เดินหน้าไขปัญหาพฤติกรรมเสี่ยงผู้ขับขี่
ที่มา : สำนักข่าวสร้างสุข
แฟ้มภาพ
สสส. สอจร. เดินหน้าไขปัญหาพฤติกรรมเสี่ยงผู้ขับขี่ ผ่านเวทีโลก Safety 2018 ชูความสำเร็จ Vision Zero สวีเดน ลดเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนเฉลี่ย 3 คน ต่อประชากร 100,000 คน เชื่อหากไทยเดินตามอย่างเคร่งครัด อุบัติเหตุเป็นศูนย์อยู่ไม่ไกล
วันที่ 6 พฤศจิกายน 2561 ที่ห้องภิรัช 2 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับ องค์การอนามัยโลก (WHO) สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เป็นเจ้าภาพการประชุมระดับโลกว่าด้วยการป้องกันการบาดเจ็บและการส่งเสริมความปลอดภัย ครั้งที่ 13 (Safety 2018 – The 13th World Conference on Injury Prevention and Safety Promotion) โดยมีผู้เข้าร่วมการประชุมกว่า 1,500 คน จากกว่า 90 ประเทศทั่วโลก
นายแพทย์วิทยา ชาติบัญชาชัย ผู้อำนวยการศูนย์ความร่วมมือระหว่างองค์การอนามัยโลกด้านวิกฤติบำบัดและอุบัติเหตุ และประธานคณะทำงานป้องกันอุบัติเหตุจราจรระดับจังหวัด (สอจร.) สนับสนุนโดย สสส. กล่าวในเวทีอภิปรายหลักหัวข้อ “ความสำเร็จด้านการป้องกันการบาดเจ็บที่เกิดโดยไม่ตั้งใจ” ว่า อุบัติเหตุทางถนนจัดอยู่ใน 10 ประเภทของอุบัติเหตุที่เกิดโดยไม่ตั้งใจ และเป็นสาเหตุอันดับ 1 ของการเสียชีวิตในประชากรไทย สถิติล่าสุดพบว่ามีอัตราการเสียชีวิตเฉลี่ย 32 คน ต่อประชากร 100,000 คน ขณะที่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals: SDGs) ภายในปี 2020 กำหนดให้ประเทศสมาชิกทั่วโลกลดอัตราการสูญเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนให้ได้ครึ่งหนึ่งของตัวเลขเดิม นับเป็นความท้าทายอย่างยิ่งสำหรับไทย เนื่องจาก 90% ของการเกิดอุบัติเหตุมีสาเหตุมาจาก “พฤติกรรมคน” ที่ควบคุมได้ยาก
“สอจร. ยึดนโยบาย Vision Zero ของประเทศสวีเดนในการปรับเปลี่ยนทัศนคติและความเชื่อของประชาชนและผู้ปฏิบัติงานเพื่อความปลอดภัยทางถนน ที่ระบุว่า อุบัติเหตุทางถนนล้วนป้องกันได้ เพราะไม่ใช่เรื่องบังเอิญหรือเคราะห์กรรม แต่เกิดจากความบกพร่องของระบบโดยรวม ทั้งปัจจัยคน รถ ถนน และสิ่งแวดล้อม เมื่อเกิดเหตุขึ้นผู้ที่เกี่ยวข้องในการดูแลระบบแต่ละด้านต้องร่วมกันรับผิดชอบ ทุกภาคส่วนต้องร่วมกันแก้ปัญหา โดยมีเป้าหมายสูงสุดคือการกำจัดอุบัติเหตุทางถนนไม่ให้เกิดขึ้นเลย ซึ่งความสำเร็จจากการที่ประเทศสวีเดนมีวิสัยทัศน์นี้ ทำให้อัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนลดลงอยู่ที่เฉลี่ย 3 คน ต่อประชากร 100,000 คน และรัฐบาลสวีเดนยังได้กำหนดเป้าหมายภายในปี 2050 ต้องไม่มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนน” นพ.วิทยา กล่าว
นพ.วิทยา กล่าวต่อว่า การสร้างพฤติกรรมการขับขี่อย่างถูกต้องปลอดภัยนั้น Vision Zero เน้นความสำคัญกับการให้ความรู้ตั้งแต่วัยเด็ก ขณะที่วัยผู้ใหญ่ควรได้รับการรณรงค์ชี้ให้เห็นโทษการทำผิดวินัยจราจร ควบคู่ไปกับการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น โดยอาศัยเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาช่วย เช่นการติดตั้งกล้องตรวจจับความเร็วทุกจุดเสี่ยง และเก็บสถิติการกระทำความผิด เพื่อป้องกันการทำผิดซ้ำ ซึ่งสวีเดนพิสูจน์แล้วว่ามาตรการเหล่านี้มีผลกับการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมคนมากที่สุด
“นอกจากการประยุกต์ใช้วิสัยทัศน์ของสวีเดนแล้ว ประเทศไทยจำเป็นต้องแก้ปัญหาเชิงระบบ ทุกหน่วยงานควรแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการแก้ไขต้นตอปัญหา ซึ่งที่ผ่านมา สสส. มีส่วนสำคัญในการสานพลังเชื่อมภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน ให้นำสถิติข้อมูลที่ได้จากการจัดเก็บมาแลกเปลี่ยนกัน เพื่อถอดบทเรียนการทำงานและหาทางแก้ไขปัญหาอย่างตรงจุด พร้อมกันนี้ยังประสานให้ สอจร. และเครือข่ายสื่อภูมิภาค เป็นผู้นำให้ความรู้และสื่อสารกับกลุ่มเสี่ยง เช่น เด็กและเยาวชน กลุ่มแรงงาน และผู้ใช้รถจักรยานยนต์ทั่วไป เพื่อร่วมกันสร้างวินัยการขับขี่ถูกต้อง จนเกิดเป็นพื้นที่ต้นแบบชุมชนปลอดภัยในหลายจังหวัดทั่วประเทศ” นพ.วิทยา กล่าว