เจ้าหน้าที่ กทม. “ลด ละ เลิก เหล้า”

สร้างคนต้นแบบชีวิตใหม่ไร้แอลกอฮอล์

 

เจ้าหน้าที่ กทม. “ลด ละ เลิก เหล้า”

 

            หลังจากที่สำนักอนามัย กทม. ได้มอบนโยบายแก่ สำนักงานป้องกันและบำบัดการติดยาเสพติด ให้ดำเนินการสำรวจข้อมูลการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของข้าราชการและลูกจ้างสำนักอนามัย และจัดทำโครงการ “เจ้าหน้าที่ กทม.ร่วมใจ ลด ละ เลิก เหล้า” เพื่อส่งเสริมการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สำนักงานป้องกันและบำบัดการติดยาเสพติด สำนักอนามัย กทม.ได้ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มูลนิธิเพื่อนหญิง สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการฯ “บุคคลต้นแบบ ชีวิตใหม่ ไร้แอลกอฮอล์” เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติให้ลูกจ้างสำนักอนามัยสามารถเลิกดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ อันจะส่งผลไปถึงการเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานให้ดีขึ้นและเป็นต้นแบบที่ดีของสังคมต่อไป

 

            การประชุมเชิงปฏิบัติการจะจัดขึ้นอย่างต่อเนื่องจำนวน 3 ครั้ง ซึ่งครั้งนี้นับเป็นครั้งแรก มีผู้เข้าร่วมประชุมจำนวน 120 คน ส่วนใหญ่เป็นลูกจ้างสังกัดสำนักอนามัย เนื้อหาเน้นหนักไปที่การถ่ายทอดประสบการณ์ของคนต้นแบบเลิกเหล้า กิจกรรมกลุ่มสัมพันธ์ และการแลกเปลี่ยนประสบการณ์จากวิทยากรและผู้เข้าร่วมอบรม

 

            นายโกวิท ยงวานิชจิต รองผู้อำนวยการสำนักอนามัย บอกถึงเหตุผลของการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ว่า เพื่อให้ลูกจ้างสังกัดสำนักอนามัย เป็นต้นแบบในการลด ละ เลิกการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อนำไปสู่การมีสุขภาพที่ดี และความสัมพันธ์ที่ดีกับครอบครัว ระยะแรก หากยังเลิกดื่มไม่ได้ก็มุ่งให้ลดหรือละการดื่มในบางโอกาส เช่น ในช่วงเทศกาลเข้าพรรษา อย่างไรก็ตาม หลังจากเสร็จสิ้นกิจกรรมครั้งนี้แล้ว ก็หวังให้มีการรวมตัวช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เพื่อทำให้เกิดการเลิกดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างถาวร และเป็นต้นแบบของสำนักอนามัย ทั้งนี้ก็ได้มอบหมายให้ผู้บังคับบัญชาของหน่วยงาน เข้ามามีส่วนในการดูแลช่วยเหลือ ให้กำลังใจ และติดตามพฤติกรรม เพื่อให้บรรลุผลสำเร็จอย่างต่อเนื่องและยั่งยืนต่อไป

 

            นายพิเชษฐ์ อดุลย์เศรณี วัย 54 ปี บุคคลต้นแบบเลิกเหล้า และในฐานะแกนนำเครือข่ายชุมชน กทม. ลด ละ เลิกเหล้า ได้เล่าประสบการณ์ที่ผ่านมาให้ฟังว่า ตนเองเคยเป็นคนหนึ่งที่ได้ชื่อว่าเป็นนักดื่มตัวยง ดื่มเหล้าจัดมาตั้งแต่อายุ 20 ปี เพราะเห็นเป็นเรื่องเท่ห์ มีเสน่ห์กับผู้หญิง ทุกวันต้องดื่มเหล้าจนเป็นกิจวัตรหลังเลิกงาน ต้องจ่ายค่าเหล้ารวมกับเพื่อนๆ ตกประมาณครั้งละ 3,000 บาท ช่วงที่ทำธุรกิจนำเข้าและส่งออกสินค้าระหว่างประเทศ ก็ดื่มหนักเพราะคิดว่าจำเป็นต้องเข้าสังคม แต่ผลที่ตามมากลับเสียหายหนัก เพราะเหล้าเข้าไปทำลายสมองจนสมองแทบไม่สั่งงาน ทำงานได้ไม่เต็มที่ ลูกน้องหมดศรัทธาและไม่เชื่อฟัง การบริหารงานทุกอย่างไม่มีประสิทธิภาพ ทำให้งานสะดุดจนธุรกิจย่ำแย่

 

            ช่วงนั้นเป็นช่วงวิกฤติเศรษฐกิจที่เงินบาทลอยตัว ธุรกิจทรุดหนักหันไปพึ่งใครก็ไม่ได้ แม้กระทั่งเพื่อนในวงเหล้า ทุกคนปฏิเสธหมด พลอยทำให้ครอบครัวผมแย่ตามไปด้วย ผมขายทรัพย์สินที่มีอยู่ทั้งหมด ทั้งบ้าน ทั้งรถ จนแทบหมดตัว ผมกับภรรยาทะเลาะกันทุกวัน และยิ่งทำให้ผมกินเหล้ามากขึ้น ช่วงที่วิกฤติมากๆ ผมถึงขั้นเคยคิดจะฆ่าตัวตาย เพราะหาทางออกไม่ได้ ผมหันมาคบเพื่อนสมัยเรียนและไม่นานเพื่อนคนนี้ก็เสียชีวิตไปเพราะดื่มเหล้า วันหนึ่งผมตั้งใจจะออกไปจากครอบครัว เพราะอยู่ไปก็คงเป็นภาระ แต่ภรรยาผมก็เข้ามาห้ามไว้ เราหันหน้ามาคุยกันแบบไม่หนีปัญหา กำลังใจที่ได้จากภรรยาทำให้ผมตั้งใจเลิกเหล้าโดยเด็ดขาด ผมใช้เวลา 4 เดือน ก็เลิกเหล้าได้สำเร็จ ทุกอย่างในชีวิตก็ดีขึ้น จากนั้นผมก็หันมาช่วยงานชุมชนเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการทำให้คนอื่นไม่ไปพึ่งพาเหล้า เมื่อชีวิตมีปัญหาและรณรงค์ให้คนทั่วไปหันมาใส่ใจสุขภาพ ก็รู้สึกได้ว่า ชีวิตนี้มีความสุขมากขึ้น” นายพิเชษฐ์ กล่าว

 

            นี่เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของกิจกรรมดีๆ เพื่อสังคม โครงการนี้จะยังคงเดินหน้าเพื่อร่วม ส่งเสริมการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคให้เกิดการลด ละ และเลิก เครื่องดื่มแอลกอฮอล์และสร้างคนต้นแบบชีวิตใหม่ไร้แอลกอฮอล์ให้เป็นแบบอย่างที่ดีของสังคมต่อไป

 

 

 

 

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์ข่าวสด

 

 

update : 12-10-53

อัพเดทเนื้อหาโดย : ศิรินทิพย์ อิสาสะวิน

 

Shares:
QR Code :
QR Code