑ์เบญจรงค์ โดยการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการได้ไปศึกษาดูงานต่างประเทศ รวมถึงผลักดันให้หมู่บ้านเบญจรงค์เป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวโดยชุมชน ซึ่งที่ผ่านมาติด 1 ใน 50 วิถีชุมชนตัวอย่างด้วย


"ปัญจพร คู่สามารถ" ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายสื่อสารองค์กร บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด กล่าวว่า บริษัทได้จัดตั้งฝ่ายพัฒนาชุมชนขึ้นมาโดยเฉพาะ และได้เซ็นเอ็มโอยู กับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ขณะนี้ดำเนินการแล้ว 7 จังหวัด 21 ตำบล ได้แก่ สุพรรณบุรี สิงห์บุรี ขอนแก่น ชัยภูมิ กาฬสินธุ์ เลย อำนาจเจริญ โดยเข้าไปส่งเสริมอาชีพให้เกษตรกรเพิ่มเติม เช่น การปลูกผัก ซึ่งช่วยในเรื่องการรับรองมาตรฐาน และเชื่อมโยงตลาด รวมถึงมีการตั้งตลาดนัดสีเขียว หน้าโรงงานใน จ.สุพรรณบุรี และขอนแก่น ในระยะเวลา 1 ปี สร้างรายได้ กว่า 1.7 ล้านบาท

Shares:
QR Code :
QR Code