เจาะลึกสถานการณ์ สาวก่อนวัยของเด็กไทย
ที่มา : ไทยโพสต์
แฟ้มภาพ
เด็กไทยเข้าสู่วัยสาวเร็วขึ้นกว่าในอดีต แต่น้องๆ หนูๆ ที่กำลังเป็นจะเป็นสาวส่วนใหญ่ไม่รู้ว่า พวกเธอล้วนมีความเสี่ยงจากการเป็นโรคมะเร็งมากยิ่งขึ้น ผลจากฮอร์โมนเพศที่มาก่อนวัย พร้อมด้วยภาวะความเครียด เมื่อมีเลือดประจำเดือนมาเร็วขึ้น ภาวะเป็นสาวก่อนวัยยังส่งผลให้รอบเอวเพิ่มขึ้น เกิดภาวะไขมันในเลือดสูง เจ็บป่วยด้วยโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมองอุดตัน
ปัจจุบันเรายังไม่ตระหนักปัญหานี้มากพอและไทยยังขาดการศึกษาวิจัยในระดับประชากรของประเทศ ทั้งๆ ที่ส่งผลต่อสุขภาวะร่างกายและจิตใจ ล่าสุด คณะนักวิจัยจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดผลการศึกษาสถานการณ์การเข้าสู่วัยสาวของเด็กไทย ปี 2563 ซึ่งได้รับทุนวิจัยจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อรายงานสถานการณ์การเข้าสู่วัยสาวของเด็กไทยในปัจจุบัน รวมถึงน้องๆ มีประจำเดือนครั้งแรกอายุเท่าไหร่ อีกผลการศึกษาเสนอพฤติกรรมการใช้ชีวิตและสภาพแวดล้อมที่เร่งให้เด็กเข้าสู่ วัยสาว งานนี้ จัดขึ้นที่โรงแรมปทุมวันปริ๊นเซส กรุงเทพฯ มีผู้แทนจากกระทรวงและองค์กรต่างๆ ที่ทำงานด้านสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว เข้าร่วม
ศ.ดร.ปังปอนด์ รักอำนวยกิจ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จากการสำรวจข้อมูลนักเรียนหญิง ป.3 -ม.3 ช่วงอายุ 8-14 ปี ที่เป็นตัวแทนประเทศไทย จำนวน 8,161 ตัวอย่าง จาก 95 โรงเรียน พบว่า เด็กหญิงไทยเริ่มมีประจำเดือนครั้งแรกอายุน้อยที่สุดที่อายุ 7 ปี และอายุมากที่สุด 16 ปี ขณะที่ค่าเฉลี่ยกลางของการมีประจำเดือนอยู่ที่อายุ 11 ปี ซึ่งน้อยกว่าอายุเฉลี่ยของกลุ่มตัวอย่างในงานวิจัยก่อนหน้านี้ลงมาถึง 1 ปี
นอกจากนี้ เด็กอ้วนแนวโน้มจะมีประจำเดือนเร็วขึ้น และปัจจัยโภชนาการ เช่น การได้รับสารอาหารจำนวนมาก ทั้งแคลอรี โปรตีน วิตามิน เร่งให้เด็กเข้าสู่วัยสาวเร็วกว่าปกติ ความถี่ในการกินอาหารฟาสต์ฟูต ก็เชื่อมโยงสู่การมีประจำเดือนเร็วขึ้น ส่วนเด็กที่เล่นกีฬา มีความถี่ในการออกกำลังกายจะมีเมนส์ช้ากว่าปกติได้ และการได้รับสารเคมีจากการใช้เครื่องสำอาง เวชภัณฑ์ในชีวิตประจำวัน กระตุ้นภาวะสาวก่อนวัย ทั้งยังมีปัจจัยด้านกรรมพันธุ์ ถ้าแม่มีประจำเดือนครั้งแรกเร็ว ลูกมีแนวโน้มเข้าสู่วัยสาวเร็วเช่นกัน อีกทั้งปัจจัยการเลี้ยงดูของครอบครัวที่มีรายได้ สูง ลูกจะเข้าสู่วัยสาวเร็วกว่าครอบครัวรายได้ต่ำ และพบข้อมูล น่าสนใจแต่ละปีมีเด็กอายุ 8-9 ปี ใช้สิทธิบัตรทองและสิทธิข้าราชการรักษา "ภาวะหนุ่มสาวก่อนวัยอันควร" ด้วยการใช้ "กดฮอร์โมน" ปีละ 400-500 คน มูลค่าการใช้ยาอยู่ที่ 58,668 บาทต่อคน นี่คือภาระ ค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาล
"ผลศึกษาชี้อายุเฉลี่ยแรกเริ่มที่มีเมนส์ ปี 2546-2550 ภายใน 4 ปี ลดลงมา 1 ปี ตัวเลขนี้ไม่น้อย เทียบจากเดิม 10 ปี จะลดลง 1 ปี ส่วนปัจจัยบวกชะลอการเป็นเมนส์ เช่น การดื่มนมแพะ น้ำเต้าหู้ ถั่ว ผัก ผลไม้ เนื้อหมู เนื้อวัวที่ไม่มีฮอร์โมน การมีกล้มเนื้อเยอะ แต่ปัจจัยลบ เช่น กินขนมกรุบกรอบ เฟรนฟราย เบเกอรี ดื่มน้ำอัดลม นมวัว หรือการใช้ขวดพลาสติกที่สารเคมีเร่งฮอร์โมน ใช้เวชภัณฑ์ อาหารเสริม วิตามิน และการรับสื่อเนื้อหาทางเพศ ส่งผลให้มีเมนส์ครั้งแรกเร็วขึ้น ส่วนการกินไก่ ไข่ และน้ำมะพร้าว จากการสำรวจไม่ได้ส่งผลให้เด็กเข้าสู่ภาวะวัยสาวเร็วขึ้นหรือช้าลง
