เดินหน้าขยาย Happy Workplace “10 แนวทางสร้างสุข อายุยืน”
ที่มา : สำนักข่าวสร้างสุข
ภาพโดย สสส.
สสส. ร่วมกับ กรมอนามัย เดินหน้าขยาย “Happy Workplace” ผนึกกำลัง 6 หน่วยงานชั้นนำ มั่นใจนวัตกรรม “10 แนวทางสร้างสุข อายุยืน” สร้างจุดแข็งแรงงานไทยสุขภาพดี
เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม ที่โรงแรมสวิสโซเทล เลอ คองคอร์ด รัชดา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข จัดงานแถลงข่าวพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค คนวัยทำงานในสถานประกอบการ โดย นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า คนวัยทำงานเป็นประชากรกลุ่มใหญ่ของประเทศ และเป็นกลุ่มหลักที่ต้องทำหน้าที่ขับเคลื่อนประเทศตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เพื่อให้บรรลุวิสัยทัศน์ “ประเทศมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศพัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ดังนั้นการสร้างสุขภาวะและคุณภาพชีวิตที่ดี จึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพื่อสร้างความเป็นไปได้และทำให้เกิดความยั่งยืน ผ่านการบูรณาการทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อให้ประเทศไทยบรรลุตามเป้าหมายและเสริมสร้างความมั่นคงให้แก่ประเทศ
แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ร่วมกับ สสส. ดำเนินงานโครงการพัฒนารูปแบบการส่งเสริมสุขภาพวัยทำงานในสถานประกอบการเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี โดยมี “10 แนวทางสร้างสุข อายุยืน” คือ 1. หุ่นดี สุขภาพดี 2. จิตสดใส ใจเป็นสุข 3. ครอบครัวสดใส ใส่ใจดูแล 4. สุดยอดคุณแม่ 5. เตรียมเกษียณอย่างมีคุณค่า พาชีวายืนยาว 6. พิชิตออฟฟิศซินโดรม 7. สถานประกอบการจะก้าวไกล ต้องใส่ใจสุขภาพแรงงานต่างชาติ 8. สถานประกอบการดี ชีวีสดใสไร้แอลกอฮอล์ บุหรี่ 9. โรงอาหารปลอดภัยใส่ใจสุขภาพ และ 10. สถานประกอบการปลอดภัยสิ่งแวดล้อมดี มีสมดุลชีวิต เพื่อใช้เป็นแนวทางให้หน่วยงาน สถานประกอบการ นำไปใช้ออกแบบกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพให้แก่ประชากรกลุ่มวัยทำงานตามสภาพปัญหาทางสุขภาพในแต่ละมิติและความต้องการของสถานประกอบการเพื่อให้มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น
นายสุทธิ สุโกศล ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า กระทรวงแรงงานมีวิสัยทัศน์ คือ แรงงานมีศักยภาพสูงและมีคุณภาพชีวิตที่ดีภายใต้พันธกิจการเพิ่มศักยภาพแรงงาน และผู้ประกอบการให้พร้อมรับกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง และให้สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาของประเทศ คุ้มครอง และส่งเสริมให้แรงงานมีความมั่นคงในการทำงาน มีหลักประกัน และมีคุณภาพชีวิตที่ดี รวมถึงบูรณาการความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง ในการขับเคลื่อนงานด้านการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคให้แก่ประชาชนวัยทำงานและผู้ประกันตนวัยแรงงานทุกกลุ่มในสถานพยาบาลและสถานประกอบการ และสนับสนุนให้ดำเนินงานขับเคลื่อนงานส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค เพื่อให้เกิดกลไกระดับนโยบาย ระดับพื้นที่ ระดับจังหวัด และระหว่างหน่วยงาน
นพ.ชาญวิทย์ วสันต์ธนารัตน์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะองค์กร สสส. กล่าวว่า “คนทำงาน ในองค์กร” ที่ถือเป็นบุคคลสำคัญและเป็นกำลังหลักของทั้งครอบครัว องค์กร ชุมชน และสังคม หากมีความสุขในการทำงาน ส่งผลให้ความเครียด อุบัติเหตุ และโรคที่เกิดจากการทำงานลดลง สสส. จัดทำโครงการ Happy Workplace ตั้งแต่ปี 2552 โดยมีเป้าหมายเพื่อเสริมสร้างการพัฒนาองค์กรสู่องค์กรสุขภาวะ พัฒนาบุคลากรให้พร้อมทั้งด้านทักษะชีวิตและคุณภาพชีวิต มีความสุขในการทำงาน ในหน่วยงานทั้งภาครัฐ และเอกชนกว่า 10,000 องค์กร ซึ่งเชื่อมั่นว่าจะเป็นทัพสำคัญในการแข่งขันบนเวทีเศรษฐกิจโลก
