เชิดชู 12 กูรู สู่ ‘ครูภูมิปัญญาไทย’

ที่มา : หนังสือพิมพ์ข่าวสด


ภาพประกอบจากมติชนออนไลน์


เชิดชู 12 กูรู สู่ 'ครูภูมิปัญญาไทย' thaihealth


จัดยิ่งใหญ่สำหรับพิธียกย่องเชิดชูเกียรติครูภูมิปัญญาไทย รุ่นที่ ๙ จำนวน 12 คน ที่ โรงแรมเบสท์เวสเทิร์นพลัสแวนดาแกรนด์ จ.นนทบุรี โดย ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี เป็นประธานมอบเข็มเชิดชูเกียรติและเกียรติบัตร


ประกอบด้วย นายจันทร์ ชาญแท้ ด้านเกษตรกรรม จ.นราธิวาส นับเป็นเกษตรกร รุ่นแรกในพื้นที่ทดลองแกล้งดิน ซึ่งเป็นพื้นที่พระราชดำริของในหลวง รัชกาลที่ 9 โดยได้ร่วมทดลองพื้นที่จากปลูกอะไรไม่ได้ จนสามารถปลูกพืชได้งอกงามทุกชนิด


นางพิมพา  มุ่งงาม  ด้านเกษตรกรรม จ.ยโสธร เชี่ยวชาญการทำเกษตรอินทรีย์ บุกเบิก และทดลองการทำนาข้าว ปลูกผักปลอดสารพิษ จนได้สัดส่วนการพัฒนาดินให้อุดมสมบูรณ์ เป็นที่ยอมรับขององค์กร  Fair Trade Original ให้เป็นผู้แทนการผลิตข้าวหอมมะลิอินทรีย์ของไทยสู่ประเทศแถบยุโรป


นางรุจาภา เนียนไธสง ด้านอุตสาหกรรมและหัตถกรรม จ.บุรีรัมย์ มีความเชี่ยวชาญในการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม และทอผ้าไหม จนได้ใบรับรองผลิตภัณฑ์ผ้าไหมนกยูงตราพระราชทาน


นางสมสมัย เขาเหิน ด้านอุตสาหกรรมและหัตถกรรม จ.สุโขทัย สืบทอดองค์ความรู้วิชาช่างทองสุโขทัยจากบิดา จนมีความเชี่ยวชาญและพัฒนาต่อยอดนวัตกรรมลวดลายต่างๆ


นายทองสา เจริญตา ด้านการแพทย์แผนไทย จ.ร้อยเอ็ด ศึกษาเรียนรู้ด้วยตนเอง ต่อยอดนวัตกรรมโดยการออกแบบและสร้างเครื่องอบสมุนไพรเอง ทั้งเสียสละอุทิศพื้นที่ในบ้านตนเองเป็นแหล่งเรียนรู้สมุนไพร


นายมงคลชัย เสเล ด้านการแพทย์แผนไทย จ.สมุทรปราการ ต่อยอดการนวดแบบโบราณโดยพัฒนานวัตกรรมเครื่องมือรักษาร่วมกับการแพทย์แผนไทย เครื่องดึงหลังแบบพกพาที่ปรับองศาได้โดยไม่ต้องใช้เตียง


นายเอียะ สายกระสุน ด้านการแพทย์แผนไทย จ.สุรินทร์ เชี่ยวชาญการรักษาอาการป่วยจากสัตว์มีพิษ โดยเฉพาะงู ซึ่งได้ผลดีจนกระทั่งโรงพยาบาลกาบเชิง ได้นำไปต่อยอดเป็น ยาผงเพื่อ ผลักดันเข้าสู่บัญชียาหลักแห่งชาติ


นายอภิวิชญ์ นวลแก้ว ด้านการจัดการทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผู้ก่อตั้งโครงการอนุรักษ์ป่าชายเลน และจัดทำหลักสูตรการอนุรักษ์ป่าชายเลน ให้โรงเรียนวัดแหลมฉบัง และเปิดเป็นศูนย์การเรียนรู้


