เคล็ดลับสุขภาพฉบับ`โย่ง & เก้า`
ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
แฟ้มภาพ
'สุขภาพดีไม่มีขาย อยากได้ ต้องลงมือทำ' ประโยคนี้ ยังอมตะเสมอ และจะดีกว่า ถ้าสามารถส่งต่อไปยังผู้อื่นให้ตระหนักถึงการสร้างสุขภาพที่ดี..
เก็บตกจากส่วนหนึ่งของงาน "Good Society Expo: เทศกาลทำดีหวังผล” ที่เสร็จสิ้นไปแล้วเมื่อสองสัปดาห์ก่อน โดยความร่วมมือของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มูลนิธินวัตกรรมทางสังคม มูลนิธิยุวพัฒน์ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) มูลนิธิ เอ็นไลฟ มูลนิธิเพื่อคนไทย และภาคีเครือข่าย ได้ร่วมกันจัดขึ้น ณ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ เพื่อร้อยเรียงความร่วมมือของภาคีเครือข่าย กระตุ้นให้คนในสังคมมีความตระหนักและ มีส่วนร่วมในการ "ลงมือทำ"
หนึ่งในนั้น คือ กิจกรรม "สุขภาพดีมีทางเลือก" มีเกสต์เป็นหนุ่มนักดนตรีอย่าง โย่ง อาร์มแชร์ หรือ อนุสรณ์ มณีเทศ มาร่วมสร้างแรงบันดาลใจในการเลิกบุหรี่
โย่งเล่าว่า ตนเองเริ่มสูบบุหรี่ตั้งแต่อายุ12-13ปี เพราะคิดว่า การสูบบุหรี่ มันเท่ พอโตขึ้นเคยพยายามเลิกบุหรี่อยู่หลายครั้งแต่ล้มเหลวมาตลอด ครั้งล่าสุด ที่เลิกได้ นอกจากอยากเอาชนะตัวเองแล้ว ก็เพราะคิดถึงคนที่ตนเองรัก และเป็นห่วง
"อันตรายจากการควันบุหรี่ก็มีโทษมากมาย แม้ไม่ได้สูบเองก็ได้รับอันตราย ทั้งบุหรี่มือสองและบุหรี่มือสามที่ควันติดกับที่นอน ผ้าม่านทำให้คนอื่นได้รับผลกระทบ ตรงนี้ทำให้คิดว่า ถ้าเรายังไม่เลิก มันจะดูเป็นการเห็นแก่ตัวเกินไป" โย่งเอ่ย
พร้อมเผยเคล็ดลับการเลิกบุหรี่ของตนเองว่า ในช่วงแรกที่เลิกบุหรี่อาจจะมีอารมณ์หงุดหงิด เหมือนถูกขัดใจตลอดเวลา ใครทำอะไรก็ขัดหูขัดตาไปหมด ตรงนี้หากจับอารมณ์ตนเองได้ พยายามตั้งสติ ให้คิดถึงปลายทางว่า ถ้าทำสำเร็จกลายเป็น คนที่เลิกบุหรี่ได้มันจะเท่มาก
หลังจากที่เลิกบุหรี่มาได้ประมาณ 1 ปีกว่า โย่งเล่าถึงการเปลี่ยนแปลง ที่เห็นได้ชัดว่า รู้สึกว่าสุขภาพตนเองดีขึ้น เห็นได้จากเวลาก่อนนอน และหลังตื่นเช้าไม่มีอาการไอหนักๆ เหมือนเดิม ทั้งยังรู้สึกว่า หายใจโล่ง ที่สำคัญเวลาออกกำลัง และ ร้องเพลงไม่เหนื่อยง่ายเหมือนเดิม เพราะอาชีพของตนทำงานไม่เป็นเวลา ดังนั้นการดูแลสุขภาพให้แข็งแรงจึงเป็น สิ่งจำเป็น
"โดยส่วนตัวคิดว่า บุหรี่เป็นสิ่งเสพติดที่เลิกยากที่สุด เพราะคนจะยังไม่เห็นผลของมันเดี๋ยวนั้น แต่มันจะสะสมไปเรื่อยๆ แล้วค่อยแสดงอาการออกมา บางคน โชคดีรักษาหาย บางคนโชคร้ายก็ สายเกินแก้
ผมเชื่อว่าทุกๆ คนอยากเลิกบุหรี่ ขอเพียงเรามีความตั้งใจและเด็ดเดี่ยว ตัดสินใจให้ขาด อย่าไปใช้อุปกรณ์อะไรมาสูบทดแทน ในความคิดของผมการหักดิบเป็นวิธีที่ดีที่สุด ครั้งแรกอาจจะตั้งเป้า เลิกสูบไว้สัก 3 วันก่อน แล้วค่อยขยับไปเรื่อยๆ เพิ่มเวลาให้มากขึ้น เอาชนะใจ ตัวเองให้ได้"
