‘เครื่องฟอกอากาศ’ นวัตกรรมจากนักคิดน้อย

         นวัตกรรม ‘เครื่องฟอกอากาศโดยใช้ถ่านไม้และกลิ่นสมุนไพร’ โดยนักเรียน ม.3 โรงเรียนวัดตะพงนอก

         โรงเรียนวัดตะพงนอก สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาระยอง เขต 1 เปิดสอนระดับชั้นอนุบาลถึง ม.3 สถานศึกษาขนาดใหญ่มีนักเรียน ประมาณ 1,500 คน อยู่ห่างจากตัวเมืองระยองประมาณ 9 กิโลเมตร มีการคมนาคมสะดวกและอยู่ใกล้สถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญ อาทิ ชายหาดแม่รำพึง อุทยานเขาแหลมหญ้า เขายายดา ประเด็นสำคัญเป็น 1 ใน 20 โดยโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการพัฒนาโปรแกรมการเรียนการสอนเรื่องภัยจากมลพิษทางสิ่งแวดล้อมและการนำไปประยุกต์ใช้เพื่อการดูแลตนเองและมีส่วนร่วมในกระบวนการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ (Health Impact Assessment หรือ HIA) เนื่องจากมีพื้นที่อยู่ใกล้กับนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งมีผลกระทบและมีความเสี่ยงในเรื่องภัยจากมลพิษทางสิ่งแวดล้อมโดยตรง

/data/content/19690/cms/defghjnprxy7.jpg

         โครงการดังกล่าวเกิดการต่อยอดจากงานวิจัยของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเรื่องการพัฒนาแนวทางการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ (Health Impact Assessment; HIA) ซึ่งพบว่า การวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ประชาชนส่วนใหญ่ขาดความรู้ ความเข้าใจ หรือร้ายที่สุดไม่รู้ว่าการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ หรือ HIA คืออะไร มีความสำคัญและจำเป็นอย่างไร ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงที่สุด ดังนั้น ศ.ดร.พรชัย สิทธิศรัณย์กุล และ รศ.ดร.สรันยา เฮงพระพรหม ผู้ทำการวิจัยเรื่อง ดังกล่าว เล็งเห็นความสำคัญและต้องการสอดแทรกองค์ความรู้ลงไปในหลักสูตรการเรียนการสอน ทั้งหลักสูตรแกนกลางและหลักสูตรท้องถิ่นสำหรับเด็กและเยาวชน

         นักวิจัยทั้ง 2 คน จึงได้ประสานขอความร่วมมือกับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาระยอง สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาชลบุรี สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 18 ซึ่งมีสถานศึกษาเข้าร่วม จำนวน 20 แห่ง โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส. 

         “HIA คือเครื่องมือในการติดตาม ป้องกัน และเฝ้าระวังผลกระทบต่อสุขภาพที่เกิดจากภัยสิ่งแวดล้อมได้ด้วยตนเอง” เนื่องจากปัญหาสุขภาพที่เกิดจากมลพิษอุตสาหกรรมไม่ถูกแก้ไขอย่างต่อเนื่อง เพราะคนในพื้นที่เกิดความไม่เข้าใจ ไม่ไว้ใจ จนเกิดความขัดแย้ง และที่สำคัญการเข้าไม่ถึงข้อมูล ฉะนั้น การแก้ไขปัญหาระยะยาว จึงต้องเสริมสร้างองค์ความรู้หรือการเชื่อมต่อท่อความรู้จากนักวิชาการไปสู่ชุมชน ครอบครัว เด็กและเยาวชน แม้จะมีองค์กร หน่วยงาน เครือข่ายต่างๆ หรือ NGO ได้พยายามขับเคลื่อนในวิธีการ รูปแบบต่างๆ แต่ไม่มีใครที่มุ่งเน้นไปที่การสอดแทรกองค์ความรู้ลงไปในโปรแกรมการเรียนการสอนเรื่องภัยสิ่งแวดล้อมจากมลพิษอุตสาหกรรมและการนำไปประยุกต์ใช้เพื่อการดูแลตนเอง รวมถึงการมีส่วนร่วมในกระบวนการประเมินผลกระทบต่อสุขภาพโครงการฯ จึงเลือกพื้นที่นำร่องในเขตนิคมอุตสาหกรรม จ.ระยอง และ จ.ชลบุรี” รศ.ดร.สรันยา เฮงพระพรหม หัวหน้าโครงการฯ เปิดเผย

