เจ้าคุณทหารลาดกระบังฯ สร้างเตาลดมลพิษ ช่วยเกษตรกร
ฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ภายในโรงเรือน เพิ่มผลผลิตเพาะเห็ดฟาง
จากการผลิตตามฤดูกาล เป็นการผลิตตลอดทั้งปี เพื่อให้ทันกับความต้องการของผู้บริโภค เกษตรกรผู้เพาะเห็ดฟางจึงนิยมเพราะในโรงเรือน เพื่อควบคุมปัจจัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการผลิตได้
โดยเฉพาะจะต้องมีเตาต้มน้ำเพื่อผลิตไอน้ำ ไว้สำหรับอบฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ภายในโรงเรือนเพาะเห็ด ซึ่งนับว่ามีความจำเป็นและสำคัญอย่างยิ่งต่อกระบวนการเพาะเห็ด เพราะเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อปริมาณผลผลิต
การผลิตไอน้ำของเกษตรกรส่วนใหญ่จะนิยมใช้วัสดุที่หาง่ายและมีราคาถูกเป็นเชื้อเพลิง เช่น ไม้ฟืน ซังข้าวโพด น้ำมันเตา น้ำมันเครื่องเก่า และยางรถยนต์ เป็นต้น การใช้ยางรถยนต์เก่าถึงแม้จะมีต้นทุนต่ำที่สุด แต่สร้างมลพิษได้มากที่สุด ทั้งเขม่าและกลิ่น แถมมีสารก่อมะเร็ง ซึ่งเป็นอันตรายต่อผู้ที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียง
ภาควิชาเทคนิคเกษตร คณะเทคโนโลยีการเกษตร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง จึงจัดทำโครงการ “การพัฒนาเตาผลิตไอน้ำสำหรับโรงเรือนเพาะเห็ด” โดยการสนับสนุนของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อพัฒนาและปรับปรุงเตาผลิตไอน้ำให้มีประสิทธิภาพและเกิดความคุ้มค่ามากขึ้น และลดมลพิษ
นายลือพงษ์ ลือนาม อาจารย์ประจำ ภาควิชาเทคนิคเกษตร คณะเทคโนโลยีการเกษตร สถาบันเทคโน โลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง หัวหน้าโครงการการพัฒนาเตาผลิตไอน้ำสำหรับโรงเรือนเพาะเห็ด กล่าวว่า สำหรับเตาผลิตไอน้ำที่ได้รับการพัฒนาแล้วนั้นมีต้นทุนค่าใช้จ่ายในการสร้างประมาณ 6,000-7,000 บาท โดยจะสร้างจากอิฐมอญก่อเป็น ผนังเตาและใช้ถังขนาด 200 ลิตร เป็นหม้อต้มน้ำ ลักษณะของการเผาไหม้จะคล้ายคลึงกับเตาที่ใช้เผาถ่าน นอกจากจะสามารถผลิตไอน้ำไว้ใช้ในโรงเรือนได้อย่างเพียงพอแล้ว ยังมีผลพลอยได้คือถ่านและน้ำส้มควันไม้ สามารถนำไปใช้ประโยชน์ทางการเกษตรหรือจำหน่ายเป็นรายได้เสริมอีกทางหนึ่ง
กลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตเห็ดบ้านดงข่า ต.เกาะโพธิ์ อ.ปากพลี จ.นครนายก เป็นกลุ่มเกษตรกรเคยประสบปัญหามลพิษจากควัน เขม่า และกลิ่นที่เกิดขึ้นจากเตาอบไอน้ำ ที่ใช้ยางรถยนต์เก่าเป็นเชื้อเพลง ซึ่งนอกจากจะรบกวนชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในชุมชนแล้วยังส่งผลต่อสุขภาพของตัวเอง เริ่มเห็นความสำคัญและหันมาร่วมมือกับโครงการฯ ในการร่วมทำการวิจัยพัฒนาเตาผลิตไอน้ำด้วยการนำภูมิปัญญาพื้นบ้านมาประยุกต์ใช้ มุ่งหวังให้เกิดความยั่งยืนของอาชีพการเพาะเห็ด ที่ไม่ส่งผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม
นายสมพงษ์ ดีอาษา แกนนำกลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตเห็ดบ้านดงข่า กล่าวว่า ในอดีตการใช้ยางรถยนต์เป็นเชื้อเพลิงได้ก่อปัญหากับคนในชุมชนเป็นอย่างมาก แต่เมื่อมีโครงการเข้ามา ความสัมพันธ์ระหว่างผู้เพาะเห็ดกับชาวบ้านก็ดีขึ้น บ้านไหนที่มีต้นไม้ที่ขึ้นเองตามหัวไร่ปลายนาอย่าง กระถินณรงค์ ชาวบ้านก็เริ่มที่จะตัดมาขายให้เราเท่ากับว่าเป็นรายได้ของชาวบ้านอีกทาง
“เตาผลิตไอน้ำที่ทางโครงการฯ เข้ามาวิจัยและพัฒนาร่วมกับชาวบ้านได้รับความสนใจจากเกษตรกรรายอื่น ๆ ในพื้นที่อย่างมาก เนื่องจากสามารถแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากกระบวนการเพาะเห็ดฟางได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะเรื่องมลพิษที่เกิดขึ้นในชุมชน ซึ่งนอกจากเกษตรกรจะสามารถขายเห็ดฟางได้ตามปกติแล้วยังจะมีรายได้เสริมจากผลพลอยได้ก็คือ ถ่านและน้ำส้มควันไม้ ซึ่งสามารถนำไปใช้ในครัวเรือนและทางการเกษตรเพื่อลดค่าใช้จ่าย หรือสามารถพัฒนาเป็นธุรกิจของชุมชนต่อไปได้” นายสมพงษ์ กล่าว
โครงการสร้างเตาผลิตไอน้ำ นอกจากจะเป็นการให้ความรู้ เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในอาชีพของเกษตรกรผู้เพาะเห็ด ทำให้เกิดความ ร่วมมือภายในชุมชนแล้ว ยังทำให้ผู้เพาะเห็ดฟางสามารถอยู่ร่วม กับเกษตรกรอาชีพอื่นได้ โดยไม่ก่อให้เกิดมลพิษแก่ชุมชนและสิ่ง แวดล้อมด้วย
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์
update : 25-03-52