เค็มน้อย อร่อยได้ สไตล์ LOW-SO(DIUM)

เรื่องโดย ปัญจวรา บุญสร้างสม Team Content www.thaihealth.or.th


ข้อมูลบางส่วนจาก งานแถลงข่าว การขับเคลื่อน “ลดเค็มทำได้” ในประเทศไทย โดยเครือข่ายลดบริโภคเค็ม, เว็บไซต์ sodiumlesstaurant และเครือข่ายคนไทยไร้พุง


ภาพโดย ปารมี ขันธ์แก้ว Team Content www.thaihealth.or.th สสส. และแฟ้มภาพ


เค็มน้อย อร่อยได้ สไตล์ LOW-SO(DIUM) thaihealth


“ส้มตำ ปูเค็ม อย่างเต็มครกเลย ปูนึ่งเอย ถ้ามีน้ำจิ้ม แซบหลาย ฉีกไก่นา น้ำปลาจิ้มหน่อยดีไหม แล้วตามด้วยไข่ ลูกเขย อร่อยนักเลย ก็เลยต้องกิน” หลายคนคงเคยได้ยินเพลงกินจุ๊บจิ๊บ ซึ่งเนื้อเพลงส่วนหนึ่งบ่งบอกถึงวัฒนธรรมการกินของคนไทยได้เป็นอย่างดี คนไทยมักจะมีพฤติกรรมติดการกินอาหารรสจัด โดยเฉพาะรสเค็ม ไม่ว่าจะกินอะไรก็ต้องปรุง ต้องมีน้ำจิ้มด้วยเสมอ เพื่อเพิ่มรสชาติให้อาหารอร่อยถูกปาก


เป็นที่ทราบกันดีว่า อาหารที่มีรสจัดนั้นเป็นต้นเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดโรคต่าง ๆ มากมาย โดยเฉพาะกลุ่มโรคที่เกิดจากพฤติกรรมหรือโรค NCDs เช่น โรคเบาหวาน โรคไต โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง ฯลฯ หลายคนเริ่มตระหนักและให้ความสำคัญกับการใส่ใจเลือกรับประทานอาหารที่มีรสหวานน้อยลง สั่งเครื่องดื่มทางเลือกสุขภาพ หรือเครื่องดื่มหวานน้อยกันมากขึ้น จนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในวงการอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม เกิดเครื่องดื่มทางเลือกสุขภาพ เครื่องดื่มที่ใช้สารให้ความหวานชนิดอื่นมาทดแทนน้ำตาล เช่น สารสกัดจากหญ้าหวาน แต่ส่วนประกอบสำคัญที่มีอยู่ในอาหารและอันตรายไม่ได้ยิ่งหย่อนไปกว่าน้ำตาล ก็คือ โซเดียม ซึ่งไม่ได้หมายความถึงเฉพาะเกลือ หรือเครื่องปรุงที่มีรสเค็มเท่านั้น แต่ยังรวมถึงอาหารธรรมชาติ เช่น เนื้อสัตว์ ถั่ว ธัญพืชต่าง ๆ อาหารแปรรูป หรือแม้กระทั่งเครื่องดื่มอย่างชา หรือน้ำผลไม้ด้วย


เค็มน้อย อร่อยได้ สไตล์ LOW-SO(DIUM) thaihealth


นพ.ขจรศักดิ์ แก้วจรัส รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากข้อมูลสำรวจการบริโภคเกลือแกงในประเทศไทยปี 2552 พบว่า คนไทยได้รับโซเดียมจากการรับประทานอาหารต่อวันมากถึง 4,000 มิลลิกรัม ซึ่งถือว่ามากกว่าปริมาณความต้องการของร่างกายในแต่ละวันถึงสองเท่า สถานการณ์การบริโภคโซเดียมที่ล้นเกินของคนไทย ทำให้เกิดการจัดทำแผนยุทธศาสตร์การลดการบริโภคเกลือและโซเดียมในประเทศไทย เพื่อลดโอกาสที่จะนำไปสู่การป่วย การเสียชีวิต และผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมจากการเพิ่มขึ้นของโรค NCDs โดยมีเป้าหมายที่จะให้ประชาชนบริโภคเกลือและโซเดียมลดลงร้อยละ 30 ภายในปี 2568 เพื่อสนับสนุนแผนบริการของกระทรวงสาธารณสุข ในการลดโรค NCDs รวมถึงโรคไตวายระยะสุดท้ายของคนไทย


