เค็มน้อยอร่อยได้ ดีต่อไต ไร้เสี่ยงโรคไม่ติดต่อ (NCDs)
เรื่องโดย : พงศ์ศุลี จีระวัฒนรักษ์ Team Content www.thaihealth.or.th
ข้อมูลจาก : งานครบรอบ 10 ปี เครือข่ายลดบริโภคเค็ม “เค็มน้อย อร่อยได้” ณ ศูนย์การค้า เซ็นทรัลเวิลด์ ชั้น 3 วันที่ 4-6 ธ.ค. 66
ภาพโดย ฐิติชญา สัมปุรณะพันธุ์ Team Content www.thaihealth.or.th และแฟ้มภาพ
“…การกินเค็ม หรือ การใช้เครื่องปรุงที่มีโซเดียมมากเกินไป คือ ปัจจัยสำคัญ ที่ทำให้เกิดความเสี่ยงโรคไม่ติดต่อ (NCDs) ล้วนส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่อันตรายต่อปัญหาสุขภาพระยะยาว ทั้งเป็นความดันโลหิตสูง โรคไต หลอดเลือดสมองและหัวใจขาดเลือดได้โดยตรง…”
คำแนะนำขององค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุ ร่างกายควรได้รับโซเดียมจากอาหารไม่ว่าจะเป็นเครื่องปรุงรสชนิดต่าง ๆ อาหารแปรรูป ขนมที่ใช้ผงฟูเป็นส่วนประกอบ เครื่องดื่มเกลือแร่ น้ำผลไม้คั้นสดหรือแปรรูปที่ขายตามท้องตลาด ไม่ควรเกิน 1500- 2,000 มิลลิกรัม หรือเทียบกับเกลือไม่เกิน 1 ช้อนชา โดยเทียบกับน้ำปลาไม่เกิน 4 ช้อนชา ในแต่ละวัน
จากการสำรวจข้อมูลโดยเครือข่ายลดบริโภค ในปี 2563 พบคนไทยมีพฤติกรรมกินเค็ม เฉลี่ยที่ 3,636 มก./วัน สูงกว่ามาตรฐานขององค์การอนามัยโลกถึง 1.8 เท่า ” ที่จะส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่อันตราย มีผู้ป่วยโรคที่สัมพันธ์กับการบริโภคโซเดียม
ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวในงานครบรอบ 10 ปี ร่วมสานพลังภาคีเครือข่ายลดบริโภคเค็ม “เค็มน้อย อร่อยได้”เพื่อรณรงค์ให้คนไทยปรับลดพฤติกรรมการกินเค็ม ลดความเสี่ยงเกิดโรค NCDs เมื่อวันที่ 4-6 ธ.ค. 66 ณ ศูนย์การค้า เซ็นทรัลเวิลด์
สสส. ได้ผลักดันการป้องกันโรค NCDs ผ่านการขับเคลื่อนขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ลดบริโภคเกลือและโซเดียมในไทย ปี 2559-2568 โดยนโยบายสาธารณะ เพื่อมุ่งขยายผลปรับพฤติกรรมบริโภคให้เหลือ 2,000 มก./วัน อาทิ ผลักดันมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ลดบริโภคโซเดียม ลดโรค NCDs ผุดนวัตกรรมเครื่องวัดความเค็ม พัฒนาสูตรอาหารโดยใช้สารทดแทนความเค็ม
อีกทั้งขับเคลื่อนมาตรการภาษีโซเดียม สร้างกติกากลางกับภาคอุตสาหกรรม เพื่อนำไปสู่การขยายผลการปรับสูตรลดปริมาณโซเดียมในผลิตภัณฑ์อาหาร ทำให้สถานการณ์บริโภคโซเดียม ในปี 2552 จาก 4,351.69 มก./วัน ลดเหลือ 3,636 มก./วัน ในปี 2562
ล่าสุด พัฒนาแคมเปญรณรงค์ “ลดซด ลดปรุง ลดโรค” สื่อสารความรู้ให้เกิดความตระหนักภัยร้ายจากการบริโภคโซเดียมเกินมาตรฐาน นำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เริ่มต้นจากลดการซดน้ำซุป น้ำผัด น้ำแกง น้ำยำ เน้นเลือกบริโภคเนื้อสัตว์ ผักในมื้ออาหาร ติดตามได้ทางเฟซบุ๊กแฟนเพจ ลดพุง ลดโรค
รศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ ประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็ม กล่าวในงานครบรอบ 10 ปี เป้าหมาย คือ การแสดงความมุ่งมั่นในการร่วมดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ลดการบริโภคเกลือและโซเดียมฯ โดยสร้างความเข้าใจ ให้ทุกภาคส่วนตระหนักรู้ถึงผลกระทบจากการรับเกลือและโซเดียมปริมาณสูงเกินความจำเป็นของร่างกาย
