‘เงินออมก้นบาตร’ กระปุกออมสินของคนชรา
โครงสร้างทางสังคมไทยในยุคปัจจุบัน ปฏิเสธไม่ได้ว่าประชากรวัยสูงอายุมีแนวโน้มที่สูงขึ้นเรื่อยๆ ตรงกันข้ามประชากรวัยทำงานกลับมีสัดส่วนลดลง ซึ่งโครงสร้างของประชากรไทยที่เปลี่ยนแปลงไปนี้ นอกจากจะส่งผลกระทบต่อการจ้างงานและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจแล้ว ยังมีปัญหาภาระที่ต้องดูแลประชากรผู้สูงอายุ โดยเฉพาะการสร้างหลักประกันทางรายได้เพื่อยามชราภาพถ้ายิ่งเป็นผู้สูงอายุที่ไม่มีบุตรหลานเป็นที่พึ่งด้วยแล้ว การใช้ชีวิตของพวกเขาเหล่านี้อาจต้องลำบากขึ้น
จากปัญหาดังกล่าว จึงก่อเกิดการรวมตัวของบรรดาผู้สูงอายุจากทั่วประเทศ มารวมตัวกันเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นมุมมอง รวมถึงการหยิบยกผลสำเร็จที่ทำในชุมชนได้จริง มาพูดคุยผ่านตลาดนัดความรู้ “แรงบันดาลใจ…สู่การปฏิบัติเพื่อดูแลผู้สูงวัยในชุมชนอย่างเป็นสุข” ที่จัดโดย มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุ (มส.ผส.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
บ้านโนนกุ่ม ต.โคกกระชาย จ.นครราชสีมา มีจุดเด่นที่การออมเงินของผู้สูงอายุโดยใช้บาตรพระ มีการรวมกลุ่มกันอย่างเป็นเอกภาพ และดำเนินงานมากว่า 3 ปี ผ่านคนกลางคือ “พระ” ที่ถือเป็นศูนย์รวมจิตใจหมู่บ้าน เพื่อดำเนินการออมเงินเก็บไว้ใช้ได้อย่างแยบยล แถมมีประสิทธิภาพ โดยใช้ “เงินออมก้นบาตร” เป็นตัวนำ
ก่อนการออมที่ว่านี้จะเกิดประสิทธิภาพ ประสิทธิผลได้อย่างเช่นในปัจจุบัน พระอธิการยงยุทธ ฐิตสาโร เจ้าอาวาสวัดโนนกุ่ม เจ้าของความคิดเล่าว่า ทุนเดิมของผู้สูงอายุในชนบท แน่นอนต้องสัมผัสได้ถึงความอ้างว้าง โดดเดี่ยว เพราะส่วนใหญ่ลูกหลานมักไปหางานทำในกรุงเทพฯ มีบางรายไม่มาดู แลหรือส่งเงินให้ การจะไปหาหมอหรือเงินที่จะต้องใช้จ่ายประจำวัน หรือจะหางบประมาณมาจัดกิจกรรมภายในหมู่บ้านจะมีความลำบากมาก เพราะต้องเข้าใจว่าสมัยก่อนยังไม่มีเบี้ยเลี้ยงคนชรา 600 บาทต่อเดือน เพราะเพิ่งมามีไม่กี่ปีมานี้เอง
ส่วนแรงบันดาลใจ มาจากไปดูงานที่บ้านขาม จ.ชัยภูมิ โดยที่นั่นมีวิธีออมเงินจากผู้สูงอายุวันละบาท เมื่อเขาทำกันได้จากนั้นเราก็มาคิดว่า ที่หมู่บ้านเราน่าจะทำบ้าง แต่ก็มีคำถามต่อไปว่า จะทำอย่างไรให้มีความน่าเชื่อถือและต้องทำกันอย่างจริงจังเป็นกิจวัตร จึงใช้ศาสนา ผ่านพระเป็นตัวนำ เพราะโดยพื้นฐานผู้สูงอายุมักเข้าวัดทำบุญกัน ตรงนี้จึงเป็นที่มาของแนวคิด
