‘เจ็บได้..แต่ห้ามยอม’ ปรับเจตคติคนในสังคมยุติรุนแรง
ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
ภาพประกอบจาก สสส.
เนื่องในเดือนรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว นอกจากกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว "รณรงค์สร้างกระแสสังคมไม่ยอมรับ ไม่นิ่งเฉย ไม่กระทำความรุนแรงในสังคมทุกรูปแบบ"
ภายใต้ แนวคิด "He For She ปรับพฤติกรรม เปลี่ยนความคิด ยุติความรุนแรง" มอบชุดความรู้ด้านครอบครัว และเข็มกลัดริบบิ้น สีขาว ซึ่งเป็นสัญลักษณ์สากลที่มีความหมายถึงการไม่ยอมรับ ไม่นิ่งเฉย และไม่กระทำรุนแรงต่อเด็กและสตรีในทุกรูปแบบ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกลร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) รณรงค์แคมเปญ #เจ็บแต่ไม่ยอม เนื่องในวันยุติความรุนแรงต่อสตรีสากล เพื่อลดความรุนแรงต่อผู้หญิงด้วยเช่นกัน
พ.ย.เดือนรณรงค์ยุติความรุนแรง
เลิศปัญญา บูรณบัณฑิต อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวว่า คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 29 มิ.ย.2542 ให้เดือน พ.ย.ของทุกปีเป็น "เดือนรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี" ปีนี้การรณรงค์เน้นให้สื่อมวลชนและคนในสังคมตระหนักถึงปัญหาความรุนแรง โดยเฉพาะเรื่องการปรับเจตคติของคนในสังคม ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญและเป็นประเด็นหลักในการแก้ไขปัญหาความรุนแรงในสังคม
โดยใช้แนวคิด "He For She ปรับพฤติกรรม เปลี่ยนความคิด ยุติความรุนแรง" ซึ่งอยากให้สังคมได้เห็นว่าผู้ชายก็สามารถเป็นแบบอย่างที่ดีได้ในการไม่กระทำความรุนแรงต่อเด็ก สตรีหรือคนในครอบครัวทุกรูปแบบ ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคทั่วประเทศ โดยวันที่ 23 พ.ย.2561 "ประกาศเจตนารมณ์ในการยุติความ รุนแรงต่อเด็ก สตรี บุคคลในครอบครัว และความรุนแรงในสังคมทุกรูปแบบ" ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล และในวันที่ 25 พ.ย.2561 ขบวนเดินรณรงค์ เชิงสัญลักษณ์
โดยปีนี้สื่อให้เห็นถึงปัญหาของความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัว สามารถขยายไปถึงความรุนแรงในรูปแบบ อื่นๆ ในสังคม เช่น ความรุนแรงผ่านทาง สื่อโซเชียล ความรุนแรงในที่ทำงาน ความรุนแรง ทางเพศ ความรุนแรงจากวาจาและท่าทางที่นำไปสู่การทะเลาะเบาะแว้งที่รุนแรงในสังคม ส่งผลให้เกิดความรุนแรงในชุมชน และสังคมในที่สุด
ขณะที่ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้รณรงค์แคมเปญ #เจ็บแต่ไม่ยอม เช่นกัน ที่บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิเมื่อวานนี้ (15 พ.ย.) โดยมีการเสวนา "ยุติความรุนแรง เจ็บแต่ไม่ยอม"ซึ่ง จรีย์ ศรีสวัสดิ์ หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมภาคีเครือข่าย มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ได้เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของกลุ่มผู้หญิง อายุ 18 ปีขึ้นไป จำนวน 1,655 ชุด ในพื้นที่กรุงเทพฯ ตั้งแต่วันที่ 1-8 พ.ย.2561 พบว่ากลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่อายุ 31-40 ปี 38.4% เคยเห็นเพื่อน/คนใกล้ชิดประสบปัญหา ถัดมา 10.4% เคยเห็นคนใกล้ชิดโดนทำร้ายและเคยเจอมากับตัวเองด้วย และ 7.8% เคยประสบปัญหาด้วยตัวเอง
