เงินก้อนหลังจากเกษียณ จัดการอย่างไรให้ยั่งยืน

ที่มา : YOUNG HAPPY

แฟ้มภาพ 

                    หากมีการวางแผนที่ดี ก็อาจทำให้มีเงินเก็บก้อนโตรออยู่ปลายทาง แต่หากขาดการจัดการที่ดี เงินก้อนที่มีก็อาจหมดไปด้วยหลายสาเหตุ เช่น สภาพเศรษฐกิจที่ผันผวน เหตุการณ์ไม่คาดฝันในชีวิตอย่างเช่นการซ่อมแซมปรับปรุงบ้าน หรือผ่าตัดรักษาสุขภาพ เพราะการเกษียณไม่ใช่สถานีสุดท้ายของชีวิต แต่เป็นสถานีเปิดใหม่ที่ผู้โดยสารวัยเก๋ามาถึง จึงขอแชร์เทคนิค การบริหารจัดการเงินเก็บในวัยเกษียณ ที่ไม่เพียงแต่เก็บไว้ใช้ในการดำรงชีวิต แต่เป็นการต่อยอดให้งอกเงย มั่งคั่ง ยั่งยืน พร้อมรับทุกสถานการณ์สังคม ดูแลตัวเองและคนที่เรารักได้ ให้พี่ๆ นำไปลองปรับใช้กับตัวเอง

หลายคนเมื่อเกษียณแล้ว ไม่รู้ว่าจะจัดการเงินก้อนหลังเกษียณยังไงดี สิ่งแรกที่ต้องทำคือการแบ่งเงินก้อนหรือเงินเก็บที่มีออกมาให้ชัดเจน โดยแบ่งเป็น 3 ก้อน คือ

ก้อนที่ 1 เงินสำหรับการดำรงชีวิตประจำวันและกรณีฉุกเฉิน

เป็นเงินสำหรับใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน เพื่อสภาพคล่อง ได้แก่ เงินค่าอาหารการกิน ค่าเดินทาง ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ อินเทอร์เน็ต ฯลฯ ซึ่งสำคัญและจำเป็นมาก รวมถึงเงินที่ควรมีเผื่อไว้กรณีฉุกเฉิน เช่น ต้องใช้เงินจำนวนมากซ่อมแซมปรับปรุงบ้าน ยานพาหนะ หรือรักษาสุขภาพ หรือมีภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำ ผันผวน เกิดวิกฤตต่างๆ โดยเงินเผื่อฉุกเฉินนั้น พี่ๆ ควรเตรียมไว้ประมาณ 3-6 เท่าของค่าใช้จ่ายต่อเดือน

ก้อนที่ 2 เงินเพื่อการลงทุน

เมื่อพี่ๆ จัดสรรเงินก้อนแรกสำหรับใช้จ่ายในชีวิตประจำวันแล้ว เงินก้อนที่สอง พี่ๆ ควรนำมาลงทุนเพื่อให้เกิดดอกออกผล เติบโตในอนาคต เพราะหากพี่ๆ ไม่จัดสรรเงินมาลงทุน เก็บไว้เฉยๆ เงินก้อนที่พี่ๆ มีก็อาจถูกภาวะเงินเฟ้อกัดกิน จนทำให้มูลค่าเงินของพี่ๆ ถูกลงก็ได้ การแบ่งเงินมาลงทุนในระดับความเสี่ยงที่เหมาะสมจึงไม่เพียงแต่ช่วยให้พี่ๆ เอาชนะเงินเฟ้อได้ แต่ยังเป็นการต่อยอดให้เงินได้ทำงาน แล้วเราก็เกษียณสำราญอยู่บ้านได้ในทุกสถานการณ์นั่นเอง

ก้อนที่ 3 เงินสำรองสำหรับค่าใช้จ่ายยามเกษียณ

อีกหนึ่งเงินก้อนที่พี่ๆ ควรสำรองไว้ แม้ว่าจะเป็นเงินก้อนที่มีความสำคัญน้อยกว่าสองก้อนแรก แต่ก็ถือว่ามีความสำคัญ เพราะเป็นเงินสำรองส่วนเกินสำหรับใช้จ่ายยามเกษียณ เช่น ไว้สำหรับท่องเที่ยวหรือพักผ่อนทำกิจกรรมต่างๆ เป็นมรดกไว้สำหรับมอบให้กับลูกหลาน หรือใช้เป็นเงินสำรองเพื่อการลงทุนที่มีความเสี่ยงขึ้นก็ได้เช่นกัน

Shares:
QR Code :
QR Code