"การที่ สสส. รณรงค์ให้ประชาชนเห็นโทษของบุหรี่มาโดยตลอด มีกิจกรรมส่งเสริมการดูแลสุขภาพให้ทุกคนเข้าร่วมกิจกรรมตลอดทั้งปี ถือเป็นสิ่งที่ดีมากๆ บางคนอยากดูแลสุขภาพ แต่ไม่รู้จะเริ่มต้นยังไง สสส. ก็เหมือนเป็นไกด์ที่ค่อยให้ ความรู้ คำแนะนำที่ถูกต้องและถูกวิธีสำหรับทุกคนที่สนใจ"โย่ง กล่าว
ต่อด้วยนักแสดงขวัญใจวัยรุ่น 'เก้า- จิรายุ ละอองมณี ที่ร่วมพูดคุยผ่านเวทีสุขภาพดีมีทางเลือกว่า จุดเริ่มต้นของการคิดดี ทำดี รวมไปถึงการมีสุขภาพที่ดี เริ่มต้นที่ครอบครัว โดยเฉพาะคุณแม่ที่สอนและแนะนำการใช้ชีวิตตั้งแต่เด็ก
"สิ่งที่คุณแม่ย้ำเสมอ คือ ต้องรู้จักหน้าที่ของตนเอง ทำหน้าที่ให้ดีที่สุด สมัยเรียน แม่ก็จะคอยดูงานที่เราสามารถรับได้โดย ไม่กระทบเรื่องเรียนและสุขภาพ ตัวเราเอง ก็ต้องขยันและรับผิดชอบ" เก้าเล่าและเผยถึงเทคนิคการดูแลสุขภาพในแบบฉบับของตัวเองว่า เรื่องแรกที่ต้องคิดให้ได้ คือ อย่ามองว่า อายุน้อยแล้วจะ ไม่เป็นอะไร
"หากใช้งานร่างกายอย่างเต็มที่ โดยไม่ดูแลก็เท่ากับเราเอาสุขภาพดี จากอนาคตมาใช้ จึงเลือกเล่นฟุตบอล ออกกำลังกายเพราะเป็นกีฬาที่ชอบและ ยังได้มิตรภาพจากการเล่นร่วมกันในทีม" นักแสดงวัยรุ่นเล่า
สำหรับเรื่องที่น่าเป็นห่วงของวัยรุ่นคงหนีไม่พ้น "เรื่องเพศ" ซึ่งเจ้าตัวให้ความ คิดเห็นโดยยกเครดิตให้แม่ว่า
"แม่ย้ำเสมอว่า เราต้องเป็นสุภาพบุรุษต่อผู้หญิง แม่จะสอนและเล่าเรื่องต่างๆ ว่า ผู้หญิงเขาคิดกันแบบนี้ ถึงเวลาเจอปัญหาสิ่งที่แม่พูดไว้ก็จะอยู่ในหัวเรา อยากฝากพ่อแม่ว่า บางทีวัยรุ่นอาจไม่เชื่อในตอนนั้นแต่เขาไม่ลืมหรอก บางทีต้องใช้เวลา เมื่อเขาเจอกับเหตุการณ์จริงเขาจะเรียนรู้ หรือหากทำอีกก็อยากให้พูดต่อไป อย่างน้อยเขาได้รู้ว่าพ่อแม่หวังดี" น้องเก้าเล่า
ทั้งนี้ ปัจจุบันมีกฎหมายวัยรุ่นที่เพิ่งออกมาใหม่อย่าง พ.ร.บ.ป้องกันและ แก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น สิ่งที่ น่าสนใจคือการให้ความรู้เรื่องเพศแก่เด็กและเยาวชนรอบด้าน
เขามองว่า เรื่องเพศศึกษาเป็นสิ่งที่เราต้องปรับตัวตามยุคสมัย วันนี้ทุกคนเข้าถึงสื่อออนไลน์กันหมด ความรู้ที่เขาหาเองก็ ไม่ได้ถูกร้อยเปอร์เซ็นต์ ถ้าให้เขาเลือกศึกษาเองก็จะถามจากเพื่อน แต่จะดีกว่าไหมถ้าเขาได้รู้ข้อมูลที่ถูกต้องใส่ในหลักสูตรการสอนที่ไม่ใช่สอนเพียงแค่พื้นฐาน เพราะไม่ได้สร้างความตระหนักในเรื่องเพศ แต่ยิ่งทำให้เด็กอยากรู้อยากลอง มากขึ้นไปอีก
"แม้ว่าปัจจุบันเราจะได้รับสื่อด้านลบค่อนข้างมาก แต่ใช่ว่าจะไม่มีสื่อที่ดีเลย มีหลายหน่วยงานที่พยายามสร้างสรรค์สื่อดีๆ และโครงการที่เป็นประโยชน์ เช่นเดียวกับ สสส. ที่พยายามผลักดันให้สังคมน่าอยู่ด้วยการ สร้างเสริมสุขภาพ ซึ่งสุขภาพไม่ได้หมายถึงการดูแลร่างกายเพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมไปถึง จิตใจ ปัญญา และสังคม เทศกาลทำดี หวังผลก็เป็นหนึ่งในโครงการดีๆ ที่สะท้อนให้เห็นว่า สังคมไทยน่าอยู่เกิดขึ้นได้จาก การร่วมมือของทุกคน การทำดีเพื่อสังคม จึงไม่ได้ทำแล้วผ่านไปแต่ต้องเกิดผลดี ต่อสังคมแบบยั่งยืน" นักแสดงหนุ่มแสดงความเห็นทิ้งท้าย