เช็กสัญญาณเตือน ท้องเสีย หรือ ลำไส้อักเสบ

ที่มา :  มติชน


เช็กสัญญาณเตือน ท้องเสีย หรือ ลำไส้อักเสบ thaihealth


แฟ้มภาพ


อาการปวดท้องและท้องเสียบ่อยๆ ดูเหมือนจะเกิดขึ้นได้ทั่วไป แต่หากมีอาการรุนแรงขึ้น ขับถ่ายมีเลือดปนออกมา ติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน อย่านิ่งนอนใจ ให้รีบไปพบแพทย์ทันทีเพราะอาจเป็นสัญญาณเตือนว่ากำลังตกอยู่ในภาวะเสี่ยงของการเป็น "โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง"


รศ.นพ.สถาพร มานัสสถิตย์ ประธานชมรมลำไส้เล็ก ลำไส้ใหญ่ สมาคมแพทย์ระบบทางเดินอาหาร แห่งประเทศไทย เผยว่า "กลุ่มโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง" ยังไม่เป็นที่รู้จักมากนักสำหรับคนไทย ด้วยในอดีตเป็นโรคที่มักจะเกิดกับคนในตะวันตกและตะวันออกกลาง แต่ในปัจจุบันพบว่าผู้ป่วยโรคนี้ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น และสามารถพบได้ในทุกช่วงอายุ ทำให้อุบัติการณ์ของโรคดังกล่าวในประเทศไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ มากไปกว่านั้นอาการของโรคมีความคล้ายคลึงกับโรคกระเพาะ โรคริดสีดวงทวาร หรือโรคลำไส้แปรปรวน ผู้ป่วยจึงไม่เฉลียวใจ ทำให้ได้รับการรักษาที่ไม่ตรงกับโรค เมื่อปล่อยทิ้งไว้ทำให้มีอาการหนักและเรื้อรังเพิ่มขึ้น


ส่วนสาเหตุของการเกิดโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง ผศ.นพ.จุลจักร ลิ่มศรีวิไล แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ด้านโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง ให้ข้อมูลว่า เกิดจากภูมิคุ้มกันของผู้ป่วยทำงานมากผิดปกติ และคิดว่าลำไส้ของตัวเองเป็นสิ่งแปลกปลอมจึงทำให้เกิดการอักเสบขึ้น คล้ายกับ "โรคพุ่มพวง"ต่างกันที่โรคพุ่มพวงทำให้เกิดการอักเสบได้ทุกส่วนในร่างกาย แต่โรคลำไส้อักเสบเรื้อรังจะเกิดการอักเสบที่ระบบทางเดินอาหารเป็นหลัก


"หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง อาจเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ลำไส้ตีบตัน ลำไส้ทะลุ มีโอกาสเสี่ยงเป็นมะเร็ง หรือเกิดโรคแทรกซ้อนถึงขั้นเสียชีวิตได้ ดังนั้น หากมีอาการที่อาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคนี้ ผู้ป่วยควรรีบมาพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยให้แน่ชัด" ผศ.นพ.จุลจักร กล่าวย้ำ


อย่างไรก็ตาม เนื่องจากไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด จึงทำให้การป้องกันเป็นไปได้ยาก แต่สามารถลดความรุนแรงของอาการ และลดโอกาสเกิดอาการกำเริบได้ โดยใช้ยาเป็นแนวทางการรักษาหลัก เพื่อทำให้เยื่อบุลำไส้คืนสู่สภาพปกติจนไม่มีอาการผิดปกติใดๆ แต่กระนั้นโรคนี้ยังไม่พบวิธีรักษาให้หายขาด ดังนั้น แม้จะได้หยุดยาแล้ว แต่ผู้ป่วยก็ยังจำเป็นต้องอยู่ในการดูแลของแพทย์ และตรวจติดตามอาการเป็นระยะ เพื่อที่หากโรคเริ่มกลับมาเป็นซ้ำ จะได้รักษาอาการได้ทันท่วงที

Shares:
QR Code :
QR Code