ที่น่ากังวลเด็กเข้าใจวิธีดูแลตัวเองช่วงมีประจำเดือนอยู่ในเกณฑ์ที่ไม่สูง นี่คือกลุ่มเสี่ยง ซึ่งโรงเรียนไม่มีการเรียนการสอนการเปลี่ยนแปลงด้านร่างกายของเด็กชายและเด็กหญิง และการดูแล การเรียนรู้เรื่องการมีเพศสัมพันธ์หมายถึงอะไร ส่งผลอย่างไรต่อการตั้งครรภ์ ทักษะการปฏิเสธและการป้องกัน การล่วงละเมิดทางเพศถูกสอนในระดับชั้นเรียนไม่มาก" ศ.ดร.ปังปอนด์ กล่าว และว่าผลศึกษาสามารถนำไปอ้างอิงในเชิงวิชาการ มีเป้าหมายขับเคลื่อนสู่นโยบายให้กับหน่วยงานในระดับนโยบายที่เกี่ยวข้องส่งเสริมสุขภาพและอนามัยเจริญพันธุ์ของเด็กหญิงไทยได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ช่วยลดตั้งครรภ์ในวัยรุ่น
ด้าน ณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส. กล่าวว่า สถานการณ์การเป็นสาวก่อนวัย เป็นประเด็นที่วงการแพทย์และสาธารณสุขทั่วโลกตื่นตัวและจับตาดู เพราะการเข้าสู่วัยสาวเร็วมีผลที่เชื่อมโยงกับปัญหาสุขภาพ เช่น สุขภาพจิต สุขภาพของระบบอนามัยการเจริญพันธุ์ กลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง โรคเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกัน และการตั้งครรภ์ที่ไม่พร้อม เป็นต้น ต่างจากการเข้าสู่วัยหนุ่มไม่มีผลกระทบต่อสุขภาพ หากมีข้อมูลชัดเจนจะดูแลและป้องกันการเข้าสู่สาวก่อนวัยดีขึ้น ในบ้านเรามีเด็กอายุ 8-9 ปี ใช้สิทธิบัตรทองและสิทธิข้าราชการรักษาภาวะหนุ่มสาวก่อนวัยอันควรด้วยการใช้กดฮอร์โมนปีละ 400-500 คน มูลค่าการใช้ยาอยู่ที่ 58,668 บาทต่อคน ซึ่งใช้เวลาในการรักษา 3 ปี รวมเป็นมูลค่าแสนบาทต่อคน เป็นภาระของรัฐ ภาคนโยบายต้องให้ความสำคัญการมีประจำเดือนครั้งแรกของเด็กหญิงไทย
"เด็กมีประจำเดือนครั้งแรกต่ำสุดอายุ 8 ขวบ น้องยังไม่รู้ตัวการเปลี่ยนแปลง และมีความเสี่ยงใดบ้าง จากผลศึกษาเด็กกว่า 1 ใน 3 ไม่รู้การมีเพศสัมพันธ์ทำให้ตั้งท้องได้ อีกประเด็นเด็กส่วนหนึ่งคิดว่า มีประจำเดือนเป็นเรื่องน่าอาย เป็นของต่ำ หากไม่ภาคภูมิใจ เคารพนับถือตัวเอง เชื่อมโยงกับความเสมอภาคทางเพศ ข้อมูลต่างๆ จะเป็นปัจจัยกำหนดแผนสร้างเสริมสุขภาพเด็กหญิง หาแนวทางปรับวิธีดูแลเด็กไม่ให้เป็นสาวก่อนวัย สสส.จะระดมความเห็นจากหน่วยงานต่างๆ กรมอนามัย กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงพัฒนาสังคมฯ เป็น 3 กระทรวงหลักดูแลการตั้งครรภ์วัยรุ่น หากดูผลวิจัยชัดเจน หลักสูตรการสอนเพศศึกษายังไม่เพียงพอ ไม่รับกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยเฉพาะกรมอนามัยมี 6 ยุทธศาสตร์สำคัญป้องกันตั้งครรภ์วัยรุ่น และมีเอ็มโอยูกับ 6 กระทรวง ผลวิจัยนี้จะเป็นอีกข้อมูลสำคัญที่จะเสนอในการประชุมระดับชาติเดือนธันวาคมนี้" ณัฐยา กล่าว
การเลี้ยงดูเด็กรุ่นใหม่ให้ห่างไกลจากภาวะเป็นสาวก่อนวัย เป็นเรื่องสำคัญต้องร่วมมือกันวางมาตรการป้องกันและรับมือทั้งในระดับครัวเรือนและระดับสังคม เพราะการสร้างสุขภาพประหยัดกว่าการซ่อมแซมสุขภาพเมื่อมีปัญหาแล้ว