เค็มน้อย อร่อยได้ สไตล์ LOW-SO(DIUM) thaihealth


ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุน สสส. และรักษาการผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. กล่าวว่า สสส. ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข เครือข่ายลดการบริโภคเค็ม เครือข่ายลดการบริโภคไขมัน เครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน เครือข่าย NCDs และภาคีเครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพ ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อระดับชาติ โดยผลักดันนโยบายสาธารณะเพื่อปกป้องสุขภาพของประชาชน จากปัจจัยเสี่ยงด้านการบริโภคอาหาร เสริมพลังขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติป้องกันและควบคุมโรค NCDs รวมทั้งสื่อสารให้ความรู้ประชาชนถึงโทษของการบริโภค “หวาน มัน เค็ม” เกินพอดี


เค็มน้อย อร่อยได้ สไตล์ LOW-SO(DIUM) thaihealth


รสเค็มเป็นรสที่ส่งผลต่อการกินมากที่สุด รสชาติเค็มเปรียบเหมือนยาเสพติด โดยเร่งการผลิตโดปามีน ซึ่งเป็นสารเคมีในสมองส่งผลต่ออารมณ์ความพึงพอใจ ความสุข ทำให้เกิดความรู้สึกอยากอาหาร เมื่อติดรสชาติเค็มแล้ว หากไม่ได้รสชาติเค็มก็จะรู้สึกว่าอาหารไม่อร่อย หงุดหงิด อารมณ์เสีย หากติดเค็มแล้ว เพียงแค่นึกถึงอาหารที่มีรสชาติเค็มก็สามารถทำให้เกิดความรู้สึกหิวและอยากอาหารได้  ซึ่งทำให้เสี่ยงต่อการเกิดภาวะน้ำหนักเกินหรือโรคอ้วนได้ง่ายกว่าผู้ที่ไม่ชอบกินเค็ม เนื่องมาจากความรู้สึกอยากอาหารที่เพิ่มมากขึ้น


วิธีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการกินเค็มให้ลดลง


เค็มน้อย อร่อยได้ สไตล์ LOW-SO(DIUM) thaihealth


1.เลือกรับประทานอาหารสดจากธรรมชาติให้มากขึ้น เน้นผัก ผลไม้ สด และลดการกินอาหารแปรรูป


 เค็มน้อย อร่อยได้ สไตล์ LOW-SO(DIUM) thaihealth


2.อ่านฉลากโภชนาการเป็นประจำ เลือกผลิตภัณฑ์อาหารที่เหมือนกันแต่มีปริมาณของโซเดียมให้น้อยที่สุด หรือเลือกดูบรรจุภัณฑ์ที่มีคำว่า ลดการใช้เกลือ หรือ Low sodium


เค็มน้อย อร่อยได้ สไตล์ LOW-SO(DIUM) thaihealth


3.เลือกน้ำเปล่าแทนที่น้ำหวานหรือน้ำผลไม้ เนื่องจากน้ำผลไม้ในปัจจุบันบางครั้งมีการเติมเกลือลงไปเพื่อเพิ่มรสชาติ แต่จะยิ่งทำให้เราติดรสเค็มมากยิ่งขึ้น


