เดินหน้าสร้างที่อยู่อาศัย เพิ่มคุณภาพชีวิตคนไร้บ้าน

ที่มา : เว็บไซต์มติชนออนไลน์

 

เดินหน้าสร้างที่อยู่อาศัย เพิ่มคุณภาพชีวิตคนไร้บ้าน thaihealth

 

แฟ้มภาพ

 

สสส. และภาคีเครือข่ายต่าง ๆ อาทิ กทม. ,พม. และสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ลงพื้นที่ติดตามปัญหาคนไร้บ้าน ตั้งเป้าฟื้นโครงการบ้านอิ่มใจ และขยายผลโครงการที่อยู่อาศัยคนละครึ่ง เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ให้ดีขึ้น

 

เมื่อเวลา 16.00 น. วันที่ 8 มิถุนายน ที่สถานีรถไฟหัวลำโพง เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ซึ่งดูแลด้านการศึกษาและสังคม พร้อมด้วย ผศ.ดร.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ (ดร.ยุ้ย) ที่ปรึกษาผู้ว่าฯกทม. นัดหมาย นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส., นายอนรรฆ พิทักษ์ธานิน ผู้จัดแผนงานพัฒนาองค์ความรู้ฯ สุขภาวะคนไร้บ้าน สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ สสส. พร้อมด้วยเครือข่าย ร่วมหารือแนวทางความร่วมมือผลักดันนโยบายคนไร้บ้าน และการป้องกันกลุ่มเปราะบางในการเข้าสู่ภาวะไร้บ้าน หรือ “คนไร้บ้านหน้าใหม่” ตั้งเป้าฟื้นโครงการ “บ้านอิ่มใจ” และขยายผลโครงการ “ที่อยู่อาศัยคนละครึ่ง” ยกระดับคุณภาพชีวิต และลดความเสี่ยงทางสุขภาวะของคนไร้บ้านในพื้นที่สาธารณะ

 

บรรยากาศ เวลา 16.20 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มี ‘คนไร้บ้านหน้าใหม่’ เดินทางมาลงทะเบียน ยังจุดประสานงานผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะกรุงเทพฯ เพื่อลงชื่อขอความช่วยเหลือ ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ พม. ให้คำปรึกษา แนะนำการเข้าถึงสวัสดิการ, บริการที่พักอาศัยชั่วคราว, อำนวยความสะดวกทำบัตรประชาชน ตลอดจนการส่งกลับภูมิลำเนา, บริการจัดหางาน ไปจนถึงประสานส่งต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยคนไร้บ้านสามารถติดต่อได้ที่สายด่วน พม. 1300

 

เวลา 16.30 น. นายศานนท์ เดินทางมาถึงพร้อมกับ ผศ.ดร.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ หรือ ดร.ยุ้ย กรรมการผู้จัดการ บริษัท เสนาดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ในฐานะทีมนโยบายของนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม.

 

ทั้งนี้ นายศานนท์ รองผู้ว่าฯ กทม. ได้เข้ามาหารือถึงปัญหาคนไร้บ้านกับ นายธนิต ตันบัวคลี่ รอง ผอ.สำนักพัฒนาสังคม, น.ส.ศศิธร เจริญสุข ผู้ช่วย ผอ.เขตปทุมวัน และนายสมภพ พร้อมพรชื่นบุญ ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาชุมชน, นายอุเทน ชนะกุล โฆษกกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พก.พม.) และเครือข่าย ทิศทางหลังจากนี้ ทาง กทม.จะดำเนินการช่วยคนไร้บ้านอย่างไร โดยเบื้องต้นทาง กทม.จะมีการฟื้นโครงการบ้านอิ่มใจ ด้าน สสส.จะขับเคลื่อนกับเครือข่ายเรื่องที่อยู่อาศัยคนไร้บ้าน ออกค่าใช้จ่ายคนละครึ่ง (60 เปอร์เซ็นต์) โดยนายอุเทน โฆษก พก.พม. กล่าวกับนายศานนท์ว่า วันนี้ฝนตก แต่เป็นโอกาสอันที่ได้เห็นว่าคนไร้บ้านต้องเจออะไรบ้าง ซึ่งจุดประสานงานผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะกรุงเทพฯ จะให้บริการทุกวันพุธ และศุกร์ โดยอาจจะเพิ่มวัน เนื่องจากความเดือดร้อนของประชาชนรอไม่ได้ ทำอย่างไรที่จะมีส่วนร่วม