นายวิเชียร  ผลเจริญ  ด้านกองทุนและธุรกิจชุมชน จ.สุรินทร์ เป็นผู้จัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต ต.หนองบัว ซึ่งสมาชิกเป็นชาวบ้านมากถึง 4,000 คน


นางธนพร  อินทร์ธิราช ด้านศิลปกรรม จ.อุดรธานี เป็นหมอลำกลอนที่นำความรู้วิถีชีวิต ประเพณี วัฒนธรรมท้องถิ่น และอีสาน มาประพันธ์เป็นคำกลอน โดยสอดแทรกคุณธรรมจริยธรรม ไว้ด้วย


นายธนวัฒน์ ราชวัง ด้านศิลปกรรม เน้นการปลูกฝังสืบสานภูมิปัญญาอย่างต่อเนื่อง ก่อตั้งชมรมเยาวชนรักษ์ถิ่นเกิด ทำงานร่วมกับบ้าน วัด โรงเรียน มีความเชี่ยวชาญด้านศิลปะการตีกลองพื้นเมืองล้านนา อาทิ กลองสะบัดชัย กลองตึ่งโนง กลองมองเซิง


น.ส.ลำดวน สุวรรณภูคำ ด้านศิลปกรรม ขับซอล่องน่าน ด้วยภาษาถิ่นที่คมคายลึกซึ้ง มีการประพันธ์หนังสือ "กำซอสะล้อบิน วรรณศิลป์แผ่นดินล้านนา" อนุรักษ์และสืบสานการขับซอล่องน่าน


สำหรับชุมชนเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต มี 3 ชุมชนที่ได้รับการยกย่องในปีนี้ ได้แก่ ชุมชนบ้านบุโบย  อ.ละงู จ.สตูล ต้นแบบ "ชุมชนบริหารจัดการตนเอง" หลังเกิดสึนามิ โดยเมื่อปี 2547 ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ผ่านมายังมูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อท้องถิ่น ในโครงการสร้างชุมชนบริหารจัดการตนเองในพื้นที่ประสบพิบัติภัยสึนามิ ซึ่งมีการส่งเสริมด้านอาชีพ การรวมตัวกันของชุมชน และช่วยให้อยู่ได้อย่างยั่งยืน


ชุมชนบ้านสำโรง  อ.เมือง จ.สุรินทร์ จากชุมชนติดลบที่มีปัญหาสารพัด กลายมาเป็นศูนย์เรียนรู้ชุมชนน่าอยู่ กลไกสำคัญ คือ "สภาพผู้นำชุมชน" ที่เกิดจากรวมตัวของคนดี คนเก่ง มาร่วมกันขับเคลื่อน พร้อมทั้งนำศาสตร์พระราชา หลักเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้


ชุมชน ต.หนองสาหร่าย อ.พนมทวน จ.กาญจนบุรี จากปัญหาครัวเรือนมีหนี้สินเพิ่มขึ้น ความสุขลดลง  พอปี 2535 คนกลุ่มเล็กๆ เริ่มหาทางออกและเรียนรู้จากชุมชนที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาตนเองทางภาคใต้ กระทั่งเกิดกลุ่มกิจกรรมถึง 93 กลุ่ม โดยเน้นให้สมาชิกออมเงินและทำบัญชีรายรับรายจ่ายของครัวเรือน


นอกจากนี้ยังกำหนดยุทธศาสตร์ชุมชนอยู่ดีมีสุข หรือ "ธรรมนูญชุมชน" และกำหนดให้มีการ "สะสมความดี" ใน "ธนาคารความดี" และความดีเหล่านั้นสามารถนำไปใช้ ประโยชน์ในการกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินชุมชนได้ด้วย

Shares:
QR Code :
QR Code