เคลื่อนองค์กรสุขภาวะ สู่องค์กรธุรกิจคุณธรรม
ที่มา : สยามรัฐ
ภาพประกอบจากเว็บไซต์ศูนย์คุณธรรม
การบริหารจัดการทรัพยากรมนุษย์ให้มีคุณภาพและประสิทธิภาพเป็นสิ่งที่ทุกองค์กรให้ความสำคัญเพราะเชื่อว่าทรัพยากรดังกล่าวเป็นตัวแปรหลักในการขับเคลื่อนธุรกิจให้ดำเนินไปอย่างยั่งยืน นอกจากผลประกอบการที่น่าพอใจการสร้างความน่าเชื่อถือและยกระดับองค์กรธุรกิจสู่องค์กรคุณธรรมก็เป็นสิ่งสำคัญ
เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้และประสบการณ์การสร้างองค์กรคุณธรรมศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) ร่วมกับมูลนิธิหัวใจอาสา ได้จัดงาน MORAL BUSINESS FORUM 2019 นวัตกรรมส่งเสริมคุณธรรมองค์กรภาคเอกชน สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อยกระดับและพัฒนาแนวทางสู่องค์กรคุณธรรมภาคเอกชน
คุณหญิงชฎา วัฒนศิริธรรม ประธานมูลนิธิหัวใจอาสา กล่าวว่า กิจกรรมนี้เป็นการสนับสนุนให้องค์กรธุรกิจภาคเอกชนมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมคุณธรรมคน เพราะเชื่อว่าการพัฒนาคนเป็นพลังในการขับเคลื่อนการพัฒนาในทุกด้าน โดยต้องมีความดี ความสามารถ และความสุข รวมทั้งมีการบริหารจัดการไปสู่องค์กรภาคธุรกิจคุณธรรม ตอบสนองต่อการพัฒนาแนวทางที่ยั่งยืนและส่งเสริมคุณธรรมตามยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งต้องพัฒนาให้เหมาะสมกับสภาพของแต่ละองค์กร รวมถึงการพัฒนาองค์ความรู้ รูปแบบและกระบวนการส่งเสริมพัฒนาองค์กรธุรกิจภาคเอกชน เพื่อสร้างการรับรู้ต่อสาธารณะและพัฒนาเป็นนโยบายที่เหมาะสมปฏิบัติได้จริงต่อไป
เช่นเดียวกับ รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) กล่าวถึง หัวใจสำคัญของการขับเคลื่อนองค์กรคุณธรรม คือ การเปลี่ยนพฤติกรรมคนที่ต้องมีความจริงจังจนนำไปสู่พฤตินิสัย คือ ทำจนเป็นนิสัยส่วนตัวที่ดี และต้องเริ่มต้น คือการเริ่มลงมือปฏิบัติดังนั้นสมาชิกในองค์กรทุกระดับต้องประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันถึงความดีที่อยากทำและพฤติกรรมไม่ดีที่อยากแก้ โดยเริ่มที่ตัวเราก่อนและขยายไปสู่องค์กรที่มีคุณธรรม และต้องมีกลไกติดตามพฤติกรรมในที่สุด
"ศูนย์คุณธรรมพร้อมที่จะเป็นพี่เลี้ยงเพราะหากมีองค์กรตัวอย่างเป็นแรงขับเคลื่อนในสังคม จะทำให้ภาคธุรกิจอื่นเห็นความสำคัญ และเข้าใจได้ว่าการทำองค์กรธุรกิจคุณธรรมไม่ได้เป็นภาระของใครแต่เป็นภาระของทุกคนในชาติ" รศ.นพ.สุริยเดว กล่าว