เมื่อมีแนวคิดเสร็จสรรพต้องคิดต่อไปว่า อะไรคือแรงผลักให้คนหันมาออมเงินกัน ตนจึงคิดได้ว่า คนแก่นิยมใส่บาตรพระ จึงใช้เจ้าบาตรพระนี่แหละ ในการเป็นตัวหนุนนำ โดยนำบาตรพระที่ไม่ใช้แล้ว มาขัดแล้วทาสีเสียใหม่ จากนั้นจึงไปแจกจ่ายตามบ้านเรือน แต่มีข้อแม้ว่า ทุกบาตรที่แจกไปต้องล็อกกุญแจ และลูกกุญแจต้องเก็บไว้ที่ตน พร้อมให้สัญญากับตนว่า จะใส่เงินออมทุกวัน อย่างน้อยที่สุดก็ออมวันละบาท เมื่อครบกำหนด 6 เดือน ตนก็จะนำกุญแจไปไขให้ในแต่ละบ้าน จากนั้นจะนำเงินนั้น ผ่านไปยังคณะกรรมการหมู่บ้าน เพื่อนำเงินไปฝากธนาคารอีกที ตรงนี้คนชราก็จะมีเงินหมุนใช้ แม้จะเป็นจำนวนเงินที่ไม่มาก แต่รับรองว่าไม่ลำบาก ถือเป็นกำลังใจให้กันและกัน
เมื่อคนชราเริ่มมีเงินรอยยิ้มก็เริ่มเห็นที่มุมปากของพวกเขามากขึ้น เพราะคนเหล่านี้มีความเหงาอยู่บนพื้นฐาน ยกตัวอย่างง่ายๆ เงินจำนวนนี้แม้ไม่มาก แต่เมื่อรวมกันแล้ว เฉลี่ย 6 เดือน ต่อ 1 คน จะอยู่ที่ 200-500 เมื่อรวมกันหลายคนเข้าก็จะได้หลักพัน หลักหมื่นสามารถนำเงินนี้มาสร้างสันทนาการ ทำรอยยิ้ม คลายเครียดให้กับผู้ชรา โดยวิธีทำกิจกรรมร่วมกัน อาทิ การตำหมาก การรักษาศีล การเต้นเข้าจังหวะ เมื่อคนชรามีรอยยิ้มอารมณ์แจ่มใส แน่นอนว่า ความเครียดเมื่อยามห่างไกลลูกหลานย่อมไม่มี สุดท้ายสุขภาพกาย ใจ แข็งแรง ไม่มีโรครุมเร้าตามมา เพราะผู้ชราการมีสุขภาพจิต สุขภาพที่ดี ถือเป็นเรื่องสำคัญ
ไม่เท่านั้น เงินจำนวนนี้ ยังสามารถปันผล แบ่งเป็นกำไร ผ่านดอกเบี้ยให้ผู้สูงอายุอีกด้วยฟังมุมมองของเจ้าอาวาสวัดโนนกุ่ม ในฐานะเจ้าของความคิดไปแล้ว มาฟังมุมมองของลุงทองใบ อังกระโทก ประธานกลุ่มเอื้ออาทรบ้านโนนกุ่ม ได้สะท้อนผลการดำเนินการในแนวความคิดนี้ได้อย่างน่าสนใจว่า นอกจากความแนบเนียน โดยใช้วัด และหลักศาสนาความเชื่อเป็นตัวนำแล้วผลทางบวกคือ เงินออมของบรรดาผู้สูงอายุที่ทุกคนจะมีเงินติดตัวไว้ใช้จ่ายตลอด ทั้งเรื่องค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาลเงินที่ใช้ในชีวิตประจำวัน การทำกิจกรรมภายในชุมชน มีบางรายสามารถนำเงินนี้ไปดำเนินการลงทุน พืชสวน พืชไร่ได้อีกด้วย ซึ่งเป็นการจุนเจือครอบครัว ลูกหลานได้อีกทาง จากแต่ก่อนมีสมาชิกผู้ชราเพียงไม่กี่สิบคน ปัจจุบันนี้มีถึง 222 คน แล้ว หรือเป็นสมาชิกกันทั้งหมู่บ้านเลยทีเดียว