นอกจากนี้ ยังเห็นการสะท้อนความรุนแรงทางเพศผ่านสื่อละคร เช่น มองว่า "ฉากละครตบ-จูบ เป็นเรื่องปกติ" มีผู้เห็นด้วย ถึง 44.7% ถัดมาคือ "นางร้ายในละครถูกลงโทษด้วยความรุนแรงเป็นสิ่งที่สมควรแล้ว" 39.0% "สื่อส่วนใหญ่มักนำเสนอภาพผู้หญิงเป็นวัตถุทางเพศ" 32.1% และ "ฉากพระเอกข่มขืนนางเอกเป็นเรื่องปกติ ยอมรับได้" 25.3% ตามลำดับ
ประโยคที่กลุ่มตัวอย่างคุ้นหู/เคยชินมากที่สุด ได้แก่ "สามี-ภรรยาเปรียบเหมือนลิ้นกับฟัน กระทบกระทั่งกันบ้างเป็นเรื่องธรรมดา" หรือ "ความในอย่านำออก ความนอกอย่านำเข้า" และ "ผู้ชายเป็นหัวหน้าครอบครัว" "เป็นผู้หญิงต้องอดทนเพื่อลูกและครอบครัว" ประโยคดังกล่าวนี้ หากมองเพียงชั้นเดียวเหมือนไม่มีอะไร แต่ในความเป็นจริง นี่คือสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นและปลูกฝังตีกรอบ ผู้หญิงจากรุ่นสู่รุ่น ทำให้ความรุนแรงใน ครอบครัวเป็นเรื่องปกติไม่ใช่ปัญหา
'ความอดทน' ไม่ใช่ทางออก
"ซินดี้" สิรินยา บิซอฟ ดารานางแบบชื่อดัง กล่าวว่า เหตุผลต่างๆ ที่สังคมมักทำให้ผู้ชายคิดว่ามีสิทธิทำกับผู้หญิง เช่น "เป็นเรื่องครอบครัว" หรือ "อดทนเพื่อลูก" หรือบอก "ทำไป เพราะรัก" ขอฝากตรงนี้ว่าผู้หญิงมีสิทธิและมีทางเลือก เครือข่ายทั้งหมดพร้อมหาทางออก อยากให้ผู้หญิงไทยทุกคนสู้เพื่อตัวเอง ครอบครัว และลูก
เปลี่ยนความเจ็บเป็นพลัง
ด้าน ดาว (นามสมมติ) ผู้เผชิญเหตุการณ์ความรุนแรงทางเพศจากคนในครอบครัว ร่วมเผยประสบการณ์ถูกสามีบังคับให้ขายบริการทางเพศร่วมเดือน โดยขู่ว่าถ้าไม่ทำจะไม่ให้พบหน้าลูกอีก จึงตัดสินใจหนีมาต่างจังหวัด และเขียนจดหมายถึงมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล และได้รับความช่วยเหลือในที่สุด ขณะนี้อดีตสามี ถูกตัดสินจำคุกแล้ว
ด้าน เค (นามสมมติ) ถือเป็นอีกหนึ่งคนที่เผชิญเหตุการณ์ความรุนแรงในครอบครัว โดยลูกสาวถูกสามีซึ่งเป็นพ่อแท้ๆ ล่วงละเมิดทางเพศถึง 2 ครั้ง พร้อมข่มขู่ไม่ให้แจ้งความ แม้จะมีความคิดว่าอยากฆ่าสามีให้ตาย แต่สิ่งหนึ่งที่เตือนสติคือ "ใครจะดูแลลูก" จึงตัดสินใจ แจ้งความ และหันหน้าพึ่งมูลนิธิ หญิงชายก้าวไกล ฝากบอกทุกคนว่า ต้องไม่ยอมในเมื่อเจ็บอยู่แล้ว แต่ต้องไม่ยอม
เปลี่ยน 'ทัศนคติ-ก.ม.-การศึกษา'
วราภรณ์ แช่มสนิท ผู้จัดการแผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ กล่าวว่า สิ่งที่เป็นอุปสรรคในการที่ผู้หญิงคนหนึ่งจะกล้าก้าวออกจากปัญหาอยู่ที่ทัศนคติ ความคิด ความเชื่อที่ปลูกฝังมานาน บทเรียนในระบบการศึกษาบางทีก็ไม่ช่วยแก้ทัศนคติในเรื่องนี้ ในละครยังตอกย้ำทัศนคติดดังกล่าว สิ่งเหล่านี้อยู่รอบตัวเรา ทำให้ความรุนแรงกลายเป็น เรื่องธรรมดา ต้องเปลี่ยนความเจ็บเป็นอำนาจ ลุกขึ้นต่อสู้และก้าวออกมาสังคมคนรอบข้าง กฎหมายไกล่เกลี่ยรักษาความเป็นครอบครัวไว้ ซึ่งนี้เป็นตัวอย่างของทัศนคติที่แทรกอยู่ในกฎหมาย หน่วยงานต่างๆ ทางภาครัฐเองต้องเสริมพลังให้มีการแก้ไขในเรื่องนี้
นัยนา ยลจอหอ ตัวแทนผู้ผ่านพ้น ปัญหาและอาสาสมัครช่วยเหลือ ผู้ประสบปัญหา กล่าวว่า ถึงเวลาแล้วที่ควรกลับมาทบทวน และช่วยกันปรับเปลี่ยนวิธีคิดที่มีผลต่อการสืบทอดความคิดความเชื่อแบบชายเป็นใหญ่ กระทรวงศึกษาธิการควรปรับหลักสูตรการเรียนการสอน ที่เน้นความเท่าเทียมทางเพศ ความเสมอภาคทางเพศ และการเคารพสิทธิร่างกายของคนทุกเพศอย่างจริงจัง เพื่อปัญหาจะไม่วนกลับมาเหมือนเดิม