         นายปัญจนอง วงศ์บุปผา ผอ.โรงเรียนวัดตะพงนอก กล่าวว่า การทำอุตสาหกรรมของ จ.ระยอง มีมากว่า 30 ปีแล้ว และบริเวณใกล้ๆ โรงเรียนมีโรงงานพลาสติก โรงงานผลิตปุ๋ย โรงไฟฟ้า ดังนั้น จุดหมายปลายทางเราไปต่อต้านโรงงานอุตสาหกรรมไม่ได้ แต่จะอยู่กันอย่างไรแบบมีความสุขด้วยกันทั้งสองฝ่าย เมื่อจัดโปรแกรมการเรียนการสอน HIA เป็นพื้นฐานให้แก่เด็ก รู้ถึงผลกระทบ วิธีหลีกเลี่ยง การป้องกันตนเองจะทำอย่างไร ส่วนโรงงานอุตสาหกรรม ผู้ประกอบการก็เข้ามาร่วมประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ในสิ่งที่โรงงานผลิต ว่าผลิตภัณฑ์ที่ทำนั้นคืออะไร จะมีผลต่อสิ่งแวดล้อมทางบวก ทางลบอย่างไร หากเกิดเหตุความผิดพลาดมีแผนป้องกัน มีการซักซ้อมอย่างไร ซึ่งโรงงานผู้ประกอบการต้องมาเป็นเครือข่ายกับโรงเรียนด้วย

         นายเอกการ วงศ์จิรปภัทร ครูผู้สอน กล่าวว่า การจัดทำโปรแกรมการเรียนการสอน HIA ชั้น ป.5 กลุ่มสาระวิทยาศาสตร์ และ ม.2 กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน โดยเพิ่มหน่วยสิ่งแวดล้อมลงในหลักสูตร ซึ่งการเรียนรู้จากงานวิจัยนี้เป็นประโยชน์ทั้ง 2 ส่วน เพราะครูเรียนรู้ร่วมไปกับเด็ก แต่การสอนนั้นต้องสอนให้นักเรียนรู้ทั้ง 2 ด้าน ว่าโรงงานอุตสาหกรรมมีประโยชน์อะไรบ้าง เพราะวิถีชีวิตของทุกคนส่วนหนึ่งก็มาจากโรงงานอุตสาหกรรมด้วย เช่น โต๊ะ เก้าอี้ ก็ถูกสร้างมาจากโรงงาน เราต้องสอนให้เด็กมองทั้ง 2 ส่วน ทั้งประโยชน์ และผลกระทบ

        เราต้องยกตัวอย่างให้เด็กเห็นจากของจริง สิ่งใกล้ตัว นำเข้าสู่ประเด็น ประโยชน์มี โทษมี บทบาทของเด็กอยู่ตรงไหน หากมีโรงงานมาสร้างในพื้นที่เด็กจะเรียนรู้อะไร และไม่ใช่เพียงโรงงานที่มาจากสารเคมี แม้แต่โรงงานด้านเกษตรกรรม เช่น การทำปุ๋ย โรงงานปศุสัตว์ ก็มีผลกระทบทางมลพิษเช่นกัน เด็กจะเรียนรู้และป้องกันอย่างไร มีหน่วยงานใดที่เกี่ยวข้อง ฉะนั้นต้องเรียนรู้องค์ประกอบทั้งหมด ทั้งการประเมินผลกระทบ สิ่งแวดล้อม สุขภาพ กฎหมายอะไรบ้างที่เด็กมีสิทธิ์ในการแสดงออกตาม พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อม และที่สำคัญการศึกษากรณีตัวอย่างต่างๆ แหล่งเรียนรู้ จะช่วยเด็กได้มาก

