เครือข่าย ‘นักปั่น’ ยื่น 8 ข้อวันจักรยานโลก
ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
เครือข่าย 'นักปั่น' ยื่น 8 ข้อวันจักรยานโลก
เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน มูลนิธิสถาบันการเดินและการจักรยานไทย ร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่ายจักรยานจากทั่วประเทศกว่า 40 องค์กร จัดกิจกรรม "วันจักรยานโลก" World Bicycle Day : (WBD) รวมตัวกันปั่นจักรยานจากบริเวณลานคนเมือง ณ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ไปยังสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เพื่อยื่นจดหมายเปิดผนึก แถลงการณ์ขอบคุณที่ได้ประกาศให้วันที่ 3 มิถุนายนของทุกปี เป็น "วันจักรยานโลก" ตามมติสมัชชา สมัยที่ 72 เรื่องกีฬาเพื่อการพัฒนาและสันติภาพ ซึ่งครั้งนี้นับเป็นการจัดงานครั้งแรกในประเทศไทย โดยมี นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เข้าร่วมกิจกรรมปั่นจักรยานด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีกลุ่มผู้ใช้จักรยานหลายร้อยคนเข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ อาทิ กลุ่มผู้ใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน ตลอดจนผู้ใช้จักรยานเพื่อการประกอบอาชีพ ทั้งนี้ ศ.กิตติคุณ ดร.ธงชัย พรรณสวัสดิ์ ประธานมูลนิธิสถาบันการเดินและการจักรยานไทย กล่าวว่า เครือข่ายผู้ใช้จักรยานในประเทศไทยกว่า 40 ชุมชนและชมรมจักรยาน รู้สึกยินดีอย่างยิ่งที่ยูเอ็นเห็นถึงความสำคัญของการส่งเสริมให้พลเมืองใช้จักรยาน โดยในครั้งนี้เดินทางมาเพื่อแสดงความขอบคุณและขอยื่นจดหมายเปิดผนึกต่อสาธารณะและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีข้อเรียกร้องต่อภาครัฐซึ่งเป็นองค์กรที่สามารถอำนวยให้เกิดระบบการจักรยานขึ้นได้จริงในสังคมไทย
ทั้งนี้ได้มีข้อเสนอในส่วนของมาตรการระยะสั้น 8 ข้อ ดังนี้ 1.จัดให้มีโครงสร้างพื้นฐานที่อำนวยความสะดวกและความปลอดภัยแก่ผู้ใช้จักรยานทุกประเภท โดยมุ่งเน้นผู้ใช้จักรยานในวิถีชีวิตประจำวัน ในเขตเมือง เทศบาล และชุมชน 2.สร้างความเข้าใจร่วมกันในสังคมว่าการใช้จักรยานเป็นรูปแบบหนึ่งของการเดินทาง และภาครัฐควรพัฒนาระบบจักรยานให้ถูกต้องและสามารถนำไปปฏิบัติได้จริง 3.จัดให้มีหน่วยงานภาครัฐที่รับผิดชอบงานการจักรยานโดยตรง 4.กำชับสำนักงานตำรวจแห่งชาติให้บังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการจราจรและขนส่งอย่างเคร่งครัด 5.ส่งเสริมและสนับสนุนระบบการต่อเชื่อมระหว่างการใช้จักรยานและระบบขนส่งสาธารณะ 6. ส่งเสริมให้เกิด "ชุมชนจักรยาน" ที่ประชาชนในพื้นที่สามารถใช้จักรยานในชีวิตประจำวันได้จริง อย่างประเทศเนเธอร์แลนด์ เดนมาร์ก หรือญี่ปุ่น 7.หลีกเลี่ยงการสร้างถนนขนาดใหญ่ ในเมือง เทศบาล และชุมชน เพื่อลดปัญหาทางสังคม โดยใช้พื้นที่ที่มีอยู่อย่างจำกัดมาสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับการเดินเท้าและการใช้จักรยาน และ 8.ส่งเสริมการท่องเที่ยวด้วยจักรยานในประเทศ เพื่อสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจแก่ประเทศ และชุมชนท้องถิ่น
นายอาคม กล่าวว่า จากข้อเสนอที่กล่าวมา ต้องแบ่งมาตรการออกเป็นระยะสั้น-กลางยาว จากการไปประชุมอินเตอร์เนชั่นแนล ทรานสปอร์ต ฟอรั่ม ที่เยอรมนี มีการพูดถึงโรด เซฟตี้ (Road Safety) หรือความปลอดภัยทางถนน ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของคนทำงาน ที่พอเห็นเมืองต่างๆ ในยุโรปก็เกิดคำถามว่าทำไมถึงสามารถปั่นจักรยานไปทำงานได้ ซึ่งจากการสังเกตเห็นว่ามีหลายปัจจัยที่ทำให้เราไม่สามารถทำได้ เช่น เรื่องสภาพอากาศที่ร้อนจัด หากปั่นไปทำงานทางบริษัทก็อาจจะต้องมีห้องอาบน้ำให้ ฉะนั้นจึงเป็นเรื่องที่ต้องมีการพูดคุยกันอีกมาก ส่วนผู้ใช้จักรยานในต่างจังหวัด ถ้าเป็นไปได้ก็อยากจะขอความร่วมมือให้ใช้เลนสำหรับจักรยาน อย่าขับในถนนใหญ่ เพราะทางกรมทางหลวงชนบทก็ได้ทำทางสำหรับจักรยานให้โดยเฉพาะ โดยมีความปลอดภัยทั้งในเวลากลางวันและกลางคืน มีความสว่างเพียงพอ ช่วยกันใช้และสร้างพลังรณรงค์ในเรื่องการใช้จักรยานปลอดภัยด้วย