เชื้อไข้หวัดใหญ่2009ยังระบาดไม่รุนแรง

เชื้อไข้หวัดใหญ่2009แพร่ระบาดไม่รุนแรง thaihealth


“กระทรวงสาธารณสุข” เผยเชื้อไข้หวัดใหญ่ที่พบในไทยปีนี้ส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์เอ เอช3 เอ็น2 สายพันธุ์ย่อยสวิส ซึ่งรุนแรงไม่มากกว่าไข้หวัดใหญ่ 2009 ประชาชนไม่ต้องกังวล ขณะที่องค์การเภสัชกรรมเตรียมยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์ 30 ล้านเม็ด พร้อมกระจายยาถึงคลินิกทุกแห่งที่ต้องการ


ที่กระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค และนายแพทย์สมชายโชติ ปิยวัชร์เวลา โฆษกกระทรวงสาธารณสุข ร่วมกันแถลงข่าวความคืบหน้าสถานการณ์โรคไข้หวัดใหญ่


นายแพทย์โสภณ  กล่าวว่า กรมควบคุมโรคได้ประชุมวอร์รูมติดตาม ประเมินสถานการณ์ของโรคไข้หวัดใหญ่ทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะการระบาดในซีกโลกเหนือซึ่งเป็นฤดูหนาว เช่น อเมริกา ยุโรป รวมทั้งอินเดีย และฮ่องกง โดยที่อินเดีย สายพันธุ์หลักที่ระบาดคือเอ เอช1เอ็น1 (A H1N1) หรือไข้หวัด2009 ซึ่งเป็นเชื้อที่รุนแรง ตั้งแต่ต้นปี 2558 ป่วย 10,235 ราย เสียชีวิต 926 ราย ส่วนที่ฮ่องกง ตั้งแต่ต้นปีมีผู้ป่วยหนักจำนวน 383 ราย เสียชีวิต 283 ราย ซึ่งเก็บข้อมูลจากผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาที่ห้องไอซียูในโรงพยาบาลรัฐและเอกชน สายพันธุ์หลักเป็นชนิดเอ เอช3เอ็น2 (A H3N2) พบได้ร้อยละ 96 


ส่วนประเทศไทย ในปีนี้ยังอยู่ในช่วงของการระบาดเหมือนปีที่ผ่านมาคือมกราคม–มีนาคม สถานการณ์ไม่รุนแรง มีผู้เสียชีวิตตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 23 กุมภาพันธ์ 2558  จำนวน 8 ราย ขณะที่ในปี 2557 ช่วงเดียวกันเสียชีวิต 24 ราย  ส่วนผู้ป่วยพบสูงสุดในเดือนกุมภาพันธ์ เชื้อที่พบเป็นชนิดเอ เอช3เอ็น2 ร้อยละ 68 ชนิดบีร้อยละ 24 และชนิดเอ เอช1เอ็น1 ร้อยละ 4 โดยเชื้อเอช3 เอ็น2 พบว่าเป็นสายพันธุ์สวิสมากถึงร้อยละ 90 แต่อย่างไรก็ตามเชื้อนี้จัดว่าไม่รุนแรงกว่าเชื้อเอช1เอ็น1 หรือไข้หวัด2009 ประชาชนจึงไม่ต้องกังวลมาก และในปีนี้ไทยได้สั่งซื้อวัคซีนจากต่างประเทศ เป็นวัคซีนรวม 3 ชนิด คือสายพันธุ์ บี สายพันธุ์ย่อยภูเก็ต สายพันธุ์เอ เอช3เอ็น2 สายพันธุ์ย่อยสวิสเซอร์แลนด์ และสายพันธุ์เอช1เอ็น1 หรือไข้หวัด2009   ตามที่องค์การอนามัยโลกแนะนำ และตรงกับเชื้อที่มีการติดต่อในประเทศไทย


ทางด้านนายแพทย์โอภาส กล่าวว่า มาตรการการเฝ้าระวังไข้หวัดใหญ่ของไทย จะประมวลจาก 3 สถานการณ์หลัก ได้แก่ 1.จำนวนผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยในปี 2558 นี้ มีรายงานตั้งแต่ต้นปีถึง23 กุมภาพันธ์ จำนวน 10,032 ราย ซึ่งใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา แต่เสียชีวิตน้อยกว่ามาก 2.ผลการเฝ้าระวังสัดส่วนของผู้ป่วยไข้หวัดที่ใช้บริการที่แผนกผู้ป่วยนอกของโรงพยาบาลทุกแห่ง พบอยู่ในอัตราร้อยละ 5 ของผู้ป่วยนอกทั้งหมด ถือว่ายังอยู่ในเกณฑ์ปกติ ซึ่งหากพบมากกว่าร้อยละ 10 จัดอยู่ในเกณฑ์มีการระบาด และ3.การเฝ้าระวังการระบาดเป็นกลุ่มก้อน พบว่าเมื่อต้นปีเกิดกระจัดกระจายในโรงเรียน โรงพยาบาล ค่ายทหาร เช่นที่จังหวัดนครราชสีมา เชียงใหม่ และบุรีรัมย์ แต่จำนวนผู้ป่วยไม่มากและมีอาการไม่รุนแรง จึงถือว่าสถานการณ์ยังไม่น่าห่วงมากนัก


