เดินหน้าสร้างนักสื่อสารสุขภาวะรุ่นใหม่หัวใจนักอนุรักษ์
ที่มา : เว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ
ภาพประกอบจากเว็บไซต์สำนักข่าวนิวส์พลัส
แผนระบบสื่อและวิถีสุขภาวะทางปัญญา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เล็งเห็นความสำคัญของการสร้างเยาวชนรุ่นใหม่ ให้ก้าวสู่การเป็นนักสื่อสารสุขภาวะ มีทักษะในการรู้เท่าทันสื่อ สารสนเทศและดิจิทัล เข้าถึงสื่อที่มีคุณภาพ เข้าใจและสามารถใช้กระบวนการสร้างสรรค์สื่อเพื่อพัฒนาตนเอง เกิดความรับผิดชอบต่อสังคม เคารพสิทธิและอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมที่หลากหลาย
จึงได้สนับสนุนภาคีเครือข่ายอันได้แก่ กลุ่มรักษ์เขาใหญ่ โครงการพื้นที่สร้างสรรค์ปราจีนบุรี โครงการเขาใหญ่ดีจัง จัดกิจกรรมพาน้องเดินป่า ตอน สะพายกล้องท่องป่า เพื่อเป็นการสนับสนุนเยาวชนนักสื่อสารที่มีความสนใจเรื่องการถ่ายภาพ ให้ได้เกิดการพัฒนาศักยภาพทั้งด้านการสร้างสรรค์สื่อด้วยการถ่ายภาพ ความรู้เรื่องการอนุรักษ์สัตว์ป่าและธรรมชาติ จนเกิดการต่อยอดให้เยาวชนสามารถใช้ภาพถ่ายของตนเอง เป็นสื่อสร้างสรรค์ที่มีประโยชน์เพื่อรณรงค์ไปสู่สังคมได้ ณ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เมื่อเร็วๆ นี้
“วรพจน์ โอสถาภิรัตน์” กลุ่มดินสอสีและผู้ประสานโครงการพื้นที่นี้…ดีจัง กล่าวว่า กิจกรรมนี้จัดต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 3 แล้ว เริ่มต้นมาจากทางเครือข่ายโครงการ “พื้นที่นี้…ดีจัง” ประกอบด้วย 3 จังหวัดรอบๆ เขาใหญ่ ได้แก่ นครนายก ปราจีนบุรี และนครราชสีมา ที่จัดกิจกรรมพื้นที่สร้างสรรค์ให้กับเยาวชน อยากให้เยาวชนได้รู้สึกผูกพัน รักและเป็นส่วนหนึ่งในการดูแลเขาใหญ่ ให้เขาใหญ่เป็นสิ่งแวดล้อมที่ดีให้กับเยาวชน
“อุทยานแห่งชาติทั่วไปมีเส้นทางการศึกษาธรรมชาติอยู่แล้ว แต่สำหรับเขาใหญ่เราจัดกิจกรรมเพื่อเป็นอุทยานต้นแบบ ออกแบบเส้นทางให้เป็นการสื่อสารสุขภาวะ สร้างปฏิสัมพันธ์กันภายในครอบครัว ให้มีการแลกเปลี่ยนความรู้กันภายในครอบครัวตลอดเส้นทางการท่องเที่ยวอุทยาน รวมถึงให้ได้รับความรู้ที่ถูกต้องจากการมาท่องเที่ยวอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่อีกด้วย”
“ณัฐวุฒิ รักษ์กุศล” ผู้ประสานงานกลุ่มรักษ์เขาใหญ่ เล่าถึงแนวคิดในการจัดกิจกรรมครั้งนี้ของกลุ่มรักษ์เขาใหญ่ว่า เป็นการทำหน้าที่เป็นตัวกลางให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ได้รู้จักการอนุรักษ์ป่า สัตว์ป่า และสิ่งแวดล้อม โดยผ่านเครื่องมือคือ การถ่ายภาพ ซึ่งเป็นสื่อที่คนรุ่นใหม่เข้าถึงได้ง่าย และมีความสนใจมากที่สุดสื่อหนึ่งในยุคปัจจุบัน
“เราเปิดรับเยาวชนอายุ 15 – 25 ปีจากทั่วประเทศที่มีความสนใจด้านการถ่ายภาพเข้ามาร่วมกิจกรรมทั้งหมด 15 คน สิ่งที่เยาวชนจะได้เรียนรู้นอกจากเทคนิคการถ่ายภาพเบื้องต้นแล้ว ยังได้ทดลองปฏิบัติจริงด้วยการออกเดินป่า ถ่ายภาพสัตว์และธรรมชาติร่วมกับทีมวิทยากรซึ่งเป็นทั้งช่างภาพสัตว์ป่าและพี่ ๆ ทีมรักษ์เขาใหญ่ ที่จะคอยสอดแทรกข้อมูลความรู้ เพื่อให้ได้มองเห็นความเชื่อมโยงของสัตว์ป่าและธรรมชาติ”