 

นายศานนท์ กล่าวว่า ต้องช่วยกัน ร่วมมือทุกภาคส่วน ก่อนขอเข้าไปดูสภาพการอยู่อาศัยในโครงการบ้านคนละครึ่ง ของ สสส. พร้อมทั้งกล่าวให้กำลังใจคนไร้บ้าน ก่อนให้สัมภาษณ์ถึงนโยบายของ กทม. ว่าหลังจากวันที่มาดูงานของ พม. ที่ทำมานานแล้ว เชื่อว่า กทม.นำโดยผู้ว่าฯชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ให้ความสำคัญกับคนไร้บ้าน คนไร้บ้านไม่รู้สิทธิ เป็นกลุ่มเปราะบางทางเศรษฐกิจ โควิด-19 และขาดแคลนที่อยู่อาศัย

 

“กลุ่มคนไร้บ้านหน้าใหม่ สำคัญมาก หากไม่ให้ความสำคัญ จะเป็นคนไร้บ้านถาวรได้ จุดดร็อปอินแบบนี้ ก็อำนวยความสะดวกให้มีชีวิตที่ดีขึ้น สสส. ก็มีโครงการที่อยู่อาศัยคนละครึ่ง ซึ่งมีความสำคัญเป็นการยกระดับ บางครั้งอาจจะได้งานที่เลี้ยงตนได้ลำบาก สสส.ก็สนับสนุนค่าใช้จ่ายที่อยู่อาศัยบางส่วน อยู่ 6 เดือนแล้วค่อยขยับไป เป็นมาตรการที่ กทม.ต้องการสนับสนุน ช่วยเหลือ ซึ่งวันนี้ ผอ.สำนักพัฒนา และ อ.ยุ้ยมาด้วย” นายศานนท์ กล่าว และว่า   ต้องหาที่ที่ใกล้งาน ถ้าหากบ้านที่อยู่ไกลก็ไม่ตอบโจทย์

 

“องค์รวมคือ ที่พัก และงาน การหาที่อยู่อาศัยต้องดู 2 ส่วน โครงการบ้านของ สสส. เป็นไอเดียที่ดีมาก อาจต้องมาดูให้คล่องตัวขึ้น ใกล้งานขึ้น” นายศานนท์ กล่าว

 

นายศานนท์ กล่าวอีกด้วยว่า คนไร้บ้านมีหลายมิติเหตุผล แต่สิ่งสำคัญคือ เราต้องทำให้เขาพร้อมใช้ชีวิต เริ่มต้นด้วยการหารายได้

 

“สำคัญที่เป็นการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์คนหนึ่ง ให้กับสู่ระบบที่ดำเนินชีวิตไปได้ จุดดร็อปอินวันพุธ แค่วันเดียวอาจจะไม่พอ ต้องหารือต่อไป เชื่อว่าการแก้ปัญหาใน กทม. ไม่ใช่คนใดคนหนึ่ง แต่คือความร่วมมือ เราความรู้น้อย แต่ได้อาจารย์ปู (อนรรฆ พิทักษ์ธานิน) มาร่วมกันหาทางออก” นายศานนท์ กล่าว

 

ก่อนเข้าไปพูดคุยกับผู้ที่เข้าร่วมโครงการบ้านคนละครึ่ง

 

นายอนรรฆ กล่าวถึงความร่วมมือของหลายภาคส่วน นอกเหนือจาก สสส. ว่า ตามระบบเราต้องจ่ายสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อาจจะต้องประเมินเป็นรายบุคคลไป จากนั้นกล่าวให้กำลังใจอดีตคนไร้บ้าน ที่ตอนนี้เข้าร่วมโครงการกับ สสส. ตนคุยกับ นายชัชชาติ ผู้ว่าฯกทม. ไว้ว่า ใต้ทางด่วน ตั้งจุดช่วยเหลือเร่งด่วนไว้ก่อน เป็น emergency shelter เพื่ออำนวยความสะดวกพื้นฐาน เพราะส่วนใหญ่คนไร้บ้านไม่มีอะไรติดตัวอยู่แล้ว

 

ด้าน “หญิง” สตรีรายหนึ่ง ที่ร่วมโครงการกับ สสส.กล่าวว่า รู้สึกมีกำลังใจ เมื่อก่อนกลัว ตอนอยู่ที่สาธารณะ ตนได้เข้าร่วมเฟส 2 เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา เพราะโครงการเพิ่งเริ่มตอนกุมภาพันธ์ ถือว่าเร็วมาก