/data/content/19690/cms/dehijlnstvxz.jpg

         นายเอกการ กล่าวต่อไปว่า ผลจากการเรียนรู้เรื่องสิ่งแวดล้อมเด็กชั้น ม.3 กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน ในวิชาชุมนุม ได้ให้นักเรียนคิดสร้าง สิ่งประดิษฐ์ทางวิทยาศาสตร์ที่สามารถช่วยลดหรือบรรเทาผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่อาจส่งผลต่อสุขภาพ เช่น กลิ่น ควัน และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการดูแลตนเองได้ ปรากฏว่านักเรียน ก็ออกมานำเสนอผลงานของตนเอง ซึ่งมีนักเรียนกลุ่มหนึ่งคือ ด.ญ.นภัสกร วะทันติ และ ด.ช.พันกร แกมทอง ได้ทำเครื่องฟอกอากาศโดยใช้ถ่านไม้และกลิ่นสมุนไพร

         โดยให้เหตุผลของการทำสิ่งประดิษฐ์ชิ้นนี้ เกิดจากเวลาที่เข้าเรียนในห้องคอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นห้องปรับอากาศจะได้กลิ่นเหม็นเหงื่อ เสื้อผ้า ถุงเท้ารองเท้าของเพื่อนๆ ทำให้รู้สึกเวียนหัว อึดอัดหายใจไม่สะดวก ประกอบกับการได้เรียนเรื่องการประเมินผลกระทบภัยของสิ่งแวดล้อม มลภาวะทางอากาศจากโรงงานอุตสาหกรรม ที่ส่งผลต่อสุขภาพอนามัย จึงเห็นว่าเครื่องฟอกอากาศจะช่วยลดปัญหานี้ได้ จากผลงานประดิษฐ์ทางวิทยาศาสตร์ที่เด็กทำถือเป็นนวัตกรรมที่เด็กคิดค้นขึ้นมาใหม่ เพราะมีความแตกต่างจากเครื่องฟอกอากาศที่วางขายในท้องตลอด เพราะเด็กได้ใช้ถ่านไม้มาเป็นตัวดูดกลิ่นและใช้สมุนไพรที่มีกลิ่นหอม เช่น มะกรูด ตะไคร้ มาใส่เพื่อเพิ่มความหอมสดชื่น เมื่อเปิดเครื่องจะได้กลิ่นเหมือนอยู่ในสปา รู้สึกถึงการผ่อนคลาย โดยนวัตกรรมเครื่องฟอกอากาศได้นำไปประกวดในงานวิทยาศาสตร์ระดับภาคได้รับรางวัลที่ 1 ของภาคตะวันออกและก็จะจดเป็นลิขสิทธิ์ทางปัญญาไว้ด้วย

         “เครื่องฟอกอากาศเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งกับบริบทของพื้นที่ที่มีสภาพอากาศที่เป็นมลพิษ เพราะสามารถช่วยลดมลพิษที่เรามองเห็นและมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า รวมถึงยังช่วยลดปริมาณเชื้อโรคที่ปะปนอยู่กับอากาศภายในสถานที่นั้นๆ ทำให้อากาศบริสุทธิ์และสดชื่นเหมาะสำหรับผู้ที่มีปัญหาในระบบทางเดินหายใจ ภูมิแพ้ มีอาการไอ จาม น้ำมูกไหล เคืองตา ซึ่งเวลาที่เป็นและไปหาคุณหมอก็จะบอกว่าโรงเรียนควรติดตั้งเครื่องฟอกอากาศ แต่เครื่องฟอกอากาศมีราคาแพงมาก ดังนั้น การทดลองประดิษฐ์เครื่องฟอกอากาศโดยใช้ถ่านไม้และกลิ่นสมุนไพร จึงเป็นแนวคิดเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว” ด.ญ.นภัสกร เปิดเผยพร้อมอธิบายถึงขั้นตอนการทำ ดังนี้ 

