เชื่อมระบบขนส่งสาธารณะด้วยการเดิน-ขี่จักรยาน

ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ 


ภาพประกอบจากเว็บไซต์สถาบันการเดินและการจักรยานไทย


เชื่อมระบบขนส่งสาธารณะด้วยการเดิน-ขี่จักรยาน thaihealth


Thailand Bike and Walk Forum เชื่อมต่อระบบขนส่งสาธารณะด้วยการเดินและขี่จักรยาน


จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 6 แล้วสำหรับ การประชุมการส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน หรือ Thailand Bike and Walk Forum จัดโดยสถาบันการเดินและการจักรยานไทย และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ซึ่งเป็นการประชุมที่จัดขึ้นเพื่อเป็นเวทีนำเสนอผลงานวิจัยและวิชาการที่เกี่ยวกับการเดินและการใช้


จักรยานในชีวิตประจำวัน รวมทั้งการนำเสนอผลการทำงานระดับชุมชน ท้องถิ่น ซึ่งเป็นชุดประสบการณ์การวิจัยเชิงปฏิบัติการที่เกิดขึ้นจริงในพื้นที่ โดยในปีนี้เป็นการประชุมภายใต้หัวข้อ "เปลี่ยนรูปแบบการเดินทาง เชื่อมต่อระบบขนส่งสาธารณะ ด้วยการเดินและขี่จักรยานเพื่อสุขภาพคนและเมือง (Mode Shift: Bike and Walk to Public Transport Connection)"


เปิดงานด้วยปาถกฐาพิเศษโดย นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ให้วิสัยทัศน์ในการผลักดันระบบคมนาคมที่มุ่งสู่เป้าหมายในอนาคต "การเดินทางที่ไม่ใช้เครื่องยนต์ หรือ Non Motorized Transport (NMT) จะเป็นอนาคตแห่งการเดินทาง ทั้งประหยัด เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และดีต่อสุขภาพ แต่ประเด็นสำคัญคือการเชื่อมต่อระบบการคมนาคม เพราะการเดินและการ


ขี่จักรยานมีข้อจำกัดด้านระยะทางและความทนทานต่อสภาพอากาศ ดังนั้น สิ่งสำคัญคือ การต่อเชื่อมกับการเดินทางในประเภทอื่นๆ เช่น สนามบินจะต้องมีรถเมล์ รถสองแถว หรือ รถสาธารณะ วิ่งเข้าเมืองไปจบที่สถานีขนส่งในตัวเมือง รวมทั้งทุกสถานีของรถไฟฟ้าความเร็วสูงและรถไฟทางคู่ กรมทางหลวงชนบท หรือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องมีถนนเข้าออกอย่างเหมาะสม และมีรถโดยสารจากสถานีรถไฟเข้าเมือง มีที่จอดรถแบบจอดแล้วจร รวมถึงที่จอดจักรยานด้วย เพื่อให้การเดินทางครบสมบูรณ์ได้ ขอให้ทุกคนช่วยกันผลักดันเสียงของกลุ่ม Non Motorized transport ให้ดังกว่านี้ เริ่มต้นกับจังหวัดหรือเมืองที่มีศักยภาพทำให้เป็น low carbon city ส่วนเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการผังเมืองและการจราจร ต้องใช้อำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัด นายกเทศมนตรี หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น"


โดยกิจกรรมในวันแรกเป็นการประชุมเชิงวิชาการที่มุ่งหวังให้เป็นเวทีที่เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างหน่วยงานที่กำหนดนโยบาย นักวิจัย นักวิชาการ และผู้ปฏิบัติงานในระดับพื้นที่ ซึ่งปีนี้มีผลงานนำเสนอภายใต้ประเด็นหลัก ดังนี้


– นำเสนอผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้องต่อการส่งเสริมให้เกิดโครงสร้างพื้นฐานและกายภาพของเมืองและชุมชนที่เอื้อต่อการเดินและขี่จักรยานเชื่อมต่อระบบขนส่งสาธารณะ


– นำเสนอผลงานวิจัย การพัฒนา ออกแบบ วางแผนเส้นทางระบบขนส่ง โครงข่ายเชื่อมต่อระบบขนส่งสาธารณะ


– ตัวอย่างพื้นที่ศึกษา เพื่อส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน


– นำเสนองานวิจัยที่ผลการศึกษาการจัดการการท่องเที่ยววิถีชุมชนด้วยจักรยานและการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมคน


– นำเสนองานวิจัยที่มีผลการศึกษานโยบายและกฎหมายที่ส่งเสริมให้คนในเมืองและชุมชนเห็นความสำคัญและหันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะ


ภายในงานยังมีการมอบรางวัลเดินไปปั่นไป (I Bike I Walk Award) เป็นครั้งแรก เพื่อเป็นกำลังใจและยกย่องเชิดชู ให้นักวิจัย ชุมชน เครือข่าย องค์กร และบุคคล ที่ดำเนินงานเพื่อส่งเสริมให้เกิดการเดินและการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน เพื่อขับเคลื่อน "เมืองเดินไป ปั่นไป" โดยมีผู้ได้รับรางวัล ดังนี้


ประเภทงานวิจัย ผลงานวิชาการ ได้แก่ รศ.ดร.วิโรจน์ ศรีสุรภานนท์ หัวหน้าสาขาวิชาวิศวกรรมขนส่ง คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี นายช่างใหญ่ผู้ออกแบบโครงสร้างเมืองให้เอื้อต่อการเดินและการใช้จักรยาน


ประเภทหน่วยงาน องค์กร ได้แก่ บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) เป็นหน่วยงานที่มีส่วนร่วมในการผลักดันโครงการ "Walk and Bike Friendly City: เมืองที่เป็นมิตรต่อการเดินและการใช้จักรยาน" เทศบาลเมืองระนอง


ประเภทบุคคล ได้แก่ นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย พ่อเมืองผู้เป็นแบบอย่างการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน และนายพรเทพ ดิษยบุตร เลขาธิการสมาพันธ์ผู้ใช้จักรยานและการเดิน (ภาคใต้ตอนบน) จากนักปั่นจักรยานเพื่อการท่องเที่ยว กลายมาเป็นนักปั่นผู้เปลี่ยนชีวิตและเปลี่ยนแปลงสังคม เพื่อทำให้เกิดเมือง-ชุมชน ที่เดินและใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน


สำหรับกิจกรรมในวันที่สองเป็นการปั่นจักรยานเที่ยวในเมือง โดยเริ่มจากสถานีรถไฟบางซื่อไปยังลานพระราชวังดุสิตเพื่อเที่ยวชมงาน "อุ่นไอรัก คลายความหนาว" จากนั้นปั่นไปยังศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทย และเยี่ยมชมความสวยงามของสถาปัตยกรรม ณ วังบางขุนพรหม

Shares:
QR Code :
QR Code