เจาะลิ้น-อวัยวะเพศ ‘เจ็บแถมเสี่ยงตาย!’
หากวิธีที่ทำไม่สะอาด
การเจาะผิวหนังสามารถทำได้ทั่วร่างกาย แต่อาจก่อให้เกิดอันตรายได้ หากวิธีที่ทำไม่สะอาด ใช้เครื่องมือสกปรก รวมทั้งเจาะบริเวณที่ไม่เหมาะสม เช่น เจาะลิ้น เจาะอวัยวะเพศ ตามที่เป็นข่าวเกรียวกราวอยู่ในตอนนี้
รศ.พญ.พรทิพย์ ภูวบัณฑิตสิน สาขาตจวิทยา (ผิวหนัง) ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การเจาะผิวหนังที่นิยม คือ บริเวณติ่งหู อาจเจาะมากกว่า 1 รู ตามความชอบของแต่ละบุคคล ในบางรายเจาะเป็นช่องขนาดใหญ่จนใส่ถ่านไฟฉายได้
ส่วนบริเวณอื่น ๆ ที่มีการเจาะ เช่น
ใบหูด้านบนและติ่งหูด้านใน จะเจาะผ่านกระดูกอ่อนเป็นช่องขนาดใหญ่กว่าห่วงตุ้มหูเพื่อให้ทำความสะอาดง่าย แผลจะหายช้ามาก
ปลีกจมูก นิยมเจาะบริเวณร่องจมูกซึ่งติดกับสันจมูก
ผนังกั้นช่องจมูกเหนือ ริมฝีปากบน เจาะระหว่างรอยต่อของกระดูกอ่อนของผนังกั้นช่องจมูกกับเนื้อของจมูกซึ่งหักจากปลายจมูก ต่อกับร่องริมฝีปากบน เมื่อใส่ห่วงจะห้อยลง
คิ้ว เจาะได้ตลอดแนวคิ้ว แต่นิยมเจาะปลายคิ้ว
ริมฝีปาก เจาะบริเวณใดก็ได้ตลอดแนวริมฝีปาก โดยเจาะให้รูเจาะด้านหนึ่งอยู่นอกริมฝีปาก อาจใส่เป็นห่วงหรือตุ้มประดับ
ง่ามนิ้ว มักเจาะง่ามนิ้วระหว่างหัวแม่มือและนิ้วชี้ เนื่องจากมือจะต้องใช้งานจึงทำให้แผลหายยาก
หัวนม พบว่า แผลบริเวณนี้จะหายช้า
สะดือ นิยมใน ผู้หญิงในสมัยโบราณ ชาว อียิปต์นิยมการเจาะผิวหนังบริเวณสะดือเช่นกัน แผลจากการเจาะบริเวณสะดือจะหายช้ามาก
ลิ้น เจาะบริเวณกลางลิ้น ห่างจากปลายลิ้น 1 นิ้ว เพื่อมิให้เจาะทะลุผ่านหลอดเลือด เครื่องประดับที่นิยมใส่เป็นลักษณะตุ้ม
การดูแลหลังเจาะจะเหมือนการเจาะหู แต่แผลบริเวณหัวนมและสะดือจะหายช้ากว่า ส่วน การเจาะผิวหนังในช่องปาก จะมีเลือดออกมากโดยเฉพาะบริเวณลิ้นซึ่งมีหลอดเลือดขนาดใหญ่ ถ้าการเจาะทะลุผ่านหลอดเลือดอาจเสียเลือดมาก และ การติดเชื้อในช่องปากจะพบสูงกว่าการเจาะผิวหนังบริเวณอื่น
การเจาะลิ้นนอกจากมีปัญหาเลือดออก ยังเกิดเลือดคั่งหลังเจาะ บางครั้งแผลจะบวม เจ็บปวดมากทำให้รับประทานอาหารไม่สะดวก น้ำลายออกมาก การดูแลแผลจะยุ่งยากและ เกิดการติดเชื้อสูง ส่วนปัญหาระยะยาว คือเครื่องประดับที่ใส่ลิ้นจะกระทบกับฟันทำให้ฟันสึกบิ่นหรือหัก บางรายอาจทำให้รากฟันตาย อีกทั้งการใส่ตุ้มประดับในช่องปากยังเป็นที่หมักหมมของเศษอาหารทำให้เกิดการอักเสบ มีกลิ่นปาก พูดไม่ชัด เกิดปัญหาในการสื่อสาร
ด้าน นพ.ประวิตร พิศาลบุตร แพทย์โรคผิวหนัง กล่าวถึงการเจาะอวัยวะเพศว่า คนจิตใจปกติคงไม่มีใครเจาะ คนที่เจาะมักจะมีอาการป่วยทางจิต หรือติดยาเสพติด ทำให้ไม่มีวิจารณญาณ บางคนต้องการเรียกร้องความสนใจ ให้ตัวเองดูเด่น สิ่งที่อยากเตือน คือ การใช้เข็มเจาะร่วมกัน หากเข็มไม่สะอาดอาจได้รับ เชื้อไวรัสตับอักเสบ บี และซี ทำให้เกิดเป็นโรคมะเร็งตับ หรือ ติดเชื้อแบคทีเรียลามเข้าสู่กระแสเลือด เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต หรือติดโรคเอดส์ ที่สำคัญผู้ป่วยโรคลิ้นหัวใจรั่ว เป็นโรคหัวใจอยู่แล้ว ไม่ควรเจาะไม่ว่าบริเวณใด เพราะอาจเป็นแหล่งสะสมเชื้อโรค และก่อให้เกิดอันตรายต่ออวัยวะซ้ำเติมโรคที่เป็นอยู่
น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า การเจาะอวัยวะเพศหญิงนอกจากจะเจ็บปวดและรำคาญแล้ว การเสียดสีบ่อย ๆ อาจทำให้เกิดการอักเสบได้ อีกทั้งบริเวณดังกล่าวมีความอับชื้น มีเส้นเลือดหล่อเลี้ยงมาก อาจก่อให้เกิดบาดแผล อักเสบ บวมแดง ติดเชื้อตามมา ซึ่งเชื้อโรคอาจลุกลามไปยังปีกมดลูก ท่อปัสสาวะ และไต หากมีการติดเชื้อไปในกระแสโลหิตอาจทำให้เสียชีวิตได้
ส่วนในผู้ชายนั้น น.ต.นพ.บุญเรือง บอกว่า ไม่ค่อยนิยมเจาะอวัยวะเพศ แต่จะเน้นฝังมุกฝังโลหะเหมือนลูกปืน และเย็บปลายองคชาตให้เกิดแผลขรุขระ โดยเชื่อว่าเวลามีเพศสัมพันธ์จะทำให้ผู้หญิงพอใจ ซึ่งเป็นความเชื่อที่ผิด มักพบในกลุ่มผู้ใช้ยาเสพติด และวัยรุ่น ปัญหาที่พบมากในกลุ่มนี้ คือ เกิดแผลอักเสบติดเชื้อ ลามไปยังท่อปัสสาวะ ต่อมลูกหมาก ทำให้เกิดการอักเสบ บางรายองคชาตเน่า จนต้องตัดทิ้ง นอกจากนี้ อาจทำให้เกิดแผลในฝ่ายหญิง ที่ไปมีเพศสัมพันธ์ และแพร่โรคเอดส์ หรือไวรัสตับอักเสบบี.
ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์
update:24-11-51