/data/content/19690/cms/egklrvxyz136.jpg/data/content/19690/cms/bfghjrsuz156.jpg

         ขั้นตอนการทำเครื่องฟอกอากาศโดยใช้ถ่านไม้และกลิ่นสมุนไพร เริ่มจากนำตู้ลำโพงเก่าที่ไม่ใช้แล้วมาขัดด้วยกระดาษทรายให้เรียบ 2. ตัดแต่งตู้ลำโพงให้มีขนาดตามที่ต้องการ 3. เจาะด้านหลังตู้ลำโพงให้มีความกว้างตามขนาดของพัดลม 4. ติดตั้งพัดลมเข้ากับด้านหลังของตู้ลำโพง 5. ต่อสายไฟเข้ากับเพาเวอร์ซัพพลายและต่อสายไฟจากเพาเวอร์ซัพพลายเข้ากับพัดลมดูดอากาศ 6. ตัดแผ่นกระดาษไม่อัดให้มีขนาดเท่าตู้ลำโพงเจาะรูวงกลมตรงกลางให้มีขนาดเล็กกว่าเส้นผ่าศูนย์กลางของไส้กรองอากาศ 7. นำไส้กรองอากาศติดตั้งเข้ากับแผ่นกระดานตามข้อหก 8. นำผงถ่านที่ได้จากเปลือกทุเรียนและมังคุดตำให้ละเอียด บรรจุลงในตรงกลางไส้กรองอากาศแล้วปิดฝาให้แน่น 9. ทดลองเครื่องฟอกอากาศโดยใช้ถ่านไม้และกลิ่นสมุนไพรปรับปรุงแก้ไขให้เหมาะสม 10. ทาสีตู้ลำโพงไม้ให้สวยงามตามที่ต้องการ 11. นำไปติดตั้งเพื่อใช้ประโยชน์ในสถานที่ที่ต้องการ 

         ด.ญ.นภัสกร กล่าวอีกว่า เครื่องฟอกอากาศสามารถนำไปใช้ได้ทุกสถานที่ที่ต้องการ เช่น ห้องสมุด ห้องคอมพิวเตอร์ ห้องอาหาร ห้องเรียน ออฟฟิศ สำนักงาน เป็นต้น ซึ่งที่โรงเรียนก็นำมาติดในห้องประชุม และห้องวิทยาศาสตร์ และหลังจากนี้ก็จะพัฒนาให้มีคุณภาพ มีความสวยงามมากขึ้น และมีหลายขนาดเหมาะสมกับการใช้งานกับสถานที่ต่างๆ ซึ่งอนาคตอาจจะเป็นการผลิตเชิงพาณิชย์ต่อไป เพราะงบประมาณทั้งหมดต่อ 1 เครื่อง เพียง 598 บาท แต่ประโยชน์ที่ได้รับนั้นมากมายมหาศาล

         แม้โครงการที่นำมาจัดเป็นโปรแกรมการเรียนการสอนที่มีชื่อโครงการยาวและดูจะเข้าใจยากในเบื้องต้น แต่เมื่อครูเข้าใจถึงแก่นแท้และเห็นถึงความจำเป็น ประกอบกับการเรียนรู้ผ่านสื่อที่เป็นรูปแบบวีดีโอ ภาพประกอบ เหตุการณ์ที่เป็นกรณีศึกษา ก็ช่วยให้ทั้งครูและเด็กเกิดการเรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน เพิ่มอรรถรสในการเรียนให้สนุกสนานมากยิ่งขึ้น และเมื่อเกิดผลลัพธ์เป็นชิ้นงาน สิ่งประดิษฐ์ นวัตกรรม ทำให้เด็กภาคภูมิใจ เห็นคุณค่าในตนเองมากยิ่งขึ้น 

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์บ้านเมือง

Shares:
QR Code :
QR Code