 

“ที่ได้เร็วเพราะ 1.เราตื่นตัว รู้จักช่วยเหลือตัวเอง บางทียอมรับว่าไม่เคยได้อาบน้ำ 3-5 วัน แต่พอมีห้องเช่า เราได้อาบน้ำ ได้ซักผ้า เราไปสมัครงานที่ไหน เขาก็รับ ถ้าเราสะอาด ดีขึ้น ดีขึ้นเยอะมาก ตอนนี้มีเฟส 1 2 และ 3” หญิงกล่าว และว่า

 

“ยอมรับว่า ไม่ได้เริ่มจาก 0 แต่เริ่มจากติดลบ ตอนนี้มีผู้เข้าร่วม 30 คน เฟส 1 เข้ามา 10 กว่าคน ตั้งแต่กุมภาพันธ์ เฟสแรก แล้วก็อยู่ยาวมาถึงตอนนี้” หญิง กล่าว

 

ทั้งนี้ ผศ.ดร.เกษรา หรือ ดร.ยุ้ย ได้เข้ามาจับมือ ก่อนกล่าวให้กำลังใจว่า “เยี่ยมมากเลยพี่หญิง”

 

ผศ.ดร.เกษรา กล่าวว่า ได้ลงพื้นที่ที่หัวลำโพง คนไร้บ้านเยอะกว่าราชดำเนิน ต้องขอบคุณ พม.และ สสส.ที่ทำให้คนไร้บ้านลดลง

 

“คนไร้บ้านคือคนที่อยากจะทำงาน แต่ไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกเริ่มต้น เมื่อไม่มีจุดเริ่มต้น ก็จะต่อไปไม่ได้ เช่น จุดดร็อปอิน ทำแคมป์ให้พัก”

 

เมื่อถามว่า มีความคาดหวังต่อทิศทางการแก้ปัญหา คนไร้บ้านอย่างไรบ้าง ?

 

ผศ.ดร.เกษรา หรือ ดร.ยุ้ย กล่าวว่า เราต้องการให้คนไร้บ้านน้อยลงเรื่อยๆ แต่กะ เกณฑ์ยาก เราจะพยายามแก้ปัญหา 1.ไม่ให้คนไร้บ้านอยู่เป็นคนไร้บ้านถาวร

 

2.ทำอย่างไรให้เขาไม่เป็นคนไร้บ้านแต่แรก เมื่อไร้บ้านแล้ว ให้ไร้แค่ชัวคราว ‘สร้าง’ เพื่อไม่ให้กลับไปเป็นคนไร้บ้านถาวร

 

“ทำไมคนไร้บ้าน ต้องอยู่สนามหลวง หัวลำโพง เพราะรู้สึกว่า จะเป็นแหล่งงานได้ กับ มีคนเอาของมาให้ จึงคิดว่า ที่อยู่อาศัยที่ดีต้องใกล้แหล่งงาน อย่าคิดว่า ต้องมีสถานที่แบบบ้านอุ่นใจ แต่สามารถมีสถานที่คล้ายๆ กันเพื่อแก้ปัญหา เราอาจจะสร้างคลัสเตอร์แบบบ้านอุ่นใจในหลายๆ ที่เพื่อแก้ปัญหา” ผศ.ดร.เกษรา กล่าว

 

จากนั้น เวลา 16.55 น. นายศานนท์เดินเข้าไปให้กำลังใจคนไร้บ้าน และเจ้าหน้าที่ พม. ที่จุดลงทะเบียน

 

“ขอบคุณนะครับ ให้กำลังใจทุกคนนะครับ” นายศานนท์ กล่าว ก่อนเดินเข้าไปยังจุดบริการตัดผม และเลี้ยวเข้าไปยังสถานีรถไฟหัวลำโพง มุ่งหน้าไปยัง บ้านพักภายในชุมชนสลักหิน พร้อมคณะ

 

โดยอดีตคนไร้บ้าน กล่าวถึงห้องพักว่า ห้องนี้อยู่ได้มากกว่า 2 คน แต่อยู่กัน 2 คน รายจ่ายเพียงพออยู่ นอกจากนี้ ทางรองผู้ว่าฯ กทม. พม. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยังพูดคุยถึงเงื่อนไขด้านกฎหมาย ในเรื่องสัญญาเช่า มีการแนะนำให้ออกเป็นทะเบียนบ้านชั่วคราวได้ ตามหลักการ

 

Shares:
QR Code :
QR Code