“ค่ายครั้งนี้ไม่ได้ให้เยาวชนมาเรียนถ่ายภาพอย่างเดียว เราอยากจะบอกกับเด็กและเยาวชนรุ่นใหม่ว่า การจะดูแลรักษาป่าไม่ใช่แค่เพียงการบอกให้คนหยุดตัดต้นไม้ แต่ทุกครั้งที่คุณทำอะไรที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมมันสามารถสร้างเป็นงานอนุรักษ์ได้หมดเลย เช่น ปัจจุบันเครื่องมือที่คนรุ่นใหม่ใช้มากที่สุดคือการถ่ายรูปไปแล้วนำไปสื่อความหมายในสังคมออนไลน์ เราอยากให้น้อง ๆ เห็นว่ามันเชื่อมโยงกันได้ เมื่อน้องถ่ายภาพสัตว์ป่าและธรรมชาติออกไปเผยแพร่ มันจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของการช่วยกันรณรงค์ให้คนรักสิ่งแวดล้อมได้เหมือนกัน”
ในส่วนของเยาวชนที่ได้มีโอกาสเข้าร่วมโครงการอย่าง “สุพจน์ สุราแป๊ะตั้ง” นักเรียนชั้น ม.6 โรงเรียนพิมายวิทยา จ.นครราชสีมา เล่าว่า โดยส่วนตัวเป็นคนที่ชอบเรื่องสัตว์ป่ามาตั้งแต่เด็ก แต่เคยเห็นแค่ในหนังสือ ในหนังสารคดี ไม่เคยมีโอกาสเห็นสัตว์ในป่าจริง ๆ แม้ตนเองเคยมาเขาใหญ่ 3 ครั้ง แต่ไม่เคยมีโอกาสได้เห็นสัตว์ป่าเยอะเหมือนที่ได้เห็นในกิจกรรมครั้งนี้ ทำให้รู้สึกตื่นเต้น ตื้นตัน และรักสัตว์ป่ามากยิ่งขึ้น
“ปกติก็รักสัตว์อยู่แล้ว แต่เราไม่เคยรู้อุปนิสัยมันในธรรมชาติแบบนี้ ครั้งนี้เราก็ได้รู้เพิ่มขึ้น ลึกซึ้งขึ้น เราได้เห็นทั้งนกเงือกกรามช้าง นกแก๊ก นกเขียวคราม นกขุนทองที่เราเคยเห็นเขาอยู่แต่ในกรง ก็เพิ่งเคยเห็นในธรรมชาติครั้งแรก มันทำให้รู้สึกยิ่งรักสัตว์ป่าต่าง ๆ มากขึ้นไปอีก”
ไม่ต่างกับ “ธัญญรัตน์ สุขเรือน” นิสิตคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่เผยถึงความรู้สึกว่าจากการเข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้ว่าทำให้ความรู้สึกของเธอต่อสัตว์ป่าเปลี่ยนไปจากเดิมเป็นอย่างมาก
“ถ้าเป็นเมื่อก่อนจะไม่เข้าใจเลยค่ะว่า เราจะไปสนใจทำไมว่าสัตว์จะเป็นยังไง เราแค่ถ่ายภาพ แต่พอเรามาเห็นเขาจริง ๆ ในธรรมชาติ เราถึงได้รู้ ได้เข้าใจวิถีชีวิต และพฤติกรรมของสัตว์ป่าจริง ๆ เมื่อก่อนจะเห็นแค่ว่าเขาเป็นสัตว์ชนิดหนึ่ง เรายังไม่เห็นถึงความสัมพันธ์ของเขากับธรรมชาติ ความสัมพันธ์ของระบบนิเวศ ตอนนี้รู้แล้วว่าสัตว์ทุกอย่าง ต้นไม้ทุกต้นคือสัมพันธ์กัน การมาถ่ายภาพต้องเคารพสัตว์ป่า เคารพสถานที่ ไม่ไปรบกวนเขา”
“ธัญญรัตน์” บอกว่าปกติเธอชอบถ่ายภาพลงในเฟซบุ๊กของเธออยู่แล้ว หลังจากนี้ก็คิดว่าจะถ่ายภาพสัตว์ป่าเพื่อเผยแพร่ให้คนที่สนใจได้เห็นภาพสัตว์ป่าจริง ๆ ในธรรมชาติ เมื่อคนอื่น ๆ ได้เห็นความสวยงาม เห็นความน่ารักจริง ๆ ของสัตว์ป่าและธรรมชาติ เธอเชื่อว่าภาพเหล่านี้จะมีพลังที่จะสามารถเปลี่ยนแปลงให้ผู้คนเริ่มหันมาให้ความสำคัญและรักธรรมชาติมากขึ้นได้ไม่มากก็น้อย
ทั้งนั้น หลังจากนี้กลุ่มรักษ์เขาใหญ่จะมีการจัดกิจกรรมอีก 2 รูปแบบต่อเนื่องคือ กิจกรรมค่าย 1 ชั่วโมงที่จะออกไปให้ความรู้เรื่องอนุรักษ์กับเด็ก ๆ ใน 7 โรงเรียนรอบเขาใหญ่ และอีก 1 กิจกรรมคือ ลานเพลินปราจีนบุรี ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 26 พ.ค. 2561 ข้างศาลหลักเมืองปราจีนบุรี โดยจะนำผลงานสิ่งแวดล้อมไปจัดแสดงเพื่อเชิญชวนคนปราจีนบุรีให้ลุกขึ้นมาช่วยกันอนุรักษ์สัตว์ป่าและธรรมชาติที่อยู่ในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ต่อไป