“เครือข่าย” คำที่บอกกับเราว่า เรามิได้เดินเพียงลำพัง

 

“ถึงแม้ว่าบางโครงการอาจยังไม่มีความพร้อม ยังไม่ค่อยมีใครรู้จัก เราก็ยังจะทำ ชาวบ้านยังทำ ทำไปเรื่อยจนกว่าจะทำสำเร็จ เพื่อหวังให้เห็นเป็นตัวอย่าง และดึงการมีส่วนร่วมให้ได้มากขึ้นในอนาคต” สมนึก วัฒนชีวโนปกรณ์ อดีตนายกองค์การบริหารส่วนตำบลหนองสาหร่าย อำเภอดอนเจดีย์ จังหวัดสุพรรณบุรี

ขอเล่าสภาพพื้นที่ก่อนว่า ตำบลหนองสาหร่ายนั้น มีคลองชลประทาน (คลองมะขามเฒ่า-อู่ทอง) แบ่งฝั่งตะวันตก-ฝั่งตะวันออก โดยฝั่งตะวันออกจะอยู่ในฝั่งที่มีการทำชลประทานมีน้ำใช้ตลอดทั้งปี ส่วนฝั่งตะวันตกจะเป็นฝั่งที่อยู่บนที่ดอน ไม่มีระบบชลประทานชุมชนจะอยู่ในลักษณะแห้งแล้งทำนาได้ปีละครั้ง ที่เหลือจึงต้องทำอาชีพเสริมตามฤดูกาล ที่เป็นที่ดอนนี้จะมีอยู่ 3 หมู่บ้าน และจะอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตร อาชีพหลักของคนที่นี่จึงมีเกษตรเป็นพื้น ปศุสัตว์มีไม่มากนัก และแต่เดิมการทำเกษตรกรรมของคนที่นี่ก็จะเป็นเกษตรเชิงเดี่ยว

ส่วนสภาพสังคมของชาวหนองสาหร่ายนั้น มีความเกี่ยวพันกันจากระบบเครือญาติมีประเพณีและวัฒนธรรมที่ส่งเสริมให้มีการรวมตัวกัน เข้าวัดทำบุญ มีการละเล่นตามประเพณีนิยมแบบโบราณอยู่เสมอ ทั้งในงานเทศกาลและงานประเพณี เช่น ทำบุญ ณ แหล่งประวัติศาสตร์หนองสาหร่าย ทุกวันที่ 23 มกราคม เพื่อบำเพ็ญพระราชกุศลแด่องค์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช การละเล่นประเพณีสงกรานต์ การทำบุญตักบาตร เข้าพรรษา แห่เทียนพรรษา ประเพณีลอยกระทง และมีศิลปวัฒนธรรมที่ถูกถ่ายทอดจากบรรพบุรุษหลายชั่วอายุคนจนถึงปัจจุบันซึ่งได้รับการอนุรักษ์ไว้ เช่น กระบี่กระบอง เพลงฉ่อย เพลงอีแซว รำวงย้อนยุค ดนตรีไทย

สำหรับการบริหาร ระบบการบริหารจัดการแบบมีส่วนร่วมเป็นระบบบริหารหลักที่หนองสาหร่ายยึดถือ โดยมี อบต. ทำหน้าที่หนุนเสริมการทำงานขององค์กรชุมชนตามความต้องการของภาคประชาชน ทั้งในเรื่องงบประมาณ และการประสานงานกับภาคีเครือข่ายหน่วยงานนอก เพื่อสนับสนุนด้านวิชาการหรือองค์ความรู้

ปัจจุบันเราเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างตำบลสุขภาวะ ตลอดจนงานสัมมนาต่างๆ ซึ่งผมเห็นว่าจะเป็นประโยชน์กับชาวบ้าน เราได้ร่วมกับชุมชนดำเนินการ ทำให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น อย่างในเรื่องดูแลเด็ก สตรีมีครรภ์ ซึ่งชาวบ้านในชุมชนก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี โดยเฉพาะในเรื่องของระบบเกษตรปลอดภัย ซึ่งเรามีแนวคิด “ลดการใช้สารเคมี อยู่อย่างพอเพียง ลดต้นทุนการผลิต เพิ่มรายได้” ซึ่งจะเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของชาวหนองสาหร่าย

