‘เชียงราย’ จังหวัดปลอดขยะ
ที่มา: หนังสือพิมพ์บ้านเมือง
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
ฟื้น 'เสวียน'…ช่วยบำรุงดิน ขับเคลื่อนเชียงรายชุมชนปลอดขยะ
นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของ Chiang Rai Zero Waste เครือข่ายของนักวิชาการ และนักพัฒนาที่มุ่งสร้างวัฒนธรรมให้เชียงรายเป็นจังหวัดปลอดขยะ โดยอาศัยองค์ความรู้และประสบการณ์ที่ได้จากการศึกษาวิจัย และการให้บริการวิชาการมาสังเคราะห์เป็นกระบวนการสร้างการเปลี่ยนแปลงในการจัดการขยะชุมชนที่สามารถทำได้จริงและเห็นผลสำเร็จ นอกจากปีนี้จะมีหมู่บ้านถึง 17 แห่งจาก2จังหวัดเชียงรายที่ได้รับเลือกให้เป็นชุมชนปลอดขยะในโครงการประกวดชุมขนปลอดขยะ (Zero Waste) เฉลิมพระเกียรติ 89 พรรษา 89 ชุมชน ปี 2559 แล้วยังร่วมกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย (อบจ.เชียงราย) พัฒนาชุมชนต้นแบบหมู่บ้านจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน 18 แห่งใน 18 อำเภอของจังหวัด (เป็นชุมชนต้นแบบ Zero Waste ของกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมอยู่แล้ว 5 แห่ง และเป็นพื้นที่ใหม่ 13 แห่ง) โดยการขับเคลื่อนเชียงรายปลอดขยะนี้มีจุดร่วมที่เป็นสัญลักษณ์คือ "เสวียน"
เสวียน คือคอกไม้ไผ่ซึ่งแต่เดิมใช้ใส่เมล็ดข้าวหลังการเก็บเกี่ยว ต่อมาจึงมีการดัดแปลงมาขัดรอบต้นไม้เพื่อรองรับเศษวัสดุอินทรีย์ การนำเศษวัสดุอินทรีย์มาใส่ในเสวียนทำได้ง่ายยิ่งกว่าการเก็บเศษวัสดุเหล่านี้มัดใส่ถุงขยะ เพื่อทิ้งให้หมู่บ้านหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) มาจัดเก็บ เสวียนมีข้อดีทำให้กองวัสดุเป็นระเบียบสวยงาม ความโปร่งของเสวียนยังช่วยให้เกิดการย่อยสลายแบบมีออกซิเจนลดปริมาณก๊าซมีเทนซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจก นอกจากนี้ ผลพลอยได้อีกประการหนึ่งคือ สารบำรุงดินที่เกิดขึ้นในเสวียนที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ทำปลูกผักสวนครัวและทำเกษตรอินทรีย์ตามวิถีชีวิตกินอยู่แบบ Green & Clean
ดร.ปเนต มโนมัยวิบูลย์ อาจารย์ประจำสำนักวิชาวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ได้กล่าวถึงการวิจัยที่เป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาดังกล่าว "ปี 2557 ทางคณะผู้วิจัยจากมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงและมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ล้านนา (เชียงราย) ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจาก สสส.ผ่านมูลนิธิสถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ (PPSI) เพื่อศึกษาการพัฒนาการจัดการขยะมูลฝอยที่ชุมชนมีส่วนร่วม ผลการสำรวจทัศนคติและพฤติกรรมเกี่ยวกับขยะของกลุ่มตัวอย่าง 869 ครัวเรือน ในจังหวัดเชียงรายพบว่ามีครัวเรือนจำนวนหนึ่งที่มีการคัดแยกเศษวัสดุอินทรีย์ ดังนั้น เราจึงได้ข้อสรุปว่า ถ้าจะลดปัญหาการนำขยะไปกำจัดซึ่งไม่มีใครอยากให้มีบ่อขยะหรือเตาเผาของเทศบาลหรือ อบต.อยู่หลังบ้านของตน หรือที่ทางวิชาการเรียกว่า NIMBY — not in my backyard) เราทุกคนต้องแก้ที่ตัวเราเองโดยนำเศษวัสดุอินทรีย์หรือ "ขยะเปียก" แยกออกมาจัดการที่หลังบ้านของแต่ละคนเป็น New NIMBY — Now in my backyard ซึ่ง home compost เราแค่นำมาประยุกต์ให้มีรูปแบบเหมาะสมกับบริบทสังคมเกษตรกรรมของเชียงราย"