นพ.ไพบูลย์ เอกแสงศรี เลขาธิการสมาคมโรงพยาบาลเอกชน กล่าวว่า จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ประเทศไทยมีคนวัยแรงงาน อายุ 15-59 ปี มากถึง 67% ของประชากรโดยรวม มีการดูแลสุขภาพที่น้อยและมีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการทำลายสุขภาพ ดูแลโรงพยาบาลเอกชนทั่วประเทศกว่า 250 แห่ง และมีบุคลากรวัยทำงานในสถานพยาบาลมากกว่า 2 แสนคน ทั้งก่อน-หลังเจ็บป่วย โดยเข้าร่วมโครงการตรวจสุขภาพคนวัยทำงานในบริษัท องค์กร หรือโรงงาน และหากเจ็บป่วย ก็สามารถเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเอกชนที่เข้าร่วมโครงการตามสิทธิประกันสังคม และโครงการเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต หรือ UCEP เมื่อคนไทยเกิดเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต สามารถเข้ารับการรักษาโรงพยาบาลใกล้ที่เกิดเหตุ ภายใน 72 ชั่วโมง
นายเดชา จาตุธนานันท์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า “คน” เป็นกลไกสำคัญในการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต จำเป็นต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของพนักงาน ภายใต้หลักการ Happy Workplace ของ สสส. มุ่งให้องค์กรมีความพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลง ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยมีพัฒนาคุณภาพชีวิตและส่งเสริมสุขภาพประชากรกลุ่มวัยทำงาน ความสุขของคนทำงานทั้ง 8 มิติ ( Happy 8) ให้ดีขึ้น เพื่อเพิ่มผลิตภาพของสถานประกอบการผ่านโครงการส่งเสริมผลิตภาพและสุขภาวะองค์กรในวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมพัฒนาเจ้าหน้าที่เกิดค่าเฉลี่ยความสุข HAPPINOMETER เพิ่มขึ้นทุกมิติ จาก 59.84% เป็น 62.00%
นายสุชาติ จันทรานาคราช รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า แรงงานที่มี 38.82 ล้านคน อยู่ในระบบประกันสังคมกว่า 15 ล้านคน สภาอุตสาหกรรมฯ ให้ความสำคัญในการส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อมในการทำงาน และได้ดำเนินงานโครงการตรวจสุขภาพพนักงานในสถานประกอบการร่วมกับสำนักงานประกันสังคม โดยจัดกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพที่สำคัญ อาทิ โครงการเดิน-วิ่งเพื่อสุขภาพทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค งาน THAILAND SPORT EXPO 2019 : Empower Your Sport DNA และส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคให้แก่พนักงานในสถานประกอบการภาคอุตสาหกรรม และประสานความร่วมมือกับภาคีเครือข่าย สร้างอนามัยสิ่งแวดล้อมที่เป็นมิตรกับชุมชน ส่งผลให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี สร้างความสมดุลทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสังคมคุณภาพอย่างยั่งยืน
นพ.ชวินทร์ ศิรินาค ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กรุงเทพมหานครได้ดำเนินงานด้านการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคแก่ประชาชนในทุกกลุ่มวัย ตามแผนพัฒนากรุงเทพมหานครระยะ 20 ปี ระยะที่ 2 (2561-2565) โดยมีเป้าหมายให้คนกรุงเทพฯ มีสุขภาวะทั้งทางกายและจิต มีพฤติกรรมสุขภาพที่ดี ไม่มีภาวะเจ็บป่วยจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรังและโรคจากการประกอบอาชีพ ซึ่งโรคที่พบมากในกลุ่มคนวัยทำงาน ได้แก่ โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ได้แก่ โรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมองและปัญหาด้านสุขภาพจิต เช่น ภาวะซึมเศร้า เนื่องจากวิถีชีวิตของคนเมืองที่ต้องใช้ชีวิตแข่งขันกับเวลา เผชิญกับมลภาวะ กินอาหารที่ไม่เหมาะสม ขาดการออกกำลังกาย การร่วมบูรณาการครั้งนี้จะช่วยส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคคนวัยทำงานในสถานประกอบการให้มีสุขภาวะและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้
สำหรับพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค คนวัยทำงานในสถานประกอบการ จะจัดขึ้นในวันที่ 12 กันยายน 2562 ณ โรงแรมสวิสโซเทล เลอ คองคอร์ด รัชดา โดยมีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธี ติดตามรายละเอียดได้ทาง www.thaihealth.or.th