จุดเริ่มต้นของการก้าวไปสู่องค์กรคุณธรรม มีพื้นฐานมาจากแนวคิด HAPPY 8 ประการ ซึ่งได้แก่ Happy Body, Happy Heart,Happy Relax, Happy Brain, Happy Soul, Happy Money และ Happy Society โดย นางสาวชัชณารัช จันทนะ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สำนักสนับสนุนสุขภาวะองค์กร สสส. กล่าวว่า Happy 8 เป็นกรอบการทำงานของสำนักสนับสนุนสุขภาวะองค์กรประกอบไปด้วย 8 มิติ ซึ่งบริบทของแต่ละองค์กรจะไม่เหมือนกัน อยู่ที่ว่าจะนำ Happy ตัวไหนไปใช้ โดยการส่งเสริมเรื่ององค์กรคุณธรรม มี 2 Happy ที่สามารถนำไปใช้กับการทำงานได้ คือ Happy Heart มีน้ำใจดี และ Happy Soul มีคุณธรรมจริยธรรม ที่เป็นหลักในการนำไปสู่องค์กรเอกชนที่มีคุณธรรมและพร้อมจะขับเคลื่อนต่อไป แต่ Happy อื่น ก็นำมาประกอบให้เป็นองค์กรคุณธรรมได้ เช่น Happy Body ต้องมีสุขภาพดี Happy Relax มีการผ่อนคลาย เป็นต้น
"สสส.เชื่อว่าถ้าคนที่ทำงานในองค์กรมีสุขภาพดี มีความปลอดภัย มีคุณภาพชีวิตที่ดี จะนำไปสู่องค์กรสุขภาวะ ส่งผลไปยังสังคม สิ่งแวดล้อมที่ดี สู่ประเทศสุขภาวะ จึงอยากเชิญชวนองค์กรเอกชนให้เข้ามาร่วมเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรคุณธรรม โดยที่มีนวัตกรรมต่าง ๆ ที่เป็นตัวอย่าง มีองค์กรต้นแบบเป็นตัวเสริมความชัดเจนของการผลักดันให้ไปสู่องค์กรที่มีความสุข และช่วยให้มีผลประกอบการขององค์กรเพิ่มขึ้นอีกด้วย" นางสาวชัชณารัช กล่าว
นวัตกรรมส่งเสริมองค์กรคุณธรรม เป็นตัวช่วยขับเคลื่อนด้านสุขภาวะที่หลอมรวมคนในองค์กรให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในมิติต่าง ๆ เช่นเดียวกับนวัตกรรมส่งเสริมคุณธรรมในองค์กรดีเด่นผ่านโครงการลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ด้วยหลักเศรษฐกิจพอเพียง โดย นายวันชัย สุวรรณมณี ผู้จัดการแผนกองค์การสัมพันธ์และองค์กร บมจ.สามมิตรมอเตอร์สแมนูแฟคเจอริง กล่าวว่า โครงการดังกล่าวเป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมให้พนักงานรู้จักทำกิจกรรมดูแลตนเองและต่อยอดจากกิจกรรมอื่น ๆ เช่น กิจกรรมงดเหล้างดบุหรี่ เป็นการบูรณาการกิจกรรมที่ตอบโจทย์ทั้ง 8 Happy เพราะมีการบูรณาการในทุกด้าน การที่พนักงานไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มเหล้าทำให้ประหยัดเงิน ลดรายจ่าย โดยกิจกรรมภายใต้นวัตกรรมโครงการนี้ ได้แก่ การเลี้ยงกบ เลี้ยงปลาดุก ปลูกผัก ปลูกต้นอ่อนทานตะวัน ต้นอ่อนผักบุ้ง ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นพบว่า พนักงานมีรายได้เสริมและมีรายจ่ายที่ลดลง
"พนักงานที่เข้าร่วมกิจกรรมมีวินัย มีความตั้งใจ และการแบ่งปันส่งผลให้พวกเขา มีรอยยิ้มเกิดขึ้นสัมผัสได้ถึงแววตาที่บ่งบอกว่าได้คลายทุกข์ ทำให้วินัย จิตอาสา และความพอเพียงเกิดขึ้นในตัวเขาคุณธรรมก็เกิดขึ้นกับเขา นำไปสู่องค์กรที่เข้มแข็ง" นายวันชัย กล่าว
กล่าวได้ว่า นวัตกรรมส่งเสริมคุณธรรม เป็นผลผลิตที่จะสามารถทำให้องค์กรเห็นประโยชน์และจับต้องได้ รวมถึงสนใจที่จะเข้าร่วมเป็นหนึ่งในการขับเคลื่อนองค์กรคุณธรรมเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของตนเองและองค์กร จากองค์กรแห่งความสุข ยกระดับเป็นองค์กรคุณธรรมในที่สุด