ดังนั้น การกินเค็มเป็นภัยเงียบ อาจไม่เห็นผลทันที ยกเว้นคนที่ไวต่อการกินเค็ม เช่น ผู้สูงอายุหรือคนที่มีโรคประจำตัว จะมีอาการตาบวม ขาบวม ความดันโลหิตสูงขึ้น ปวดหัว หิวน้ำบ่อย และที่น่ากังวล คือ มีผู้ป่วยโรคไตหรือไตวายอายุน้อยลงอยู่ที่ 35–40 ปี จากเดิมที่อยู่ที่ 50–60 ปี
การติดบริโภคเค็มมี 2 ปัจจัย 1.วัฒนธรรมการบริโภคที่เปลี่ยนไป นิยมอาหารสำเร็จรูป บุฟเฟต์ปิ้งย่าง หมูกระทะ อาหารญี่ปุ่น-เกาหลีที่มีรสเค็มจัดจากการหมักดองเกลือ/เครื่องปรุงจำนวนมาก เมื่อบริโภคสะสมจะติดรสเค็มโดยไม่รู้ตัว 2.บริโภคเค็มตั้งแต่เด็ก ทั้งขนมกรุบกรอบ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป โจ๊กซอง-ถ้วย หรืออาหารที่ผู้ปกครองปรุงเค็มเกิน
ผลการสำรวจปริมาณโซเดียมในอาหารด้วยนวัตกรรม Salt Meter ในพื้นที่นำร่องบริการสุขภาพ เขต 1, 2, 3, 8, 10 พบร้านค้ากว่า 95% ใช้ผงปรุงรสสำเร็จรูปมากกว่าเคี่ยวน้ำซุปด้วยผักหรือเนื้อสัตว์ เพราะมีต้นทุนที่ถูกกว่า ส่งผลมีแนวโน้มผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด และโรคไต เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว
สอดรับกับเป้าหมายของรัฐบาล นายวิชาญ มีนชัยนันท์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า “รัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุขความสำคัญต่อการส่งเสริมสุขภาพคนไทยให้ห่างไกลจากโรค โดยเฉพาะโรคไม่ติดต่อ (NCDs) ที่มีสาเหตุสำคัญจากการบริโภคหวาน มัน เค็ม ในการรักษาพยาบาล แต่ละปีรัฐบาลจัดสรรงบประมาณกว่า 2 แสนล้านบาท
“หากประชาชนมีสุขภาวะที่ดี จะช่วยลดค่ารักษาพยาบาลของประเทศลงได้ โดยจุดเริ่มต้นสำคัญ คือ ความรู้ ดูแลสุขภาพตัวเอง โดยการสานพลังของ สสส. และภาคีเครือข่าย ที่สร้างความตระหนักรู้ใส่ใจสุขภาพแก่ผู้บริโภค เกิดการปรับสูตรผลิตภัณฑ์อาหารที่ลดโซเดียมลงแต่ยังคงรสชาติที่ดี เพื่อให้ผู้บริโภคมีความสุขทั้งกายและใจ ประชาชนมีสุขภาพแข็งแรงและเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพและสังคมโลกต่อไป” นายวิชาญ กล่าว
นอกจากนี้ ภายในงานมีการจัดแข่งขันกิจกรรมประกวดเมนูอาหารเค็มน้อย โดยเราได้พบกับคุณแต๋ง กฤษฏิ์กุล ชุมแก้ว หรือ “แต๋ง อาฟเตอร์ยำ” และคุณแอนนา เสืองามเอี่ยม มิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ ปี 2565 ได้กล่าวเชิญชวนแฟนคลับให้หันมาลดกินเค็มด้วยกันว่า “การกินเค็มสามารถส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ โดยเฉพาะโรคไต ถ้าปรับพฤติกรรมลดเค็มได้ ก็จะดีต่อสุขภาพมาก ไม่ต้องถึงขั้นงดกินเค็ม แต่ต้องค่อย ๆ ลดเค็มลงทีละนิด เพื่อให้ร่างกายมีความเคยชิน สุขภาพก็จะดีขึ้นเอง”
สสส. มีความมุ่งมั่นในการปรับพฤติกรรมการกิน ลดบริโภคเค็ม เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการลดความเสี่ยงการเกิดโรค NCDs โดยเฉพาะโรคไต หลอดเลือดสมองและหัวใจ สู่การเป็นก้าวย่างที่สำคัญของการสร้างสุขภาวะที่ดีของทุกคนบนผืนแผ่นดินไทยต่อไป