นอกจากนี้ยังมีการเฝ้าระวังเชื้อไวรัสโดย 3 หน่วยงานได้แก่ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สำนักระบาดวิทยา สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์การแพทย์ทหาร ซึ่งพบว่าเชื้อยังไม่มีการกลายพันธุ์ ส่วนการกำหนดสายพันธุ์ที่จะผลิตวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลในแต่ละปีนั้น องค์การอนามัยโลกจะทำการตรวจเชื้อที่ส่งมาจากทั่วโลก หากพบสายพันธุ์ใดที่มีการระบาดและมีผลกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดี ก็จะนำมาผลิตวัคซีน ในปีที่ผ่านมามี 3 สายพันธุ์ คือเอ เอช1เอ็น1 สายพันธุ์ย่อยแคลิฟอร์เนียหรือหวัด2009  สายพันธุ์เอ เอช3เอ็น2 สายพันธุ์ย่อย เท็กซัส และสายพันธุ์บี และวัคซีนในปีนี้จะเป็นสายพันธุ์เอ เอช1เอ็น1 สายพันธุ์ย่อยแคลิฟอร์เนียหรือหวัด2009 เช่นเดิม สายพันธุ์เอ เอช3เอ็น2 สายพันธุ์ย่อยสวิสเซอร์แลนด์ และสายพันธุ์บีสายพันธุ์ย่อยภูเก็ต ปัญหาที่น่าห่วงและกังวลก็คือ ความรุนแรงของเชื้อที่เกิดจากการกลายพันธุ์และเชื้อดื้อยา ซึ่งผลการเฝ้าระวังยังไม่พบทั้ง 2 ปัญหานี้ในไทย


สำหรับการป้องกันในปีนี้ จะเน้น 3 มาตรการ ประกอบด้วย 1.การป้องกันการป่วย จะเน้นการรณรงค์ให้ประชาชนยึดหลักกินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ  พักผ่อนเพียงพอ ไม่โหมงานหนัก กินผลไม้สดมากๆ เพื่อสร้างภูมิต้านทานโรค และฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ในกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงหากป่วยแล้วอาการจะรุนแรงกว่าคนทั่วไป 4 กลุ่ม ได้แก่ ผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป หญิงตั้งครรภ์อายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป  เด็กอายุ 6 เดือนถึง 2 ขวบ และผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ได้แก่  โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง  โรคหัวใจ  โรคหลอดเลือดสมอง ไตวาย หอบหืด เบาหวาน โรคมะเร็งที่อยู่ระหว่างทำเคมีบำบัด รวมทั้งการป้องกันในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ และผู้ที่มีหน้าที่กำจัดสัตว์ปีกซึ่งมีโอกาสเสี่ยงติดเชื้อสูงกว่ากลุ่มอื่น รวมทั้งหมด 3.5 ล้านคน


มาตรการที่ 2 คือ การป้องการการแพร่กระจายเชื้อ จะรณรงค์ให้ผู้ป่วยไข้หวัดทุกคน หยุดเรียนหยุดงาน พักผ่อนที่บ้านจนกว่าจะหาย ใส่หน้ากากอนามัย  ล้างมือบ่อยๆ เพื่อตัดวงจรการแพร่เชื้อ และ 3 มาตรการการป้องกันการเสียชีวิตโดยรักษาด้วยยาต้านไวรัส ใน 4 กลุ่มเสี่ยงที่กล่าวมาหากป่วยขอให้พบแพทย์ทันที รวมทั้งประชาชนทั่วไปที่มีอาการรุนแรง เช่นเหนื่อยหอบ หรืออาการไม่ดีขึ้นภายใน 48 ชั่วโมง ขอให้ไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน โดยอาการของโรคไข้หวัดใหญ่จะเริ่มจากมีไข้สูงอย่างเฉียบพลัน ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว คัดจมูก น้ำมูกไหล เจ็บคอ ไอแห้งๆ สามารถโทรปรึกษาได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422 ตลอด 24 ชั่วโมง


ทางด้านนายแพทย์สมชายโชติ กล่าวว่า รมว.สาธารณสุข มีนโยบายสร้างความมั่นคงด้านวัคซีน และด้านยารักษาไข้หวัดใหญ่ โดยได้สั่งการให้องค์การเภสัชกรรมสำรองวัตถุดิบในการผลิตยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์จำนวน 3,000 กิโลกรัม ผลิตยาได้ 30 ล้านเม็ด เพื่อกระจายให้โรงพยาบาลรัฐ เอกชน ทั่วประเทศ โดยในปีนี้มีนโยบายกระจายให้ถึงคลินิกเอกชนทุกพื้นที่ที่ต้องการ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงยา จะลดการเสียชีวิตได้ ส่วนวัคซีนไข้หวัดใหญ่จะเริ่มฉีดให้เร็วขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา ก่อนเข้าฤดูฝนจะเริ่มฉีดประมาณปลายเดือนเมษายน ได้สั่งนำเข้าแล้ว 3.5 ล้านโด๊ส นอกจากนี้ ให้ทีมหมอครอบครัวลงพื้นที่ดูแลผู้ป่วยติดเตียง ผู้พิการถึงที่บ้าน รวมทั้งให้ความรู้การปฏิบัติตัว สร้างสุขนิสัยส่วนบุคคลในการป้องกันโรคนี้ แก่ศูนย์เด็กเล็ก โรงเรียน และชุมชน


 


ที่มา : เว็บไซต์กระทรวงสาธารณสุข


ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

Shares:
QR Code :
QR Code