คุณพัทธยาพร อุ่นโรจน์ นักวิจัยประจำศูนย์วิจัยและฝึกอบรมด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (NREM) สำนักวิชาวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ซึ่งถอดบทเรียนการพัฒนาธนาคารขยะของบ้านสันปูเลย หมู่ 4 ต.เชียงเคี่ยน อ.เทิง ต้นแบบ Zero Waste ประจำปี 2558 ได้สนับสนุนความสำคัญของเสวียนว่า "การที่ชุมชนมีทางออกและสามารถจัดการเศษวัสดุอินทรีย์ได้เองเป็นจุดเริ่มต้นของการมีส่วนร่วมในการจัดการขยะ ที่บ้านสันปูเลยหมู่บ้านมีข้อตกลงว่าแต่ละหลังคาเรือนจะมีการทำเสวียนไว้รองรับเศษวัสดุอินทรีย์ที่ย่อยสลายได้ เช่นเดียวกับที่บ้านโป่งศรีนคร ตำบลโรงช้าง อำเภอป่าแดด ที่ชนะเลิศการประกวดชุมชนปลอดขยะระดับประเทศประจำปี 2558 ที่มีการทำเสวียนในทุกหลังคาเรือน เมื่อขยะส่วนนี้ออกไปจากถุงขยะแล้ว การดำเนินการกับเศษวัสดุรีไซเคิลก็ทำได้ง่ายขึ้น เพราะขยะไม่เหม็นและไม่ดูสกปรกอีกต่อไป การทำธนาคารขยะที่บ้านสันปูเลยจึงทำได้และมีความยั่งยืน"
เพื่อขยายผลจากงานวิจัย ทางคณะผู้วิจัยได้ทำงานร่วมกับ อบจ.เชียงรายในปี 2558 ภายใต้โครงการ 83 พรรษา 83 เสวียนเทิดไท้องค์ราชินี โดย ดร.พรรณนิภา ดอกไม้งาม อาจารย์ประจำสำนักวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ได้กล่าวถึงการขับเคลื่อนนี้ว่า "ในตอนนั้นเมื่อคณะผู้วิจัยได้มาสรุปและแลกเปลี่ยนผลการวิจัยประมาณเดือนมิถุนายน 2558 กรณีศึกษาที่ยังอยู่ในขั้นเริ่มต้นของการสร้างการมีส่วนร่วมคือตำบลป่าตึงซึ่งเป็นพื้นที่ให้บริการวิชาการเชิงบูรณการของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง โดยต้นปี 2558 ทาง อบต.ป่าตึงเพิ่งมีการให้บริการจัดเก็บขยะไปกำจัดด้วยตัวเองเป็นครั้งแรก ดังนั้นจึงคิดโครงการนี้ขึ้นเพื่อกระตุ้นให้ครัวเรือนในตำบลป่าตึงทำเสวียนและคัดแยกเศษวัสดุในส่วนนี้ออกไป สุดท้ายภายในระยะเวลา 2 เดือนกว่าๆ มีชุมชนตอบรับเข้าร่วมถึง 105 หมู่บ้านในทั้ง 18 อำเภอของจังหวัดเชียงราย"
หมู่บ้านหนึ่งที่เข้าร่วมโครงการฯ อย่างแข็งขันคือ บ้านโพธนาราม หมู่ 8 ตำบลสันทราย อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย ซึ่งเป็นหมู่บ้านต้นแบบเศรษฐกิจพอเพียงประจำ จังหวัดปี 2558 ดร.ปเนต มโนมัยวิบูลย์ เล่าให้ฟังว่า "ตำบลสันทรายเดิมทีได้รับผลกระทบ จากการปิดบ่อขยะของเอกชนในอำเภอแม่จันในปี 2555 ไม่มีที่ทิ้งขยะและทาง เทศบาลตำบลสันทรายได้มาปรึกษากับทาง NREM และเห็นด้วยกับการจัดการขยะที่ต้นทาง โดยมีบ้านโพธนารามนำร่องดำเนินการทั้งในส่วนของธนาคารวัสดุรีไซเคิลและการเลี้ยงไส้เดือนที่ทางมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงสนับสนุนพันธุ์ Tiger และ African Nightcrawler ให้จำนวน 2 กิโลกรัม ต่อมาเมื่อทีมเราส่งเสริมเรื่องการทำเสวียน พ่อหลวงศุภกิจ นวลพนัส ผู้ใหญ่บ้านก็ให้ความสนใจและชักชวนประชาชนในหมู่บ้านนำวัสดุที่มีไม่ว่าจะเป็นไม้ไผ่ กระเบื้องเก่า ตาข่าย ฯลฯ มาดัดแปลงทำเสวียน และเป็นหมู่บ้านแรกที่ทดลองนำแนวคิดของศาสตราจารย์ ดร.มิ่งสรรพ์ ขาวสอาด จาก PPSI ที่เสนอให้ทำเสวียนเป็นรูปทรงเหลี่ยมเพื่อให้สามารถถอดประกอบได้ ขนส่งได้ง่าย และสามารถปรับขยายหรือลดตามขนาดต้นไม้ที่จะนำไปล้อมได้ โดยปัจจุบันเสวียนเหลี่ยมเป็นสินค้าหัตถกรรมหนึ่งของบ้านโพธนารามขายอยู่ที่ด้านละ 50 บาทต่อแผ่น"
การส่งเสริมการจัดการขยะที่ต้นทางด้วยเสวียนเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของการนำองค์ความรู้ที่ได้จากการทำวิจัยของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงมาประยุกต์ใช้ในการให้บริการวิชาการตอบสนองความต้องการของชุมชนรอบข้างมหาวิทยาลัยและสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืน