เชื่อมโยงชุมชน ขับเคลื่อนปฏิรูปการเรียนรู้
การจัดการเรียนรู้โดยใช้คนในจังหวัด เพื่อทำให้ขอบเขตการปฏิรูปการเรียนรู้สามารถดำเนินการได้ในระดับท้องถิ่น กำลังคืบคลานอย่างค่อยเป็นค่อยไปในหลายจังหวัด
กาญจนบุรีก็เป็นอีกจังหวัดที่พยายามปฏิรูปการเรียนรู้ด้วยท้องถิ่น แม้จะมีอุปสรรคมากมาย จากจังหวัดที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของประเทศ มีเขตติดต่อกับพม่ายาวกว่า 370 กม. มีวัฒนธรรมและเอกลักษณ์ของชนเผ่าที่หลากหลาย และมีผลการประเมินระดับชาติรั้งท้ายในอันดับ 67 ของประเทศ
ปัจจัยเหล่านี้อาจฉุดรั้งการพัฒนาการศึกษา แต่คนในพื้นที่กลับนำปัญหามาเป็นโอกาส ระดมสรรพกำลังขับเคลื่อนปฏิรูปการเรียนรู้ให้กับเด็กนักเรียนในจังหวัด โดยมองโจทย์เป็นตัวตั้ง
สะอาด ทั่นเส้ง ผู้อำนวยการกองการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม องค์การบริหารส่วนจังหวัดกาญจนบุรี เกริ่นนำใน “เวทีปฏิรูปการเรียนรู้สู่การศึกษาเพื่อคนทั้งมวล” ครั้งที่ 30 ซึ่งจัดโดยสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เมื่อเร็วๆ นี้ว่า กาญจนบุรีผนึกกำลังทุกภาคส่วนในชุมชน เพื่อเดินหน้าปฏิรูป โดยไม่ได้เอาตำแหน่งเป็นตัวตั้ง แต่ใช้แรงใจดึงคนในท้องถิ่นและชุมชนมาร่วมมือ
ศิวโรฒ จิตนิยม ประธานสภาการศึกษาจังหวัดกาญจนบุรี ที่ใช้ใจอาสาเข้ามาเป็นแกนนำในการปฏิรูปการเรียนรู้ให้กับจังหวัด โดยบอกว่า การปฏิรูปการเรียนรู้ของกาญจนบุรีนับเป็นความท้าทาย เพราะนอกจากจังหวัดจะมีพื้นที่กว้างใหญ่แล้ว ยังมีหลายชนเผ่า ประชากรกว่า 8.4 แสนคน ไม่นับรวมผู้ที่ไม่มีบัตรประชาชน และทะเบียนบ้านที่เข้ามาอยู่ในพื้นที่ราว 3 แสนคน ทำให้ตั้งโจทย์ใหญ่ภายใน 5 ปี ร่วมกัน คือคนกาญจนบุรีต้องได้รับการศึกษาอย่างเท่าเทียม และเหมาะสมตามความต้องการ โดยมุ่งแก้ไขกลุ่มเด็กที่หลุดจากระบบการศึกษาซึ่มีจำนวนมาก เนื่องจากความยากจน โดยทางออกที่เรามองไว้ คือ ประสานความร่วมมือให้สถานประกอบการรับเด็กเหล่านี้เข้าไปฝึกทำงาน และหากเด็กมีคุณสมบัติตรงตามต้องการก็รับเข้าทำงาน
“ศรีสวัสดิ์โมเดล” รูปแบบการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนศรีสวัสดิ์พิทยาคม จึงเป็นหนึ่งในแม่แบบที่ถูกนำมาขยายผลโรงเรียนแนวความคิดนี้ โดยมีปรับหลักสูตรเน้นวิชาชีพที่หลากหลาย และประสานงานกับวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีกาญจนบุรี รวมถึงองค์กรธุรกิจ เช่น บริษัท เจียไต๋ เปิดโครงการต่อยอดการศึกษาถึงระดับปวส.ด้วยระบบไตรภาคี ให้โรงเรียนรับผิดชอบวิชาสามัญ วิทยาลัยฯรับผิดชอบในส่วนทฤษฎี ส่วนธุรกิจรับเด็กไปฝึกงาน โดยพบว่าหลังจบการศึกษาเด็กมีงานทำในบริษัท เพราะมีคุณภาพพร้อมสำหรับการทำงาน
เช่นเดียวกับจังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่เริ่มต้นจากข้อมูลที่พบว่า มีประชากรไม่ได้รับการศึกษาในปี 2554 กว่า 27,509 คน คิดเป็นร้อยละ 3.5 และมีอัตราเข้ารับรักษาในสถานพยาบาลจากการทำแท้งของหญิงอายุระหว่าง 15-19 ปี รวม 293 คนคิดเป็นร้อยละ 7.7
สุราษฎร์ธานีจึงพยายามมองหาเครื่องมือในการแก้ไข สุดท้ายก็ได้นำ “หลักธรรมคำสอนของพุทธทาส” อันเป็นศูนย์รวมศรัทธา และเป็นทุนท้องถิ่น มาเป็นหนึ่งใน “เครื่องมือให้ความรู้” และสร้าง “แรงขับเคลื่อนในพื้นที่” โดยมีอบจ.สุราษฏร์ธานี เข้ามาเป็นเจ้าภาพใหญ่ทั้งเรื่องงบประมาณและเป็นจุดประสานงานกลาง
ชัยวัฒน์ แก้วบัวทอง ผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านการศึกษา อบจ.สุราษฎร์ธานี เล่าว่าจังหวัดเริ่มขับเคลื่อนการทำงานเป็นรูปธรรมเมื่อไม่นานมานี้ โดยเริ่มระดมคนจากภาคส่วนต่างๆเข้ามาหารือ มีคนเข้ามาร่วมถึง 111 คน และร่วมกันกำหนดขอบเขตที่จะดำเนินการ ประกอบด้วย การทำฐานข้อมูลที่เคยอยู่กระจัดกระจาย พัฒนาเด็กด้อยโอกาสรวมถึงเด็กแอลดี (LD : Learning Disability )ที่มีรวมกว่า 2,000 คน พร้อมกับยกระดับผลสัมฤทธิ์ และพัฒนาระบบการประเมินโรงเรียนใหม่
อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา ผู้บริหารโรงเรียนสัตยาไสย ย้ำในเวทีการพูดคุยว่า ทุกคนต้องไม่ลืมถึงวัตถุประสงค์ของการศึกษา คือ สร้างคนดี เพราะหากเด็กดี จะเรียนรู้ และเก่งด้วยตัวเอง ดังนั้นการเรียนการสอนทุกวิชาต้องให้เด็กคิดวิเคราะห์ พร้อมแทรกเรื่องคุณธรรม และสมาธิ ที่ทุกศาสนาสามารถเรียนรู้ได้
ศ.นพ.ประเวศ วะสี ให้แง่คิดในตอนท้ายว่า อนาคตโลกต้องเอียงไปสู่ความดี ทุกคนอาจคิดว่ายากที่จะเปลี่ยนแปลง เพราะคนไม่ดีเต็มเมือง แต่เมื่อลงไปในชุมชนจะพบว่าหลายพื้นที่กำลังเชื่อมโยงการทำงานเพื่อสร้างคนดีทั้งสิ้น และสิ่งที่จะเชื่อมโยงคนทำงานเข้าด้วยกันได้ ก็คือ ความดีนั่นเอง สำหรับการปฏิรูปการเรียนรู้ในระดับจังหวัด การเชื่อมโยงจะเกิดขึ้นได้ ต้องอาศัยกลไกจัดเวทีขับเคลื่อนเวียนในตำบลต่างๆและมีการประชาสัมพันธ์เผยแพร่ข้อมูลระหว่างกัน การมีส่วนร่วมจึงจะเกิดขึ้น
ที่มา : สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.)