สำหรับวิธีการจะมีการตั้งคณะกรรมการหมู่บ้านขึ้นมา 1 ชุด โดยอาศัยหลักที่ว่า ร่วมกันทำงานเป็นทีม ทำด้วยจิตอาสา และความซื่อสัตย์เป็นตัวนำพร้อมให้คำมั่นสัญญากับพระว่า จะไม่คดโกง เพราะคณะกรรมการชุดนี้จะทำงานเกี่ยวกับเรื่องเงินเรื่องทองเป็นสำคัญ ส่วนรูปแบบจะเริ่มต้นโดยการให้ผู้สูงอายุ มาสมัครเป็นสมาชิกกลุ่มก่อน จากนั้นจะมีการรับแจกบาตรพระจากมือของเจ้าอาวาส พร้อมให้คำมั่นว่า จะออมตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป โดยบาตรพระที่ว่านี้ จะไปวางอยู่ในบ้านของแต่ละบ้าน มีการเจาะรูและติดลูกกุญแจทันที โดยลูกกุญแจดังกล่าว จะเก็บไว้ที่เจ้าอาวาส เพื่อเป็นการรักษาวินัยทางการเงิน โดยการออมจะหยอดใส่บาตรกี่บาทก็ได้ แต่ขั้นต่ำต้อง 1 บาท ถามว่า คนสูงอายุเหล่านี้เขาจะเอาเงินมาจากที่ไหน คำตอบก็คือ คนชราที่นี่ ส่วนใหญ่ยังประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไปเล็กๆ น้อยๆ บางรายได้รับเงินจากลูกหลานที่ทำงานในกรุงเทพฯ ซึ่งเงินเพียง 1 บาทในการออมต่อ 1 วันไม่ถือเป็นจำนวนเงินที่มากเกินไป
เมื่อครบกำหนด 6 เดือน สมาชิกแต่ละคนจะนำบาตรนั้นออกมาจากบ้าน แล้วรวมตัวกันแห่ไปที่วัด ผ่านการฟ้อนรำ และเล่นดนตรี จากนั้นเจ้าอาวาสก็จะมีการประพรมน้ำมนต์ บายศรีสู่ขวัญ เกิดเป็นกิจกรรมที่ทำร่วมกันโดยใช้วัดเป็นศูนย์กลาง จากนั้นเจ้าอาวาสก็จะนำกุญแจมาไขบาตร เพื่อนำเงินนั้นทำเป็นบัญชีผ่านคณะกรรมการหมู่บ้าน รวบรวมเป็นเงินก้อน แล้วนำไปฝากธนาคาร หากใครเดือดร้อนเรื่องเงินสมาชิกสามารถเบิกเงินนั้นมาใช้จ่ายได้ หากไม่เพียงพอ ต้องการไปใช้หนี้ขัดดอก เช่น ธ.ก.ส. ก็สามารถกู้มาใช้ โดยจะคิดดอกเพียงร้อยละ 1 ต่อเดือนเท่านั้น
ไม่เท่านั้น สมาชิกยังสามารถซื้อหุ้นจากคณะกรรมการได้ด้วย โดย 1 หุ้นราคา 100 บาท เมื่อครบปีก็จะมีการปันผล 1 หุ้น ต่อเงินปันผล 3 บาท ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นเงินหมุนเวียน ทั้งจากดอกเบี้ยของผู้กู้ และเงินเก็บจากเงินออมก้นบาตรทั้งสิ้น ถ้าสมาชิกยิ่งมีมาก ความเข้มแข็งต่อการใช้จ่ายเงินในชุมชนก็เข้มแข็งขึ้นเท่านั้น ส่วนการโกง หรือเชิดเงิน ประธานกลุ่มเอื้ออาทรบ้านโนนกุ่ม บอกว่าแทบไม่มี ถ้ามีเราก็พูดจาด้วยเหตุและผล เราจะพูดจากับเขาดีๆ โดยบอกว่าถ้าไม่ใช้ดอกหรือเงินต้นตามกำหนด ก็ไม่สามารถนำเงินนี้ไปช่วยเหลือผู้ที่เดือดร้อนได้ และที่นี่ดอกเบี้ยก็แสนถูก ดีกว่าไปกู้นอกระบบ ซึ่งเขาก็เข้าใจ และมีความเห็นอกเห็นใจกันมากขึ้น
แนวคิด เงินออมก้นบาตร นอกจากมีเงินออมไปใช้ในบั้นปลายชีวิต หรือในยามชราแล้ว ยังสร้างระบบระเบียบทางการเงิน สามารถต่อยอดเป็น “ธนาคารชุมชนขนาดย่อม” เกิด เป็นเงินหมุนเวียน สร้างเงิน สร้างรายได้ ไม่เฉพาะคนแก่เท่านั้นที่ยิ้มได้ แต่คนในชุมชนทั้งหมดล้วนยิ้มได้ตามไปด้วย
ที่มา: หนังสือพิมพ์ข่าวสด