เดินหน้า ‘อำเภอขับขี่ปลอดภัย’ สงกรานต์ 68 หวังลดตายบนถนน สร้างพื้นที่ปลอดภัย ไร้อุบัติเหตุ

ที่มา : สำนักข่าวสร้างสุข

ภาพประกอบจาก สสส.

ภาพปกข่าวเดินหน้า 'อำเภอขับขี่ปลอดภัย' สงกรานต์ 68
หวังลดตายบนถนน สร้างพื้นที่ปลอดภัย ไร้อุบัติเหตุ

                  ผนึกพลังชุมชนลดตายบนถนนสงกรานต์ 2568 สสส. สานพลัง อปท. เดินหน้า “อำเภอขับขี่ปลอดภัย” พบ สงกรานต์ 2567 อุบัติเหตุรวม 2,044 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 287 ราย ชูเครื่องมือวิเคราะห์-ปฏิทินความเสี่ยง ช่วยชุมชนวางแผนแม่นยำแก้จุดเสี่ยง

                  ดร.นิสา รัตนดิลก ณ ภูเก็ต ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า จากสถิติอุบัติเหตุตลอดช่วงการรณรงค์ “ขับขี่อย่างปลอดภัย เมืองไทยไร้อุบัติเหตุ” พบว่า ช่วงเทศกาลสงกรานต์ ปี 2567 ที่ผ่านมา เกิดอุบัติเหตุรวม 2,044 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 287 ราย และบาดเจ็บถึง 2,060 คน โดยพบว่ารถจักรยานยนต์เป็นพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงถึง 84.9% ซึ่งกลุ่มอายุ 20–29 ปี เป็นกลุ่มที่ประสบอุบัติเหตุสูงสุด โดยข้อมูลจาก TCNAP RoadSafety 182 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ร่วมดำเนินการ พบว่า เกิดอุบัติเหตุรวม 107 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 6 ราย และบาดเจ็บ 96 คน ยานพาหนะที่เกิดเหตุสูงสุดรถจักรยานยนต์ในพื้นที่ภาคเหนือ จำนวน 36 คัน รองลงมาเกิดจากรถยนต์ในพื้นที่ภาคกลาง และภาคเหนือ ตามลำดับ เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือเทศกาลสงกรานต์ 2568 สสส. โดยสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน และ สำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสังคม) ร่วมกับภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง เช่น ศูนย์วิจัยและพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน (ศวช.) คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ศูนย์สนับสนุนวิชาการเพื่อการจัดการเครือข่ายภาค (ศวภ.) ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) และมูลนิธิไทยโรดส์ ขับเคลื่อนโครงการ “อำเภอขับขี่ปลอดภัย” มุ่งพัฒนาศักยภาพองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ให้สามารถใช้ข้อมูลวิเคราะห์สถานการณ์อุบัติเหตุในพื้นที่ตนเองได้อย่างเหมาะสม

ภาพบรรยากาศกลุ่มคนดำเนินโครงการอำเภอขับขี่ปลอดภัย

                  การใช้ข้อมูลและการมีส่วนร่วมของชุมชน คือหัวใจสำคัญของโครงการ ผ่านเครื่องมือสำคัญ เช่น “ศูนย์ประสานงานขับขี่ปลอดภัย” (ศปง.) และ “ปฏิทินความเสี่ยง” เป็นต้น เพื่อให้การวางแผนป้องกันมีความแม่นยำและสอดคล้องกับบริบทจริงในชุมชน ในการวางแผนสงกรานต์ 2568 แต่ละพื้นที่ได้เสนอแนวคิดใหม่ที่น่าสนใจ อาทิ กลยุทธ์ “เป่าหู” การรณรงค์ด้วยข้อความสั้น กระชับ จดจำง่าย เช่น “เซฟสมอง” เป็นต้น การตรวจเช็กรถฟรีร่วมกับวิทยาลัยชุมชน และมอบรางวัลเชิดชูพื้นที่ที่ลดอุบัติเหตุได้ การดำเนินงานดังกล่าว ไม่ได้เป็นเพียงแนวคิด แต่คือเครื่องมือ ที่หนุนเสริมพื้นที่ได้วิเคราะห์ สะท้อนปัญหา สร้างแผน และสื่อสารอย่างตรงจุด ซึ่งนำไปสู่การสร้างความเปลี่ยนแปลงได้จริง” ดร.นิสา กล่าว

                  น.ส.ปัทมา มีพลู ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลหนองหนาม ต.หนองหนาม อ.เมือง จ.ลำพูน หนึ่งในพื้นที่ที่เข้าร่วมโครงการ กล่าวว่า อบต.หนองหนาม ได้นำข้อมูลจุดเสี่ยงในพื้นที่มาวิเคราะห์ ร่วมกับภาคีในระดับท้องที่ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ระดับท้องถิ่น ภาคประชาชน และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพชุมชน โรงพยาบาลลำพูน สถานศึกษาในพื้นที่ พบว่าถนนเลี่ยงเมืองลำพูน หมายเลข 116 ซึ่งเป็นถนน 2 เลนที่ตรงยาว และมีพฤติกรรมขับเร็วของผู้ใช้ทาง ทั้งจากคนในพื้นที่และผู้เดินทางระหว่างจังหวัด มีจุดอันตรายจากรถบรรทุกจอดขวางไหล่ทาง ปั๊มน้ำมันหลายแห่งที่รถเข้า-ออกตลอดเวลา และซอยต่าง ๆ ที่ผู้ขับขี่มักไม่ชะลอความเร็ว จึงร่วมมือกับชุมชนจัดมาตรการ เช่น ติดธงแดง เตือนจุดเสี่ยง ป้ายเตือนความเร็ว เพิ่มไฟส่องสว่าง และจัดเวรเฝ้าระวังร่วมกับเครือข่ายในพื้นที่ สงกรานต์ 2568 นี้ ต.หนองหนาม ได้จัดแคมเปญรณรงค์ลดอุบัติเหตุในพื้นที่ เช่น “ดื่มไม่ขับ” และ “ส่งคนรักกลับบ้าน” ด่านชุมชนบริการ น้ำสมุนไพรรางจืด-ผลไม้เปรี้ยว และใช้แนวคิด 3 ต. เตรียมตัว ติดตั้ง ติดตาม 3 ม. ไม่เมา ไม่ขับ ไม่เร็ว 2 ช. เช็กคน เช็กรถ จัดตั้ง “จุดพักคนเมา” พร้อมมะขาม กาแฟ และเช่าหมวกกันน็อก

ภาพชุมชนรณรงค์ลดความเร็วบนท้องถนน

Shares:
QR Code :
QR Code