เค็มน้อย อร่อยได้ สไตล์ LOW-SO(DIUM) thaihealth


4.ชิมรสชาติอาหารก่อนปรุง เครื่องปรุงรสเค็ม


เค็มน้อย อร่อยได้ สไตล์ LOW-SO(DIUM) thaihealth


5.ตั้งเป้าหมายในการกินเพื่อลดความเค็มลง โดยลดการเติมเครื่องปรุงในอาหาร


เค็มน้อย อร่อยได้ สไตล์ LOW-SO(DIUM) thaihealth


6.เมื่อรับประทานอาหารนอกบ้าน อาจขอแยกซอสปรุงรสต่าง ๆ หรือขอเค็มน้อยแทน


เค็มน้อย อร่อยได้ สไตล์ LOW-SO(DIUM) thaihealth


รศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ ประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็ม กล่าวว่า คนไทยป่วยเป็นโรคไตวายเรื้อรังสูงถึง 7,600,000 คน เสียชีวิตด้วยภาวะหัวใจวายจากโรคหัวใจและหลอดเลือดประมาณ 40,000 คนต่อปี หรือ 108 คนต่อวัน เป็นโรคอัมพฤกษ์อัมพาตกว่า 500,000 คน การจัดกิจกรรมครั้งนี้เครือข่ายฯ ร่วมกับ สสส. และบริษัท ชูใจ กะ กัลยาณมิตร จำกัด จัดทำภาพยนตร์สั้น เพื่อรณรงค์ลดเค็ม ในเรื่อง “คำรักลิขิตสาป” นำแสดงโดยหนุ่ม-ศรราม เทพพิทักษ์ เต๋า-สโรชา วาทิตตพันธ์ และจอย-ชลธิชา นวมสุคนธ์ และ “คอร์สเปลี่ยนลิ้น 21 วัน (21 Days Sodium Lesstaurant) โดยร่วมกับร้านอาหาร 21 ร้าน ปรับเมนูลดเค็ม แต่ยังคงรสชาติความอร่อยไว้ โดยเปิดให้สั่งผ่านแอปพลิเคชัน  Line Man รวมทั้งให้สูตรเมนูลดเค็ม สำหรับผู้ที่ต้องการทำอาหารรับประทานเองด้วย ผู้สนใจสามารถเข้าไปดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.sodiumlesstaurant.com/


เค็มน้อย อร่อยได้ สไตล์ LOW-SO(DIUM) thaihealth


sodiumlesstaurant เป็นเว็บไซต์ที่เป็นแหล่งรวมช่องทางการติดต่อกับเหล่าร้านอาหารที่ปรับสูตรเมนูเด็ดให้ลดเค็มลง พร้อมส่งตรงถึงบ้านได้ตั้งแต่หนึ่งมื้อจนถึงการผูกปิ่นโตไปตลอดสามสัปดาห์ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่พิสูจน์แล้วว่าลิ้นจะปรับกลับมาอร่อยกับรสชาติที่ลดเค็มลงพร้อมสุขภาพที่ดีขึ้นแบบวัดผลได้


สิ่งสำคัญที่สุดที่จะทำให้สถานการณ์การบริโภคโซเดียมดำเนินไปในทิศทางที่ดีขึ้น คือ พฤติกรรมการเลือกบริโภคของตัวเราเอง มาตรการต่าง ๆ เป็นเพียงตัวช่วยให้การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคประสบความสำเร็จได้ง่ายขึ้นเท่านั้น


คอร์สเปลี่ยนลิ้น 21 วัน เป็นอีกตัวช่วยหนึ่งที่จัดทำขึ้นโดยหวังว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นให้คนไทยได้กลับมาใส่ใจเรื่องอาหาร ตั้งแต่วันที่โรคภัยยังไม่ส่งมาถึงทุกคน สสส. มุ่งหวังให้คนไทยมีความตระหนักถึงพิษภัยอันตรายจากการบริโภคโซเดียมในปริมาณที่มากเกินไป รวมทั้งมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในการดูแลตัวเองให้มีสุขภาพที่ดี ห่างไกลจากโรค NCDs

Shares:
QR Code :
QR Code