และด้วยความที่ชาวบ้านโดยมากมีอาชีพเกษตรกรรม รายได้หลักก็เกษตรกรรม ทางเราจึงได้ส่งเสริมให้ความรู้ เช่น ที่หมู่ 4 เริ่มทำเกษตรกรรมครอบครัว มีที่อยู่ 30 ไร่ ให้คนในครอบครัวแบ่งคนละ 1 ไร่ เพื่อทำเกษตรกรรมแบบผสมผสาน ปลูกข้าว ขุดบ่อปลา คือพ่อแม่ไปทำ และพอลูกหลานกลับจากโรงเรียนก็ให้ไปช่วย โครงการนี้เรายังไม่ได้ร่วมกับ สสส. แต่กำลังจะเป็นฐานเรียนรู้หนึ่งที่จะให้ สสส. เข้ามาช่วยหนุนเสริมด้านต่างๆ ให้กับเรา

ในเรื่องเกี่ยวกับสุขภาพ เราทำร่วมกับโรงพยาบาล ร่วมมือกับ อสม. จัดโครงการเกี่ยวกับโรคไต แต่เดิมผู้ป่วยจะต้องไปหาหมอทุกวัน เสียค่าใช้จ่ายเยอะมาก ทาง อบต. จึงได้ติดต่อกับโรงพยาบาล ส่งลูกหลานของผู้ป่วยไปหัดล้างไต เพื่อสามารถกลับมาดูแลคนในครอบครัว รวมทั้งส่งเสริมให้ความรู้ในเรื่องการจัดการสุขลักษณะ การดูแลที่อยู่อาศัยให้สะอาด ให้สาธารณสุขมาตรวจดูว่า ชาวบ้านทำถูกสุขอนามัยหรือไม่ การล้างไตที่บ้านจึงเป็นโครงการที่ได้ผลตอบรับดีมาก

ต้องยอมรับเลยว่า การทำโครงการสุขภาวะช่วยให้ชาวบ้านตื่นตัว และถึงแม้ว่าบางโครงการอาจยังไม่มีความพร้อม ยังไม่ค่อยมีใครรู้จัก เราก็ยังจะทำ ชาวบ้านยังทำ ทำไปเรื่อยจนกว่าจะทำสำเร็จ เพื่อหวังให้ชาวบ้านเห็นเป็นตัวอย่าง และดึงการมีส่วนร่วมให้ได้มากขึ้นในอนาคต

ตอนนี้เราเป็นแม่ข่ายมีลูกข่าย 20 แห่ง ลูกข่ายมาดูแล้วชอบใจ เช่นกัน เราเองก็ได้อะไรจากการแลกเปลี่ยนตรงนี้ค่อนข้างมาก นับเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ชุมชนไม่ต้องเดินเพียงลำพัง หากแต่มีเพื่อนที่เข้ามาที่พร้อมจะแบ่งปันเรา ต่างฝ่ายต่างก็ได้ความรู้

ที่สุดแล้ว ผมอยากให้ชุมชนสามารถยืนอยู่ได้ด้วยตัวเอง โดยมีเราเป็นเพียงพี่เลี้ยงเพราะทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นล้วนเกิดจากเขา เกิดเพราะเขา เราเป็นนายกฯ เข้ามาแล้วก็ไป อาจจะได้กลับมาหรือไม่ได้กลับมา ตรงนี้จะไม่มีผลกับเขาเลยถ้าเขายืนเองได้ และเขาจะมีความสุข หากแต่ต้องไม่ลืมการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ความสามัคคีในชุมชนนั้นเป็นเรื่องที่สำคัญมาก อยากให้เขารักกัน

 

 

ที่มา : หนังสือ หวัง ตั้ง มั่น ถอดหัวใจผู้นำชุมชน สร้างประเทศไทยให้น่าอยู่ จัดทำโดย เครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ สำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สน.3) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

Shares:
QR Code :
QR Code